ในยุคปัจจุบันที่เทคโนโลยี และความเข้าถึงข้อมูลมีมากขึ้น เรื่องการรับรู้ และการตระหนักในเรื่องของเอชไอวี (HIV) และการตรวจสถานะเอชไอวีก็มีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะเมื่อพูดถึงกลุ่มเสี่ยงที่มีโอกาสติดเชื้อเอชไอวีมากขึ้น การตรวจเอชไอวีเป็นขั้นตอนที่สำคัญที่ช่วยให้เราได้รับข้อมูลที่สำคัญเกี่ยวกับสุขภาพของเรา และช่วยในการวางแผน และการดูแลสุขภาพให้เหมาะสมต่อไป
เพราะเหตุใดต้องตรวจเอชไอวี?
การตรวจเอชไอวีเป็นการป้องกัน และรักษาการติดเชื้อเอชไอวีที่สำคัญอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือไม่ก็ตาม เพราะเชื้อเอชไอวีสามารถติดต่อได้ผ่านการมีเพศสัมพันธ์ ทางเลือด และทางน้ำนมที่มีเชื้อเอชไอวี ซึ่งการแพร่กระจายเชื้อเอชไอวีสามารถเกิดได้กับทุกคน ฉะนั้นการตรวจสถานะเอชไอวี จะทำให้เราทราบถึงสถานะการติดเชื้อเอชไอวีว่าเป็นอย่างไร เพื่อเข้ารับการรักษาและการดูแลสุขภาพได้ทันทีหากตรวจพบว่าติดเชื้อเอชไอวี
ตรวจเอชไอวี ทำได้อย่างไรบ้าง?
การตรวจเอชไอวี คือ การนำสารคัดหลั่งจากร่างกายไปตรวจหาเชื้อเอชไอวี ในห้องปฏิบัติการ โดยสามารถเก็บตัวอย่างได้จากการขูดเซลล์ หรือน้ำลายในช่องปาก แต่ที่นิยมในปัจจุบันก็คือการตรวจจากเลือด ซึ่งมีให้บริการทั่วไปตามคลินิกและโรงพยาบาลต่างๆ หรือสามารถปรึกษาเภสัชกรเพื่อซื้อชุดตรวจเอชไอวี แบบตรวจด้วยตัวเองมาใช้ได้ แต่หากได้รับผลเป็นบวกก็ยังคงต้องตรวจยืนยันผลอีกครั้งในห้องปฏิบัติการเช่นกัน
ตรวจเอชไอวี สามารถทำได้หลายวิธี ดังนี้
- การตรวจเลือด เป็นวิธีทั่วไปที่คนเรามักจะนึกถึงเป็นวิธีแรก ในการตรวจหาเชื้อ เอชไอวี แพทย์จะทำการเจาะเลือดจากเส้นเลือดดำที่แขนของเรา และเลือดจะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อทำการทดสอบ
- การทดสอบด้วยน้ำลายในช่องปาก การทดสอบนี้ใช้ไม้เก็บเชื้อกวาดเพื่อเก็บของเหลวจากภายในช่องปาก จากนั้นตัวอย่างจะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อทำการทดสอบ
- การทดสอบแบบรวดเร็วด้วยเลือดหรือของเหลว เป็นการตรวจเชื้อได้รวดเร็วที่สุด ด้วยการใช้เลือดหรือของเหลวในช่องปากปริมาณเล็กน้อย ใช้เวลาเพียง 20 นาที ก็สามารถรับผลตรวจได้เลย การทดสอบแบบนี้มักทำที่คลินิกหรือศูนย์ทดสอบที่เป็นบูธตามนิทรรศกาลต่างๆ
- การทดสอบที่บ้าน ด้วยการซื้อชุดตรวจเอชไอวี ที่มีจำหน่ายที่ร้านยาหรือทางออนไลน์ ใช้การเก็บตัวอย่างเลือดหรือของเหลวในช่องปากที่บ้านและส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อทำการทดสอบ ใช้เวลาประมาณ 2-3 วัน
ตรวจเอชไอวี มีกี่แบบ?
