โรคซิฟิลิส เป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างร้ายแรง หากไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกต้อง และทันท่วงที โรคนี้สามารถส่งผลให้เกิดภาวะแทรกซ้อนที่อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ ดังนั้นการทำความรู้จักกับโรคซิฟิลิส สาเหตุ อาการ การวินิจฉัย การรักษา และวิธีป้องกันที่ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยในการมีเพศสัมพันธ์
สาเหตุของโรคซิฟิลิส
โรคซิฟิลิส (Syphilis) เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ชื่อ Treponema pallidum ซึ่งสามารถติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์กับผู้ที่ติดเชื้อ หรือจากแม่สู่ลูกในระหว่างการตั้งครรภ์ ซึ่งหากผู้ป่วยที่ติดเชื้อซิฟิลิสหากปล่อยไว้โดยไม่ได้รับการรักษา อาจทำให้โรคนี้ดำเนินไปในระยะลุกลาม จนก่อให้เกิดปัญหาสุขภาพร้ายแรงที่อันตรายถึงขั้นเสียชีวิตได้ โดยการดำเนินโรคในขั้นต้นโดยทั่วไปจะเริ่มจากบาดแผล ซึ่งมักพบบริเวณอวัยวะเพศ ปาก หรือทวารหนัก ลักษณะของแผลจะเป็นแผลที่ไม่รู้สึกเจ็บ (Painless sore) หรือเรียกว่าแผลริมแข็ง (Chancre) การแพร่กระจายเชื้อสู่ผู้อื่นสามารถเกิดได้ผ่านทางการสัมผัสบาดแผลนี้กับผิวหนังหรือเยื่อบุต่างๆ
โรคซิฟิลิส ติดต่อได้อย่างไร?
- การมีเพศสัมพันธ์ทางช่องคลอด ทวารหนัก และปาก
- สัมผัสแผลโดยตรงผ่านผิวหนังที่ฉีกขาดหรือเยื่อบุอ่อนของร่างกาย การจูบปาก
- รับเลือดจากผู้ติดเชื้อ หรือการใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน
- จากแม่สู่ลูกในระหว่างการตั้งครรภ์
อาการของโรคซิฟิลิส
อาการของโรคนี้มีหลายระยะ แต่ละระยะมีลักษณะอาการที่แตกต่างกัน
ระยะแรก (Primary Syphilis)
- อาการเริ่มต้นจากการมีแผลเป็นตุ่มแผลเล็ก ๆ สีแดงขอบนูนแข็งหรือที่เรียกว่าแผลริมแข็ง (Chancre) ขึ้นที่บริเวณอวัยวะเพศ ปาก ทวารหนัก ท่อปัสสาวะ เยื่อบุตา หรือเยื่อบุช่องคลอด ซึ่งแผลมักไม่เจ็บและหายได้เองใน 3-6 สัปดาห์
ระยะที่สอง (Secondary Syphilis)
- ผื่นผิวหนัง ปรากฏเป็นผื่นแดง หรือสีน้ำตาล มีลักษณะเป็นผื่นราบ ผื่นนูนหนามีสะเก็ด ผื่นชนิดเป็นแผล หรือแผลหลุมกดไม่เจ็บและไม่คัน กระจายตัวทั่วร่างกาย อวัยวะเพศ รวมถึงฝ่ามือ และฝ่าเท้า
- อาการอื่นๆ มีไข้ ต่อมน้ำเหลืองโต เจ็บคอ ผมร่วง น้ำหนักลด เชื้อราในปาก และมีปัญหาเกี่ยวกับตับ ไต หรือสมอง
ระยะแฝง (Latent Syphilis)
- ไม่มีอาการ เชื้อยังคงอยู่ในร่างกาย เพียงแต่ไม่มีอาการแสดง ซึ่งเป็นระยะที่มีการดำเนินโรคยาวนานที่สุด โดยเชื้อสามารถแฝงเร้นในร่างกายได้นานกว่า 20 ปีก่อนที่จะพัฒนาเข้าสู่ระยะที่ 4 หรือซิฟิลิสระยะสุดท้าย แต่จะรู้ได้ด้วยการตรวจเลือดเพื่อหาเชื้อซิฟิลิส
ระยะสุดท้าย (Tertiary Syphilis)
- หากไม่ได้รับการรักษา ส่งผลทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน เนื่องจากเชื้อโรค ได้แพร่กระจายไปยังอวัยวะสำคัญ เช่น หัวใจ สมอง ดวงตา และระบบประสาท อาจทำให้เกิดอาการที่รุนแรง และเป็นอันตรายถึงชีวิต เช่น ความผิดปกติในการเคลื่อนไหว ลิ้นหัวใจรั่ว หลอดเลือดแดงใหญ่อักเสบ ภาวะสมองเสื่อม ตาบอด หูหนวก อัมพาต ชัก เป็นต้น
การรักษาโรคซิฟิลิส
โรคซิฟิลิสสามารถรักษาได้ด้วยการใช้ยาปฏิชีวนะ เช่น เพนิซิลลิน จี (Penicillin G) ยาเบนซาธีน เพนิซิลลิน จี (Benzathine Penicillin G) ยาเอเควียส เพนิซิลลิน จี (Aqueous Penicillin G) หรือฉีดโปรเคน เพนิซิลลิน (Procaine Penicillin) ร่วมกับรับประทานยาโพรเบเนซิด (Probenecid) ทั้งนี้ จะขึ้นอยู่กับระยะของโรค ซึ่งการรักษาที่ถูกต้อง และทันท่วงทีสามารถช่วยป้องกันการแพร่เชื้อ และการเกิดภาวะแทรกซ้อนที่รุนแรงได้
การป้องกันโรคซิฟิลิส
- สวมถุงยางอนามัยทุกครั้งที่มีเพศสัมพันธ์ เป็นวิธีป้องกันที่มีประสิทธิภาพในการลดความเสี่ยงของการติดเชื้อ
- ไม่เปลี่ยนคู่นอนบ่อย การมีคู่นอนเพียงคนเดียวที่มั่นใจว่าไม่มีการติดเชื้อเป็นวิธีการป้องกันที่ดี
- ตรวจสุขภาพประจำปี ควรเข้ารับการตรวจสุขภาพประจำปีเพื่อความมั่นใจในสุขภาพทางเพศ
- คุณแม่ตั้งครรภ์ ในช่วงระหว่างสัปดาห์ที่ 8-12 ต้องตรวจเลือดคัดกรองโรคซิฟิลิส เพื่อป้องกันการติดเชื้อของทารกในครรภ์
- การให้ความรู้และการเรียนรู้ การเรียนรู้เกี่ยวกับโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์และการรักษาความปลอดภัยในการมีเพศสัมพันธ์เป็นสิ่งสำคัญ
โรคซิฟิลิสเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ที่สามารถมีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างรุนแรง และอาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้ หากสงสัยว่ามีการติดเชื้อ ควรไปพบแพทย์ เพื่อทำการตรวจสุขภาพ และรักษาโรคได้อย่างทันท่วงทีก่อนที่จะสายเกินแก้ เพราะการดูแลตัวเอง และการป้องกันโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ เป็นสิ่งที่ทุกคนควรให้ความสำคัญ เพื่อชีวิตที่ยาวนาน และมีสุขภาพดีต่อไป