“เรารู้สึกพอเราเป็นกะเทย เหมือนเราไม่มีสิทธิในเนื้อตัวเรา เราไม่สามารถพูดได้เลยว่า ไม่… อย่าทำ”
ในวัยที่มนุษย์คนหนึ่งกำลังเติบโตในช่วงวัยรุ่น ต่างค้นหาตัวตนในสิ่งที่ตัวเองฝันอยากจะเป็น ทั้งเรื่องเรียนและอาชีพ แต่ช่วงการเป็นวัยรุ่นของ “โม” อธิกัญญ์ แดงปลาด กลับต้องรับมือกับประสบการณ์ที่เลวร้ายจากการถูกกลั่นแกล้งรังแก (bullying) และความพยายามล่วงละเมิดทางเพศ เพราะความเป็นบุคคลหลากหลายทางเพศ (LGBTI คำที่อธิบายถึงบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ เลสเบี้ยน เกย์ ไบเซ็กซ่วล ทรานสเจนเดอร์ และอินเตอร์เซ็กส์ ) ของเธอ เกย์ไทย
โม ซึ่งปัจจุบันเป็นนักเขียนคอนเทนต์ข่าวออนไลน์ให้กับเว็บไซต์ชื่อดังแห่งหนึ่ง วัย 27 ปี เล่าสิ่งที่เกิดขึ้นกับเธอเมื่อกว่าสิบปีที่แล้วตอนเรียนชั้นมัธยมต้นที่โรงเรียนแห่งหนึ่งชานเมืองกรุงเทพฯ
พยายามสัมผัสอวัยวะเพศ ล้วง แกล้งให้รู้สึกอับอาย ตบหัว เตะฟุตบอลอัดใส่หน้า ใช้คำด่าหยาบคาย พฤติกรรมเหล่านี้ ถูกมองเป็นเรื่องที่ปกติสำหรับเพื่อนนักเรียนชาย ที่กระทำต่อโมในเวลานั้น
“มันไม่ได้ส่งผลในแง่ของการถูกรังแกเท่านั้น แต่เปลี่ยนเราจากเด็กเรียน และเด็กมองโลกในแง่ดี กลายเป็นว่าเราต้องพยายามทำตัวให้แข็งกระด้างขึ้น” โม เล่าให้บีบีซีไทยฟัง “ถ้ามึงยังเป็นตัวเอง มึงก็ยังเป็นเหยื่อต่อไป” โมกล่าว “และมันหนักมากตรงที่เราปรึกษาพ่อแม่ไม่ได้ กลับมาบ้านก็เจออีกโลกหนึ่ง”
ไม่อยากให้มีเด็ก “แบบนี้” แล้ว เมื่อครูคือคนที่รังแกฉัน
ความหวังเดียวในช่วงรอยต่อขึ้นชั้น ม.ปลาย คือ พยายามตั้งใจเรียนและเข้มข้นกับการสอบเข้าในโรงเรียนชั้นนำในกรุงเทพฯ เพื่อพาตัวเองออกจากสังคมเดิม แต่ทว่าเมื่อเข้าไปได้แล้ว โมกลับรู้สึกว่าเป็น “แกะดำ”
ประสบการณ์เกี่ยวกับการถูกแบ่งแยก รังแก เพราะอัตลักษณ์ทางเพศ ครั้งแรก ๆ เกิดจากคนที่เธอเรียกว่า “ครู” ตอนเข้าเรียนชั้น ม.4
โม เล่าให้บีบีซีไทยฟังว่า เธอถูกครูจับให้นั่งเรียนแยกออกจากกลุ่มเพื่อนนักเรียนหญิง เพราะครูเห็นว่า เด็กนักเรียนชาย ต้องนั่งกับเด็กนักเรียนชายด้วยกัน และไม่ต้องการให้นักเรียนกลายเป็นคนผิดเพศ