แพทย์จะทำการเจาะเลือดจากเส้นเลือดดำที่แขนของเรา และเลือดจะถูกส่งไปยังห้องปฏิบัติการเพื่อทำการทดสอบ และวินิจฉัยหาเชื้อเอชไอวี โดยการ ตรวจหาเชื้อเอชไอวีในปัจจุบัน มี 4 แบบหลัก ๆ คือ
- การตรวจหาแอนติเจนของเชื้อเอชไอวี (HIV p24 Antigen Testing) คือ การตรวจโปรตีนของเชื้อที่ชื่อว่า p24 Antigen วิธีนี้ใช้สำหรับตรวจการติดเชื้อในระยะแรก ซึ่งร่างกายผู้ได้รับเชื้อยังไม่สร้างแอนติบอดีต่อเชื้อ HIV (Anti-HIV) หรือร่างกายมีระดับแอนติบอดีที่ต่ำจนไม่สามารถตรวจวัดได้ โดยสามารถตรวจได้ภายหลังการติดเชื้อประมาณ 14-15 วัน ทราบผลได้ในเวลาเพียง 1-2 ชั่วโมง
- การตรวจหาแอนติบอดีที่จำเพาะต่อเชื้อเอชไอวี (Anti-HIV Testing) คือ การตรวจภูมิคุ้มกัน (Antibody) ของร่างกายที่สร้างขึ้นมาเมื่อมีเชื้อ HIV เข้าสู่ร่างกาย และเป็นวิธีที่นิยมใช้ในปัจจุบัน โดยสามารถตรวจพบเชื้อหลังเสี่ยงมาเกิน 21-30 วันขึ้นไป คือ หากคุณ ไปมีความเสี่ยง ต่อการติดเชื้อมา เช่น มีเพศสัมพันธ์ โดยไม่สวม ถุงยางอนามัย หรือถุงยางอนามัย เกิดการรั่ว ซึ่งวิธีการตรวจนี้ จะใช้ไม่ได้ผล เพราะถือว่าเชื้อเอชไอวี ยังอยู่ในช่วงระยะ ของการฟักตัวอยู่ ทราบผลได้ในเวลาเพียง 1-2 ชั่วโมง
- การตรวจโดยใช้ชุดตรวจแอนติบอดีจำเพาะต่อเชื้อเอชไอวี และตรวจแอนติเจนของเชื้อพร้อมกัน (HIV Ag/Ab Combination Assay) หรือเรียกอีกอย่างว่า ตรวจแบบใช้น้ำยา Fourth Generation ซึ่งเป็นการตรวจ Anti-HIV และ HIV p24 Antigen ในคราวเดียวกัน ปัจจุบันน้ำยาประเภทนี้มีการใช้อย่างแพร่หลาย โดยสามารถตรวจพบเชื้อได้เร็วที่สุด 14-15 วัน หลังติดเชื้อ ทราบผลได้ในเวลาเพียง 20 นาที
- การตรวจหาสารพันธุกรรมของเชื้อเอชไอวี (Nucleic Acid Amplification Testing: NAT) สำหรับการตรวจ HIV RNA หรือ Proviral DNA นี้มีการใช้เพื่อติดตามปริมาณไวรัส (Viral Load) ก่อนและหลังการรักษา ซึ่งเป็นวิธีที่มีความรวดเร็วมาก สามารถตรวจพบเชื้อหลังเสี่ยงมาเกิน 7 วัน หลังติดเชื้อโดยไม่ต้องรอ 14 วัน แพทย์มักจะนิยมใช้กับผู้ที่มีความเสี่ยงสูงในการรับเชื้อ HIV และใช้ในการตรวจคัดกรองเลือดผู้บริจาคโลหิต ทราบผลได้ในเวลาเพียง 1 ชั่วโมง
ใครบ้างที่ควรไปตรวจเอชไอวี
- ผู้ที่มีเพศสัมพันธ์กับบุคคลที่มีความเสี่ยงโดยไม่ได้สวมถุงยางอนามัยป้องกัน
- ผู้ที่เปลี่ยนคู่นอนบ่อยๆ
- ผู้ที่ป่วยเป็นโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์
- ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายทางทวารหนักโดยไม่ได้สวมถุงยางป้องกัน
- ผู้ติดสารเสพติดที่ใช้เข็มร่วมกัน
- หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้ที่วางแผนจะมีครอบครัว หรือต้องการตั้งครรภ์ เพื่อความปลอดภัยต่อทั้งแม่ และลูก
- ทารกที่เกิดจากมารดาที่ติดเชื้อเอชไอวี
- ผู้ที่ถูกล่วงละเมิดทางเพศ
- บุคลากรทางการแพทย์ที่เกิดอุบัติเหตุจากการทำหัตถการที่เสี่ยงต่อการติดเชื้อเอชไอวี
ข้อดีจากการตรวจเอชไอวี
- ถ้ารู้ว่าติดเชื้อเอชไอวี จะได้เข้ารับการรักษาแต่เนิ่นๆ หรือรักษาได้ทันที โดยไม่ต้องรอให้แสดงอาการ
- ถ้ารู้ว่าติดเชื้อเอชไอวี และได้รับการรักษา จะมีสุขภาพที่แข็งแรง สามารถทำงานได้ปกติ หาเลี้ยงตัวเอง และครอบครัวได้
- ถ้ารู้ว่าติดเชื้อเอชไอวี จะได้วางแผนป้องกันคู่ของตนเองไม่ให้รับเชื้อเอชไอวี จากเรา หรือชวนคู่ไปตรวจเลือด
- ถ้ารู้ว่าติดเชื้อเอชไอวี และอยากมีลูก จะได้วางแผนป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีไปสู่ลูกได้
- ถ้ารู้ว่าตัวเองไม่ติดเชื้อเอชไอวี จะได้ป้องกันตนเองเพื่อไม่ให้ติดเชื้อเอชไอวีตลอดไป
- เมื่อมาตรวจเลือด จะได้รับข้อมูลเพื่อเพิ่มความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับเอชไอวี/เอดส์ และการป้องกันตนเองได้อย่างถูกต้อง
ตรวจเอชไอวี ที่ไหนดี?
- สามารถใช้สิทธิในการตรวจเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้งที่คลินิกนิรนาม สภากาชาดไทย
- สามารถใช้สิทธิในการตรวจเอชไอวีได้ฟรี ปีละ 2 ครั้งที่โรงพยาบาลรัฐ ศูนย์อนามัย หรือคลินิกที่ร่วมรายการ
- สามารถขอรับบริการตรวจเอชไอวี และขอคำปรึกษาได้ที่โรงพยาบาล หรือหน่วยบริการประจำตามสิทธิในระบบหลักประกันสุขภาพ รวมถึงสามารถเข้ารับการตรวจได้ที่ห้องปฏิบัติการ หรือคลินิกเทคนิคการแพทย์ทั้งของภาครัฐ และเอกชนได้ เช่นกัน
การตรวจสถานะเอชไอวีเป็นขั้นตอนที่สำคัญในการรักษาและป้องกันโรคเอชไอวี ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มเสี่ยงหรือไม่ก็ตาม การรับรู้ถึงสถานะสุขภาพของเราเองเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยให้เรามีสุขภาพที่ดีและมีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นในระยะยาว ดังนั้น อย่าลืมตรวจสอบสถานะเอชไอวีอย่างสม่ำเสมอและเป็นส่วนหนึ่งของการดูแลสุขภาพของคุณ