กระทรวงศึกษาธิการบรรจุเรื่องความหลากหลายทางเพศ ลงหนังสือเรียน ป.1 – ม.6 อัพเดทมิติความหลากหลายอย่างเพสวิถี
เพศสภาพตั้งแต่ความรู้สึกส่วนตัวจนถึงครอบครัวแบบ พ่อ-พ่อ และแม่-แม่ ฟังเสียงบางส่วนของผู้ปกครอง ระบุ เป็นเรื่องก้าวหน้าและเหมาะสม ดูตัวอย่างการสอนให้ยอมรับความหลากหลายตั้งแต่เด็กในสหราชอาณาจักร
หากถามว่าต้นตอปัญหาสารพัดของประเทศไทยอยู่ที่ไหน คำตอบว่าอยู่ที่ ‘การศึกษา’ เป็นคำตอบที่พูดอย่างไรก็ถูก หรือถ้าพูดแบบตรงๆ ก็อาจนับเป็นเพียงข้อสรุปของบทสนทนาที่ไม่นำไปสู่อะไรใหม่ การหาคำอธิบายที่นำไปสู่การแก้ไขปัญหาในระบบการศึกษาไทยที่ประกอบด้วยส่วนผสมร้อยแปดพันเก้าต่างหากเป็นโจทย์ที่ยาก วันนี้ ดอกผลของความพยายามไปให้ไกลกว่าข้อสรุปง่ายๆ ได้ออกมาในรูปร่างของเนื้อหาในหนังสือเรียน เกย์ไทย
เมื่อ 8 พ.ค. 2562 ที่ผ่านมา เว็บไซต์ Change.org ได้เผยแพร่ความสำเร็จในการบรรจุหลักสูตรเรื่อง “ความหลากหลายทางเพศ” ในหนังสือเรียนวิชาสุขศึกษาตั้งแต่ ป.1 จนถึง ม.6หลังจากที่ผลักดันเรื่องนี้มานานกว่า 2 ปี
พงศ์ธร จันทร์เลื่อน ผู้อำนวยการมูลนิธิเอ็มพลัส องค์กรที่ทำงานด้านสุขภาพทางเพศและสิทธิทางเพศในกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หนึ่งในผู้ร่วมผลักดันการบรรจุเนื้อหาดังกล่าวระบุว่า หนังสือเรียนจะมีหลักสูตรแกนกลางกับหลักสูตรที่เป็นแบบเรียน หลักสูตรแกนกลางนั้นจะมีการแก้ไขทุก 10 ปี หลักสูตรแกนกลางปัจจุบันเป็นของปี 2550 และครบรอบ 10 ปีในปี 2560 ที่ผ่านมา ทำให้มีโอกาสได้เข้ามาทบทวนหลักสูตรนี้ใหม่ โดยได้มีการปรึกษากับนายกรัฐมนตรีกระทรวงศึกษาธิการว่าต้องให้เนื้อหาขยายครอบคลุมไปถึงกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศยิ่งขึ้น และพยายามทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศในหลายๆ มิติ เช่นคำว่า เพศ เพศวิถี เพศสภาพ ความหลากหลายทางเพศหมายถึงอะไร เป็นต้น
พงศ์ธรยังกล่าวว่า ได้มีการปรับเนื้อหาเรื่องโรคทางเพศสัมพันธ์ด้วย โดยใส่เรื่องนวัตกรรมในการรักษาโรคทางเพศสัมพันธ์ใหม่ๆ เข้าไป โดยปัจจุบันเรื่องความหลากหลายทางเพศถูกบรรจุและเปิดใช้แล้ว เนื่องจากเป็นเงื่อนไขของทางสำนักงานการศึกษาขั้นพื้นฐาน หรือ สพฐ. ที่ทุกโรงเรียนต้องมีหนังสือใหม่ก่อนเดือน เม.ย. 2562 โดยโรงพิมพ์ที่พร้อมผลิตหนังสือก็ให้ผลิตได้เลย โรงพิมพ์ที่ไม่พร้อมก็อนุญาตให้ใส่ข้อมูลเสริมเป็นใบแทรกได้
ผอ.มูลนิธิเอ็มพลัส ล่าวถึงผลลัพธ์ที่ได้หลังจากการผลักดันนี้ว่า ตอนนี้กำลังมองไปข้างหน้าและมีการเสนอให้คณะทำงานว่าน่าจะมีการประเมินหรือมีการไปตรวจสอบดูว่า หลังจากที่ใช้หนังสือฉบับนี้แล้วผลตอบรับในเชิงบวกหรือเชิงลบมีอะไรบ้าง ซึ่งตอนนี้ทางคณะทำงานกำลังดูแผนงานและงบประมาณว่า ในอนาคตอาจจะมีการจัดอบรมครูผู้สอนเกี่ยวกับเรื่องนี้ เพราะตอนนี้วิชาสุขศึกษาที่ว่าด้วยเรื่องเพศและความหลากหลายทางเพศถือเป็นหลักสูตรที่มีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาเยอะที่สุด