“เขา (ครู) คงคิดว่าเปลี่ยนให้เราเป็นผู้ชายได้ โดยการไม่ให้นั่งกับผู้หญิง ครูพูดทำนองว่า เป็น “แบบนี้” ทุกรุ่น รุ่นนี้ ไม่อยากให้มีเด็กแบบนี้แล้ว”
การถูกครูสั่งให้นั่งแยกตอนนั้นเพื่อรอเพื่อนผู้ชายกลับจากเรียนแลกเปลี่ยน ทำให้เธอต้องนั่งเรียนแยกเดี่ยว ออกจากเพื่อนคนอื่นไปจนจบ ม. 6
“ตอนนั้นเราเด็ก เป็นความรู้สึกก้าวขาเข้ามาสังคมใหม่ปุ๊ป ก็โดนกันออกทันที เป็นการเริ่มต้นชีวิต 3 ปี ที่แย่มาก”
นอกจากสิ่งที่ครู มองว่า โม ควรจะมีเพศที่ตรงกับเพศกำเนิด การอยู่ในโรงเรียนนั้นสามปี เธอรู้สึกถึงการไม่เปิดรับจากเพื่อน ทั้งโดยการใช้คำพูด และการถูกทำให้เป็นตัวตลก โมบอกว่า ตอนนั้นเธอไม่ได้เข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศนัก แต่สงสัยว่า เหตุใดเธอจึงตกเป็นเหยื่อของการกลั่นแกล้ง ความรู้สึกว่าโรงเรียนไม่ได้เป็นที่ของเธอ ยังส่งผลกระทบในเรื่องการเรียนด้วย
“มันกลายเป็นความรู้สึกว่าเราไม่ชอบตัวเอง แล้วไม่เชื่อมั่นในตัวเอง คิดว่าเป็นตั้งแต่ตอนนั้น ตอนเรียน ม.5 ม.6 นอนหลับได้วันละสองสาม ชม. เริ่มไปโรงเรียนสาย จน ม.6 ก็ขาดเรียนเกือบทุกวัน เช้ามาบอกแม่ไปโรงเรียน แต่ตกบ่ายเราก็โดดเรียนออกมา”
ทุกวันนี้ โมได้ก้าวผ่านภาวะเช่นนั้นมาแล้ว ตั้งแต่เข้ามหาวิทยาลัย เมื่อเธอได้เล่าประสบการณ์ในอดีตให้กับเพื่อนฟัง
“คนที่ละอายควรเป็นคนที่ทำเราหรือเปล่า เราไม่ได้ผิดอ่ะ เราเป็นเซอร์ไวเวอร์ (ผู้รอดชีวิต) คนพวกนั้นควรจะละอายตัวเอง เลยตัดสินใจพูด เรารู้สึกว่าก้าวข้ามแล้ว” โมกล่าวกับบีบีซีไทย แต่การเป็นผู้รอดชีวิตของเธอ ก็เปลี่ยนให้เธอเป็นอีกคนหนึ่ง
“ตอนนี้ บางทีก็ไม่ได้ชอบใจในสิ่งที่เป็นอยู่ กะเทยต้องใช้ความหยาบคาย ความก้าวร้าวเป็นเกราะป้องกันถูกรังแก ทำตัวแรด ทำตัวตลก เพราะถ้าตลก เราก็จะไม่กลายเป็นคนที่โดนกลั่นแกล้ง”
ความรุนแรง ต่อความรุนแรง
“สมัยที่เรียนมัธยมต้นและมัธยมปลายไม่เคยมีวันไหนที่ผมไม่ถูกรังแกจากกลุ่มบุคคลที่กล้าเรียกตัวเองว่า ผู้ชาย”
“ลักกี้” กนกพัชร ยงวณิชชา บุคคลหลากหลายทางเพศ วัย 27 ปี ซึ่งมีเพศกำเนิดเป็นผู้หญิง เริ่มต้นเรื่องเล่าเรื่องการถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนนักเรียนชายมัธยมต้นในโรงเรียนแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ
