โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ควรรู้จัก

//

lgbtthai

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ที่ควรรู้จัก

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นปัญหาที่มีความรุนแรง และมีจำนวนผู้ป่วยเพิ่มมากขึ้นทุกปีในปัจจุบัน เนื่องจากมีผลกระทบต่อสุขภาพและความมั่นใจในการมีเพศสัมพันธ์ของบุคคลในทุกช่วงวัย การรับรู้เกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และวิธีป้องกันมีความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อลดการระบาดของโรคและป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมัน

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ 

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ หรือที่เรียกกันว่า STI (ย่อมาจาก Sexually Transmitted Infection) หรือ STD (ย่อมาจาก Sexually Transmitted Diseases)  คือ โรคทุกอย่างที่ติดเชื้อจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยติดต่อจากคนหนึ่งไปสู่อีกคนหนึ่งในระหว่างการมีเพศสัมพันธ์ ในที่นี้การมีเพศสัมพันธ์ หมายถึง การจูบ, การสัมผัส หรือถูอวัยวะเพศ, การมีเพศสัมพันธ์โดยใช้ปาก, การร่วมเพศ และการใช้เซ็กซ์ทอย โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์มีโอกาสติดต่อได้ทั้งผู้ชาย และผู้หญิง นอกเหนือจากเพศสัมพันธ์แล้ว ยังสามารถส่งต่อจากคนสู่คนด้วยการใช้เข็มร่วมกัน การให้เลือด แม้กระทั่งจากแม่สู่ลูกในขณะตั้งครรภ์ หรือขณะคลอดบุตรได้

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่พบได้บ่อย มีโรคอะไรบ้าง ?