“เรื่องความหลากหลายทางเพศตอนนี้เปลี่ยนแปลงไปในเชิงหลายๆ มิติ และเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว ถ้าเราได้สติว่าต้องก้าวไปให้ทันกับความเปลี่ยนแปลง ก็จำเป็นที่ต้องกลับมาเปลี่ยนในสิ่งที่มันเปลี่ยนแปลงด้วย” พงศ์ธร จันทร์เลื่อน
ก่อนหน้านี้ กิตตินันท์ ธรรมธัช หรือแดนนี่ เดอะบีช นายกสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย องค์กรด้าน สิทธิและสุขภาวะของคนหลากเพศ ได้เสนอนโยบายให้ทางกระทรวงศึกษาธิการพิจารณาบรรจุตำราและหลักสูตรเรียนเรื่องความหลากหลายทางเพศ ดังนี้
- ทำให้เด็กตั้งแต่ชั้น ป.1 ได้เข้าใจว่า ‘เพศมีความหลากหลาย’
- ให้แก้ไขเรื่องหลักสูตรของตำราให้เรียบร้อยในชั้น ม.1 และให้สอดคล้องกับตำราเรียน ชั้น ป.1
- ส่งเสริมครูให้มีเจตคติและให้มีความรู้ความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศอย่างถ่องแท้
นโยบายดังกล่าวมีขึ้นหลังจากที่กิตตินันท์ตั้งแคมเปญโดยให้เหตุผลว่า ในยุคที่คนในสังคมมีความหลากหลายทางเพศมากมาย แต่การต่อสู้เรื่องของความหลากหลายทางเพศกลับมีมาตลอดหลายยุคหลายสมัย ปัญหาสำคัญมาจากเรื่องของการ ‘ไม่มีความรู้’ และ ‘ไม่มีความเข้าใจที่ถ่องแท้’ ไม่เข้าใจในเรื่องของสิทธิมนุษยชนของคนที่มีความหลากหลายทางเพศไม่ว่าจะเป็นเกย์ กระเทย ทอม ดี้ เลสเบี้ยน (ที่มา: ไทยพีบีเอส)
ก้าวหน้า เหมาะสม: เสียงสะท้อนผู้ปกครองกับการปรับเนื้อหา
สำหรับเนื้อหาที่ปรากฏในหนังสือเรียนนั้นมีการเพิ่มเรื่องเพศ บทบาทความสัมพันธ์ ความเท่าเทียมระหว่างเพศและความหลากหลายทางเพศ ยกตัวอย่างเช่น คำว่าความหลากหลายทางเพศ (sexual diversity) ในหลักสูตรจะแบ่งเป็นสามกลุ่มได้แก่กลุ่มที่มีความหลากหลายด้านอัตลักษณ์ทางเพศ กลุ่มที่มีความหลากหลายด้านรสนิยมทางเพศและกลุ่มที่มีความหลากหลายด้านการแสดงออกทางเพศ นอกจากนี้ยังเพิ่มเรื่องสุขภาวะทางเพศ เช่น โรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ รู้จักยาต้านเอชไอวี/เอดส์ การตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์
โลกโซเชียลมีการกล่าวถึงเนื้อหาที่เพิ่มขึ้นมาใหม่ในหนังสือสุขศึกษาเช่นกัน ผู้ใช้งานเฟสบุ๊คชื่อ Shine Wara Dhammo โพสท์ภาพเนื้อหาในหนังสือใหม่ที่มีทั้งภาพร่างกายของมนุษย์เพศชายและเพศหญิง และยังมีเนื้อหาเรื่องความหลากหลายทางเพศไม่ว่าจะเป็นเรื่องเพศวิถีในระดับปัจเจกไปจนถึงครอบครัวที่ประกอบสร้างโดยผู้มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งเธอถือว่าเป็นเรื่องที่ก้าวหน้าของหนังสือเรียนในไทย