กนกพัชร เล่าถึงการรังแกของเพื่อนนักเรียนชายที่ชื่อว่า นายจี (นามสมมติ) ซึ่งเรียนห้องเดียวกัน
เขาบอกว่า ตอนเข้า ม. 1 ยังไม่ได้แสดงออกมากว่าเป็นทอม แต่นายจี เริ่มล้อเลียนลักษณะท่าทาง และบุคลิก ที่คลุกคลีอยู่แต่กับเพื่อนผู้หญิง ไม่เข้าใกล้ผู้ชาย ก่อนการรังแกจะเพิ่มความรุนแรงขึ้น กลายเป็นการทำร้ายร่างกาย ทั้งถูกตบที่ศีรษะ ชกต่อย เตะ ตามร่างกาย การรังแกเกิดขึ้นต่อเนื่องจนกระทั่งเรียนจบชั้น ม.3
“เมื่อเขาลงมือทำร้าย เราก็ป้องกันตัวตามสภาพ” รู้ไหมว่าเขา ทำร้ายเราทำไม บีบีซีไทยถาม
“ไม่เคยรู้ ไม่เคยกล้าถาม แต่พอโตมาแล้ว มองย้อนกลับไป มันเหมือนกับว่าเขาแสดงความเป็นผู้ชายที่มีอำนาจกว่า มึงเป็นทอม ยังไงมึงก็เป็นผู้หญิง…”
เมื่อถูกรังแกหนักขึ้น ๆ เขาคิดจะไปร้องขอความช่วยเหลือจากครูฝ่ายปกครองคนหนึ่ง ซึ่งเป็นครูที่สอนวิชาพลศึกษาและสุขศึกษาที่กนกพัชรเรียนด้วย แต่ทว่า คำพูดในห้องเรียนที่ครูเคยกล่าวไว้ ก็ทำให้กนกพัชร มองว่า เป็นเรื่องไร้ประโยชน์จะทำ
“ครูคนนี้ไม่เคยเรียกชื่อผม เรียกว่า อีทอมบ้าง อีง่อยบ้าง เพราะมือซ้ายผมไม่ค่อยปกติ อีกคำพูดหนึ่งที่ครู เคยพูดไว้กับผมแม้ว่าเขาจะลืมแต่ผมไม่ลืม เขาเคยพูดว่า เป็นทอมแล้วยังมือง่อยอีกนะมึง” กนกพัชร ย้อนเล่าความทรงจำวัยเด็กที่เลวร้าย
เมื่อขึ้นชั้น ม. ปลาย เพื่อนนักเรียนชายย้ายไปอยู่คนละห้อง ดูเหมือนว่ากนกพัชรจะหลุดพ้นจากการถูกกลั่นแกล้งแล้ว แต่เขาก็เจอประสบการณ์เกือบถูกลวนลามจากเพื่อนนักเรียนชายอีกคน
“ตอนนั้นที่เขาหันมาทางผม ผมชักมีดคัตเตอร์ออกมาป้องกัน พยายามไม่ให้เค้าแตะเนื้อต้องตัว แต่พอทำเค้าบาดเจ็บ ทุกคนก็หาว่าผมใช้ความรุนแรง มีคนแต่งเรื่องว่าผมเป็นคนโรคจิต ทำร้ายคนอื่น แต่ไม่มีใครเคยถามผม”
ผลพวงจากการอยู่ในแวดล้อมที่ถูกกลั่นแกล้งและรังแกให้รู้สึกว่าเป็นอื่นในสังคมที่โตมา กนกพัชรยอมรับว่า เรื่องราวตั้งแต่วัยเด็กผลักให้เขา กลายเป็นเด็กสมาธิสั้น เรียนไม่จบชั้น ปวส. จนกระทั่งเหตุการณ์ที่เขาเริ่มลงมือทำร้ายแฟนจากการทะเลาะวิวาท เป็นจุดเปลี่ยนที่ทำให้ต้องไปพบแพทย์เพื่อบำบัดภาวะการเป็นคนสองบุคลิกและอารมณ์แปรปรวน