ชื่อโรคสาเหตุเกิดจากอะไร?ระยะฟักตัว (วัน)อาการของโรค
เอดส์/เชื้อเอชไอวี (HIV)
human immunodeficiency virus (HIV)
14 – 30 วันการติดเชื้อไวรัส HIV สามารถทำให้เกิดอาการให้หลายระบบของร่างกาย ตัวไวรัส HIV เองนั้นจะมีความจำเพาะต่อเซลล์เม็ดเลือดขาวชนิด CD4 ซึ่งเป็นเซลล์ที่ควบคุมภูมิคุ้มกันของร่างกาย โดยเมื่อเซลล์ CD4 ลดลง จะทำให้ร่างกายอ่อนแอและเกิดการติดเชื้อได้ง่าย และหากไม่ได้รับการรักษา โดยทั่วไปมักจะใช้เวลาประมาณ 10 ปีในการพัฒนาเป็นโรคเอดส์  ร้ายแรงของการติดเชื้อ HIV ซึ่งทำให้เสียชีวิตได้ในที่สุด
ซิฟิลิส (Syphilis)Treponema pallidum9-90 วันอาการแบ่งเป็น 4 ระยะ
ระยะที่ 1 : เกิดแผลริมแข็ง ไม่มีอาการปวด
ระยะที่ 2 : แผลริมแข็งหายไป มีไข้ ปวดตามกล้ามเนื้อ เจ็บคอ มีผื่นขึ้นตามฝ่ามือ-ฝ่าเท้าหรือทั่วร่างกาย
ระยะที่แฝง : มักไม่มีอาการแสดงใดๆ
ระยะที่ 3 : เชื้อเข้าไปทำลายระบบสมอง และอวัยวะต่างๆ
เริม (Herpes genitalis)HSV – 24-7 วันมีผื่นแดง เจ็บแปล๊บ ๆ แสบคันที่อวัยวะเพศ มีตุ่มแผล ตุ่มน้ำใส พุพอง รอบ ๆ อวัยวะเพศ ตุ่มน้ำ อาจเกิดขึ้นเพียงครึ่งวันแล้วแตกไป หรือเป็นนาน 4 – 7 วัน อาจมีอาการปัสสาวะขัด ตกขาวมากผิดปกติ ร่วมด้วยพบบ่อยที่อวัยวะเพศชาย ช่องคลอด ปากมดลูก 
หนองใน (Gonorrhea)Neisseria gonorrhoeae3-5 วัน– ในผู้ชาย จะมีปัสสาวะแสบขัด มีหนองไหลจากท่อปัสสาวะ 
– ในผู้หญิง ส่วนใหญ่หลังจากได้รับเชื้อแล้ว จะไม่มีอาการ หากมีอาการจะมีตกขาวผิดปกติไม่คัน 
– อาจพบการติดเชื้อที่ช่องคอและทวารหนักด้วย แต่ส่วนใหญ่ไม่มีอาการ
หนองในเทียม (Non-gonococcal urethritis : NGU)Chlamydia trachomatis5-7 วัน– ในผู้ชาย มีอาการคันในท่อปัสสาวะ มีน้ำใสๆไหลออกมา ระยะต่อมาน้ำจะเหนียวข้นและเป็นหนองตามมา 
– ในผู้หญิง มีอาการไม่ได้แสดงชัดเจนมาก ตกขาวมีสีหรือกลิ่นผิดปกติ ปัสสาวะแสบขัด บางรายมีช่องคลอดอักเสบ
แผลริมอ่อน (Chancroid)Haemophilus ducreyi4-7 วัน– ในผู้ชาย จะมีตุ่มหนองเกิดขึ้นที่อวัยวะเพศ ต่อมาแตกเป็นแผล แผลขอบไม่แข็ง ไม่เรียบ มีเลือดอออกเจ็บปวดมาก 
– ในผู้หญิง ส่วนใหญ่คล้ายกับผู้ชาย แต่ถ้าแผลอยู่ที่ผนังช่องคลอด หรือปากมดลูกก็อาจไม่มีอาการ หรือเจ็บปวดเวลาร่วมเพศ
หูดหงอนไก่ (Condyloma acuminate, Genital wart)HPV  type 6, 1130 – 180 วันจะมีติ่งเนื้ออ่อนสีชมพูยื่นออกมาจากผิว กระจายออกทางด้านบน คล้ายหงอนไก่หรือดอกกะหล่ำ อาจมีอาการคัน และเจ็บหรือมีเลือดออก พบได้บ่อยบริเวณรอบปากช่องคลอด ใต้ผนังหุ้มปลายองคชาติ
ไวรัสตับอักเสบบี ติดเชื้อไวรัสตับอักเสบบี (HBV)Hepatitis B virus (HBV)30 – 180 วันจะมีอาการไข้ต่ำๆ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย คลื่นไส้ อาเจียน และเจ็บที่ชายโครงขวา หลักจากนั้นจะมีอาการตัวเหลือง ตาเหลืองตามมาได้ หากติดเชื้อเรื้อรัง เซลล์ตับถูกทำลายมากขึ้น อาจจะกลายเป็นโรคตับแข็ง และมะเร็งตับได้ในที่สุด
พยาธิในช่องคลอด (Trichomonas vaginalis)Trichomonas vaginalis30 – 180 วัน– ในผู้หญิง มีตกขาวมากผิดปกติ ตกขาวเป็นฟอง ตกขาวเปลี่ยนสีอาจมีกลิ่นเหม็นคาวปลา  อวัยวะเพศบวมแดงแสบคัน แสบปากช่องคลอด มีเลือดไหลผิดปกติทางช่องคลอด เจ็บขณะปัสสาวะ หรือเจ็บปวดเวลาร่วมเพศ มีเพศสัมพันธ์
– ในผู้ชาย มักไม่แสดงอาการ มีของเหลวเป็นเมือกใสไหลออกมา หรือปนหนอง มีอาการคัน หรือเจ็บในท่อปัสสาวะ  ปวดที่อัณฑะ หรืออวัยวะเพศ
หูดข้าวสุก (Molluscum Contagiosum)Molluscum Contagiosum Virus14 – 180 วันมีลักษณะเป็นตุ่มนูน ตรงกลางบุ๋ม ซึ่งเมื่อสุกดีจะมีของเหลวข้นๆ ออกจากรูได้คล้ายข้าวสุก
โลน (Pubic lice)Pediculosis Pubis หรือ Pubic Lice30 วันตุ่มแดง รอยโดนกัดที่อวัยวะเพศ ทวารหนัก บริเวณใกล้เคียง หรือบริเวณที่มีขนและตัวโลนเกาะอยู่ เช่น ใต้รักแร้ หน้าอก แผ่นหลัง หนวด เครา ขนตา
อาการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

อาการโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

อาการของโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์จะแตกต่างกันออกไปตามชนิดของโรค สามารถสังเกตความผิดปกติที่เกิดขึ้นได้ ดังนี้

  • มีตุ่ม มีผื่น หรือแผล บริเวณอวัยวะเพศ หรือบริเวณทวารหนัก
  • อาจมีน้ำเหลืองหรือน้ำหนอง ไหลออกมาจากปลายอวัยวะเพศชาย
  • อวัยวะเพศหญิงมีเลือดไหลผิดปกติ
  • เจ็บหรือแสบขัดเวลาปัสสาวะ
  • มีอาการเจ็บแสบ หรือเจ็บปวดขณะมีเพศสัมพันธ์
  • มีตกขาวผิดปกติ หรือตกขาวเรื้อรังเป็น ๆ หาย ๆ
  • ตกขาวมีกลิ่น มีอาการคัน หรือระคายเคือง
  • ขาหนีบบวม
  • ปวดท้องน้อย
  • มีไข้ ปวดเมื่อยกล้ามเนื้อ
  • มีอาการระคายเคืองที่อวัยวะเพศ
การรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

การรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

หากแพทย์วินิจฉัยว่าเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ควรงดการมีเพศสัมพันธ์ จนกว่าจะได้รับการรักษาจนหาย และแนะนำให้คู่นอนในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา เข้ารับการตรวจรักษาด้วย

วิธีการรักษามีดังนี้

  • ยาปฏิชีวนะ (Antibiotic) ใช้รักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียหรือปรสิต ได้แก่ หนองในแท้ หนองในเทียม ซิฟิลิส และเชื้อทริโคโมแนส (Trichomoniasis) การรักษาด้วยยาปฏิชีวนะต้องได้รับการรักษาจนครบกำหนด นอกจากนี้ ควรหลีกเลี่ยงการมีเพศสัมพันธ์จนกว่าจะได้รับการรักษาจนหายเป็นปกติ
  • ยาต้านไวรัส (Antivirus) ใช้รักษาผู้ป่วยโรคเริม โดยควรรับยาต้านไวรัสร่วมกับการดูแลสุขภาพ แต่เชื้อจะยังหลงเหลืออยู่ในร่างกาย เมื่อไหร่ที่ร่างกายอ่อนแอ อาจจะกลับมาแสดงอาการอีกครั้ง และผู้ป่วยสามารถแพร่เชื้อได้แม้จะมีโอกาสเสี่ยงต่ำก็ตาม ทั้งนี้ การรักษาด้วยยาต้านไวรัสอย่างสม่ำเสมอตามแพทย์สั่ง จะช่วยลดจำนวนเชื้อไวรัสให้น้อยลงจนตรวจหาแทบไม่พบ นอกจากนี้ ยาต้านไวรัสยังใช้รักษาผู้ป่วยติดเชื้อเอชไอวี

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์หายขาดได้หรือไม่?

  • โรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย รักษาให้หายขาดได้ โดยการกิน หรือฉีดยาปฏิชีวนะให้ครบตามแพทย์สั่ง
  • โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัส บางชนิดจะอยู่ในร่างกายตลอดชีวิต เช่น โรคเริม การรักษาส่วนใหญ่จึงเป็นการรักษาเพื่อช่วยควบคุมอาการของโรค
  • โรคที่เกิดจากการติดเชื้อไวรัสบางชนิด เช่น เอชพีวี (HPV) ร่างกายจะกำจัดเชื้อได้เอง โดนอาศัยการรักษาสุขภาพให้แข็งแรง เพื่อให้ร่างกายมีภูมิต้านทานต่อเชื้อโรค
การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

การป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์

การมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยจะช่วยให้ลดความเสี่ยงในการเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ ซึ่งสามารถทำได้ดังนี้

  • ใช้ถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์อย่างถูกต้อง
  • ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย หรือมีคู่นอนเดียว
  • รักษาความสะอาดร่างกาย และบริเวณอวัยวะเพศอย่างสม่ำเสมอ
  • การเข้ารับการตรวจคัดกรองโรคหนองในแท้และหนองในเทียมปีละครั้ง โดยเฉพาะหญิงอายุน้อยกว่า 25 ปีที่มีกิจกรรมทางเพศบ่อย หญิงที่มีคู่นอนหลายคน หรือกลุ่มชายรักชาย
  • การตรวจคัดกรองโรคซิฟิลิสอย่างน้อยปีละครั้งในกลุ่มชายรักชาย
  • การฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อเอชพีวี สำหรับคนที่มีอายุ 9-45 ปี
  • ตรวจคัดกรองโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์อย่างสม่ำเสมอ
  • ปรึกษาแพทย์ เมื่อมีอาการผิดปกติ หรือสงสัยว่าติดต่อโรค

โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์เป็นปัญหาที่สำคัญและมีผลกระทบต่อสุขภาพและคุณภาพชีวิตของบุคคล การรับรู้เกี่ยวกับสาเหตุ อาการ และวิธีป้องกันเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยลดการระบาดของโรคและป้องกันผลกระทบที่เกิดขึ้นจากมัน การใช้วิธีป้องกันอย่างถูกต้องและเหมาะสมเป็นสิ่งสำคัญที่จะช่วยให้สามารถเลี่ยงการติดเชื้อได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

อ่านบทความอื่นๆ เพิ่มเติม

Leave a Comment

Contact

Connect

Subscribe

Join our email list to receive the latest updates.

Add your form here