https://www.facebook.com/MonkKickAss/posts/10155872560537563
ณัฏฐา มหัทธนา นักกิจกรรมด้านการเมือง ในฐานะผู้ปกครองให้ความเห็นเกี่ยวกับประเด็นนี้ว่า เรื่องความรู้รอบตัวทุกอย่างที่เกี่ยวข้องกับชีวิตมนุษย์ถือเป็นเรื่องที่ดีที่จะบรรจุลงไปในหลักสูตร เพราะว่าการที่บรรจุลงไปต้องเป็นเนื้อหาตามช่วงวัย ความเหมาะสมของความพร้อมที่จะรับรู้และเข้าใจเรื่องต่างๆ ได้ เพราะฉะนั้นการให้ความรู้เรื่องความหลากหลายทางเพศถือเป็นเรื่องที่เหมาะสม ต้องทำให้เด็กได้เข้าใจว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องปกติในสังคม ต้องเคารพและให้เกียรติกัน
ณัฏฐายังเสนอให้มีการศึกษาในฐานะเรื่องเกี่ยวกับมนุษย์ที่สามารถเรียนรู้ได้ เมื่อมาถึงจุดเริ่มต้นแล้วต้องมีการแนะนำให้รู้จักตั้งแต่เด็กและอยากให้เสริมเกี่ยวกับการเรียนเพศศึกษาที่ไม่ใช่แค่เรื่องความหลากหลายทางเพศ แต่เป็นความสัมพันธ์ในรูปแบบของคนสองคน ภาษาอังกฤษเรียกว่า ‘Family Education’ ต้องมีการสร้างความเข้าใจ ต้องจัดการกับความขัดแย้ง เพราะฉะนั้นระบบการศึกษาควรจะเตรียมพร้อมเรื่องของความสัมพันธ์ที่ลึกกว่าเพศศึกษา
ตัวอย่างจากสหราชอาณาจักร สอนให้ยอมรับความหลากหลายตั้งแต่เด็ก
การปรับตัวของแบบเรียนในไทยไม่ใช่เรื่องใหม่ของโลก ในสหราชอาณาจักรก็มีการให้ความสำคัญกับเรื่องความหลากหลายทางเพศเช่นกัน เมื่อ 4 มิ.ย. 2562 ที่ผ่านมา ทางการราชอาณาจักรได้อนุมัติให้มีการใช้หนังสือภาพ เพื่อใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนให้แก่เด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาทั่วประเทศที่ว่าด้วยการมีสัมพันธภาพที่ดีและเพศศึกษา (relationships and sex education – RSE) และความเสมอภาคของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT
โดยหนังสือที่ว่านี้เป็นหนังสือการ์ตูนที่จะสอนให้เด็กๆ ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการยอมรับความแตกต่างในสังคมและการเคารพสิทธิความเสมอภาคของเพื่อนร่วมสังคม โดยยกตัวอย่างของวิถีชีวิตที่หลากหลาย เช่น เรื่องราวของคู่เพนกวินเกย์ที่ช่วยกันเลี้ยงลูกน้อย เรื่องราวของเด็กชายที่อยากแต่งตัวเป็นนางเงือก รวมทั้งเรื่องราวของคู่เลสเบี้ยนกับลูกของพวกเธอ
แม้หนังสือเหล่านี้จะถูกต่อต้านจากบรรดาผู้ปกครองที่มีแนวคิดอนุรักษ์นิยม แต่นักการศึกษาชี้ว่า เด็กจะต้องได้รับการศึกษาเรื่องความเสมอภาคของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศซึ่งป็นส่วนหนึ่งของกฎหมายสหราชอาณาจักรในปัจจุบัน (ข้อมูลจาก BBC)
ขอบคุณ ข่าวจาก https://prachatai.com/journal/2019/06/83010