“เป็นตุ๊ดอย่างมึง อยู่ที่นี่ได้ไม่นานหรอก”
ตอนที่ “แบงค์กี้” ธนภัทร์ เจียมรัตนสกุล ก้าวเข้าสู่รั้วมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในฐานะเฟรชชี่ ในภาควิชาดนตรีสากล เธอรู้สึกช็อคและรู้สึก “ไม่ได้เป็นชนกลุ่มเดียว”กับคนอื่น เมื่อเจอคำพูดจากรุ่นพี่ผู้ชายในกิจกรรม “ประชุม” พบรุ่นน้อง
แบงค์กี้ในบุคลิกท่าทางที่มั่นใจ นิยามตัวเองว่าเป็นกะเทย เธอเรียนจบมาแล้วหนึ่งปี และปัจจุบันอายุ 23 ปี และมีอาชีพเป็นนักร้องอิสระ
เธอรู้ในเวลาต่อมาว่า ในอดีต เคยมีเหตุการณ์ที่นักศึกษาที่เป็นเพศที่สามแต่ละคนออกจากภาควิชาด้วยเหตุการณ์ที่ไม่น่าจดจำ ทำให้เรื่องนี้ได้กลายเป็นภาพจำของสาขาวิชาก็เป็นได้ว่า “การมีตุ๊ดเข้ามามันไม่ใช่เรื่องดี”
“เราเป็นบุคคลข้ามเพศคนเดียวเลยในนั้น รุ่นเราไม่มีอีกแล้ว ขณะที่สังคมของผู้หญิงก็น้อย ส่วนใหญ่เป็นผู้ชายกันหมดเลย มันเกิดความไม่ชินของทั้งเราและเขา”
ครั้งหนึ่งเธอถูกรุ่นพี่บอกว่าเป็นคน “ปากแรง” เธอยอมรับดังว่า แต่เธอก็รู้สึกถึงความต่างออกไปหากนักศึกษาที่ไม่ได้เป็นบุคคลหลากหลายทางเพศกระทำ
“สิ่งที่สัมผัสได้ เหตุการณ์คล้าย ๆ กัน ลักษณะเดียวถ้าเป็นคนอื่นปฏิบัติ มันจะไม่เกิดอะไรขึ้น แต่พอเป็นตุ๊ดปฏิบัติปุ๊ป มันจะกลายเป็นเรื่องใหญ่ทันที” เธอเล่าถึงเหตุการณ์ที่พูดหยอกล้อรุ่นพี่ผู้ชาย แล้วถูก “ประชุมใหญ่” ซึ่งเป็นการรวมตัวของบรรดารุ่นพี่เพื่อเรียกน้องมา “อบรม” มันเกิดขึ้นทุกสัปดาห์ในช่วงที่เธอเรียนปีหนึ่งเทอมแรก
สิ่งที่แบงค์กี้เลือกทำ คือ ลดความจัดจ้านของตัวเองลง และผลักดันตัวเอง ฝึกฝนการเป็นนักร้องที่เก่งขึ้น ซึ่งจะบอกถึงตัวตนและความสามารถในเส้นทางดนตรี
“ชีวิตกะเทย ชีวิตเพศที่สามมันอยู่กับการพิสูจน์ ถ้าเราพิสูจน์แล้วคนจะเห็นเราเอง… ภาพของแบงค์กี้ที่เป็นตุ๊ดมันหายไปแล้ว จนรุ่นพี่ที่เคยทำไม่ดีกับเราก็เข้ามาเข้าใจเราใหม่” เธอกล่าวถึงการคลี่คลายตัวเองในช่วงปีท้าย ๆ ที่มหาวิทยาลัย
แล้วหากแบงค์กี้ไม่ได้เป็นเพศที่สามที่มีความสามารถและได้รับการยอมรับ คิดว่าแบงค์กี้คนนั้นจะเป็นอย่างไรตอนนี้ ?
“จุดหนึ่ง การถูกบุลลี่ (รังแก) ถึงขั้นทำให้เราหายจากเฟซบุ๊กไปเลย 6 เดือนเคยแย่ถึงขั้น ไม่อยากคุย กับใคร กับที่บ้านก็ไม่อยากคุย เพราะเรารู้สึกว่าไปอยู่ตรงไหน แล้วมันแย่ไปหมด แบงค์กี้คนนั้นมีสิทธิ์จะฆ่าตัวตายได้ ถ้าเค้าไม่ได้เข้มแข็งพอ” เธอตอบคำถาม
“ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะอ่อนแอได้ แต่ว่าทุกคนไม่จำเป็นที่ต้องมาเจอเรื่องแบบนี้”
1 ใน 3 ของเด็กนักเรียน LGBTI ในไทย ถูกทำร้ายร่างกายเพราะตัวตนทางเพศ
เกี่ยวกับการกลั่นแกล้งและรังแกกลุ่มนักเรียนที่มีความหลากหลายทางเพศ (LGBTI) ในไทย เมื่อปี 2557 มหาวิทยาลัยมหิดล องค์การแพลน อินเตอร์เนชั่นแนล ประเทศไทย และยูเนสโก เผยแพร่งานวิจัย การรังแกต่อกลุ่มนักเรียนที่เป็นหรือถูกมองว่าเป็นคนข้ามเพศหรือคนรักเพศเดียวกันในรูปแบบ ความชุก ผลกระทบ แรงจูงใจ และมาตรป้องกันในโรงเรียนมัธยมศึกษา 5 จังหวัด ใน 4 ภูมิภาคทั่วประเทศ
ผลการศึกษาพบว่า ร้อยละ 55.7 ของนักเรียนที่ระบุว่าตนเป็น LGBTI ระบุว่าถูกรังแกภายในหนึ่งเดือนก่อนการให้ข้อมูล เพราะความเป็นบุคคลหลากหลายทางเพศ
ผลวิจัยการรังแกนักเรียน LGBTI ใน ร.ร.มัธยม เมื่อปี 2557
- 6 ใน 10 นักเรียน LGBTI ถูกรังแกเพราะตัวตนทางเพศ
- ถูกรังแกมากกว่า นร.ที่ไม่ได้เป็น LGBTI 2 เท่า
- อยู่ในข่ายซึมเศร้ามากกว่า นร.ที่ไม่ใช่ LGBTI 3 เท่า
- เคยมีประสบการณ์ถูกทำร้ายร่างกาย 31%
- เคยพยายามฆ่าตัวตายจากการถูกรังแก 7%
นักเรียน LGBTI ร้อยละ 31 ระบุว่า เคยมีประสบการณ์ถูกทำร้ายร่างกาย, ร้อยละ 29 ระบุว่าถูกกระทำทางวาจา,ร้อยละ 36 ถูกกระทำทางสังคม ส่วนการล่วงละเมิดทางเพศมีร้อยละ 26 ที่เคยเจอประสบการณ์เช่นนั้น
ตัวเลขที่น่าตกใจจากผลวิจัยที่ได้จากการสนทนาเชิงลึก ยังระบุอีกว่า นักเรียน LGBTI ที่เคยถูกรังแก ร้อยละ 7 เคยพยายามฆ่าตัวตายจากการกระทำดังกล่าว
ศ.ดร. พิมพวัลย์ บุญมงคล หัวหน้าศูนย์ความเป็นเลิศด้านการวิจัยเพศภาวะ เพศวิถี และสุขภาพ คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล หัวหน้าทีมวิจัยชุดนี้ กล่าวกับบีบีซีไทยว่า นอกจากการกระทำจากบุคคลที่เป็นเพื่อนนักเรียนด้วยกัน การรังแกเรื่องอัตลักษณ์ทางเพศของนักเรียน LGBTI ยังมี “ครูผู้สอน” เป็นผู้กระทำต่อนักเรียน
“ครูบางคนก็เสียดสีนักเรียนกลุ่มนี้ อย่างการบอกว่า เด็กกลุ่มนี้เป็นพวกหนอน หรือการแสดงออกทางสีหน้า ครูผู้ชายก็หลีกเลี่ยงการเข้าไปยุ่งกับกลุ่มเกย์กะเทย” ศ.ดร. พิมพวัลย์ กล่าวกับบีบีซีไทย พร้อมระบุว่า มีตัวเลขจากการพูดคุยที่ชี้ว่า กลุ่มนักเรียน LGBTI มีอัตราการขาดเรียนสูงกว่ากลุ่มที่ไม่ถูกรังแก กระทบไปยังผลการเรียนด้วย และเสี่ยงต่อภาวะซึมเศร้าที่สูงกว่า
“การรังแกเกิดขึ้นจากความสัมพันธ์เชิงอำนาจที่ไม่เท่ากัน คนที่รู้สึกมีอำนาจกว่าจะรังแกคนที่ด้อยกว่า พวกนี้มองว่า คนที่มีความแตกต่างด้านตัวตนทางเพศ เป็นคนที่ด้อยกว่าตนเอง จึงกลายเป็นเป้าหมายของการกลั่นแกล้ง”
ขณะเดียวกัน ผู้บริหารและโรงเรียน ก็มีความไม่เข้าใจในเรื่องนี้ “นโยบายของโรงเรียน มองแต่เรื่องความรุนแรงของการยกพวกตีกันของเด็ก แต่ไม่ได้เข้าใจเรื่องความรุนแรงของการกลั่นแกล้ง”
“ผู้บริหารบางคน มองว่าเป็นสาเหตุที่ตัวเด็กเองที่ผิดเพศ เขามองว่าหากนักเรียนปฏิบัติตัวให้เป็นไปตามเพศกำเนิด ให้ตรงเพศ การแกล้งก็หายไปเอง” ศ.ดร. พิมพวัลย์ กล่าวกับบีบีซีไทย และบอกว่า เมื่อองค์กรพัฒนาเอกชนพยายามเข้าไปชี้ให้เห็นว่ามีปัญหาเช่นนี้ ต้องใช้ “แรง” ในการสร้างความเข้าใจกับโรงเรียนอย่างมาก
ระบบการศึกษาไทย “อคติ” กับคนหลากหลายทางเพศ
กฤติกา โภคากร เจ้าหน้าที่สนับสนุนงานวิชาการมูลนิธิรักษ์ไทย ประเด็นการศึกษาและเพศวิถี อดีตนายกสมาคมครูเพศวิถีศึกษาแห่งประเทศไทย กล่าวกับบีบีซีไทยว่า การสอนเรื่องเพศวิถีในโรงเรียนไทย ถ้าสอนในสิ่งที่ “เปิด” มาก ๆ เป็นสิ่งที่แทบจะเป็นไปไม่ได้เลย
ครูผู้สอน “เกร็ง” ที่จะพูดประเด็นเหล่านี้ในชั้นเรียน ด้วยเกรงว่าผู้ปกครองไม่ต้องการให้ลูกเรียนเรื่องแบบนี้ อีกทั้งทั่วประเทศก็มีหลายโรงเรียนที่ไม่ได้สอนเพศศึกษาเลยด้วยซ้ำ
กฤติกา ซึ่งเคยเป็นอาจารย์หัวหน้าภาควิชาสุขศึกษาและเพศวิถีศึกษาโรงเรียนมัธยมแห่งหนึ่งในกรุงเทพฯ กล่าวอีกว่า หนังสือวิชาเพศศึกษาที่ใช้เรียนกันในโรงเรียนทั่วประเทศก็ยังมี “อคติ” คนที่หลากหลายทางเพศถูกตอกย้ำมานานว่าเป็นพวก “เบี่ยงเบน” ซึ่งเป็นคำที่ปรากฏในหนังสือ
สิ่งเหล่านี้ กฤติกา มองว่า ไม่ได้ถูกถอดทิ้งง่าย ๆ จากทัศนะของคนเป็นผู้สอน “โรงเรียนยังใช้หนังสือที่พิมพ์ออกมาเป็นร้อยเป็นพันเล่ม แม้แต่ผู้บริหารโรงเรียนเองยังใช้คำนี้ (เบี่ยงเบนทางเพศ) การเปลี่ยนทัศนคติในสังคมค่อนข้างยาก”
กฤติกากล่าวว่า “โรงเรียนมักจะสอนเรื่องเพศศึกษาเลย แต่ไม่ได้สอนเรื่องศักดิ์ศรีความมนุษย์”
“ความหลากหลายทางเพศมันอยู่ที่หัวใจของคุณว่าคุณมองคนยังไง ถ้าตกผลึกเรื่องนี้ได้ก่อน คุณก็จะไม่แบ่งคนออกจากกันและจับเข้าไปอยู่กล่องของเพศใดเพศหนึ่ง”
ขอบคุณ ข่าวจาก https://www.bbc.com/thai/features-46107153