ตำรวจนิวยอร์กขอโทษกรณีใช้กำลังปราบชุมนุม LGBTQ เมื่อ 50 ปีที่แล้ว

//

lgbt Thai Team

beefhunt

หนึ่งเรื่องน่าสนใจในช่วง “เดือนแห่ง Pride” ของกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ คือการที่อธิบดีตำรวจนิวยอร์กออกมาขอโทษการใช้ความรุนแรงต่อชาว LGBT

ที่ประท้วงต่อต้านการปราบปรามบาร์เกย์ที่เรียกว่า “การลุกฮือที่สโตนวอลล์” เมื่อปี 2512 การประท้วงดังกล่าวถือเป็นหมุดหมายสำคัญในฐานะจุดกำเนิดของขบวนการ Pride ด้วย

14 มิ.ย. 2562 เจมส์ พี โอนีล อธิบดีตำรวจคนปัจจุบันของนิวยอร์กได้ออกมาขอโทษการใช้ความรุนแรงของกรมตำรวจในเหตุบุกจับกุมผู้มีความหลากหลายทางเพศที่สโตนวอลล์อินน์ในนิวยอร์กปี 2512 ที่ผ่านมา 50 ปี ตำรวจปฏิเสธจะขอโทษในเรื่องนี้เสมอมาและไม่ยอมรับว่าการใช้ความรุนแรงกับชาว LGBTQ+ ในครั้งนั้นไร้ความชอบธรรม จนกระทั่งถึงช่วงสัปดาห์ที่แล้ว ที่อธิบดีคนดังกล่าวออกมาขอโทษในช่วงเดียวกับที่มีการจัดงานเวิร์ลด์ไพรด์ในนิวยอร์ก   ข่าวเกย์

โอนีลกล่าวในงานรำลึกครบรอบ 50 ปีของเหตุการณ์ปะทะกันระหว่างตำรวจกับผู้มีความหลากหลายทางเพศว่า ” ง่ายๆ ตรงๆ เลยก็คือ การกระทำของกรมตำรวจนิวยอร์กเป็นสิ่งที่ผิด”

คำขอโทษนี้มีขึ้นหลังจากที่ทั้งนักการเมืองและผู้นำด้านสิทธิผู้มีความหลากหลายทางเพศยกระดับการเรียกร้องให้มีการขอโทษในเรื่องนี้จากการที่นิวยอร์กเป็นรัฐที่จัดงานเวิร์ลด์ไพรด์ ซึ่งเป็นงานรวมตัวกันเพื่อรำลึกถึงการครบรอบ 50 ปี เหตุการณ์สโตนวอลล์

การยอมรับและขอโทษในครั้งนี้ทำให้ผู้นำด้านสิทธิเกย์บอกว่าเป็นเรื่องที่คาดไม่ถึงและมีความสำคัญถึงแม้ว่าคำขอโทษจะออกมาหลังผ่านพ้นเวลาเกิดเหตุมานานแล้วก็ตาม คอรีย์ จอห์นสัน โฆษกของสภาเมืองนิวยอร์กซิตีผู้ที่เป็นคนรักเพศเดียวกันและเคยเรียกร้องให้ตำรวจขอโทษมาก่อนกล่าวว่า การที่อธิบดีตำรวจนิวยอร์กพูดขอโทษอย่างตรงไปตรงมาเป็นเรื่องที่น่าประทับใจ

อย่างไรก็ตาม กรมตำรวจยังมีภาระต้องพิสูจน์คำพูดดังกล่าวต่อไปในอนาคต ริชาร์ด ซาเอนซ์ ทนายความด้านสิทธิพลเมืองจากองค์กรแลมบ์ดาลีกัลกล่าวว่า ประวัติศาสตร์ความรุนแรงของตำรวจและการทำให้ความหลากหลายทางเพศกลายเป็นอาชญากรรมยังดำเนินมาจนถึงทุกวันนี้

อธิบดีตำรวจนิวยอร์กยังกล่าวว่า “ผมคิดว่ามันจะเป็นการไม่รับผิดชอบถ้าหากปล่อยให้เดือนแห่งเวิร์ลด์ไพรด์ผ่านไปโดยไม่พูดอะไรถึงเหตุการณ์ที่สโตนวอลล์อินน์ในเดือน มิ.ย. 2512 เลย … ผมรู้ว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นไม่ควรจะเกิดขึ้น” โอนีลกล่าวต่ออีกว่า “ทั้งการปฏิบัติการและกฎหมายมีการกีดกันและกดขี่ สำหรับเรื่องนี้ ผมขอโทษ” ผู้ที่เข้ารับฟังปรบมือให้หลังโอนีลกล่าวจบ

เหตุการณ์สโตนวอลล์เกิดขึ้นเมื่อ 28 มิ.ย. 2512 เมื่อเจ้าหน้าที่หน่วยศีลธรรมสาธารณะ (ปัจจุบันถูกยกเลิกไปแล้ว) บุกทลายผู้คนในสโตนวอลล์อินน์ บาร์เกย์บนถนนคริสโตเฟอร์ กรีนนิชวิลเลจ เจ้าหน้าที่ตำรวจในยุคนั้นอ้างว่าพวกเขาเข้าไปสลายผู้เข้าใช้บริการของสโตนวอลล์เนื่องจากละเมิดกฎหมายเกี่ยวกับสุรา เจ้าหน้าที่ 8 นายสั่งให้คนในนั้นราว 200 คนเรียงแถวกันและแสดงเอกสารตัวตน มีบางคนที่ถูกตรวจเนื้อตัวร่างกาย พฤติกรรมของเจ้าหน้าที่ในคืนนั้นกลายเป็นทั้งรอยด่างพร้อยของกรมตำรวจและเป็นสิ่งที่จุดชนวนให้เกิดขบวนการลุกฮือของผู้มีความหลากหลายทางเพศ

มาร์ก ซีกัล ผู้ที่เคยร่วมประท้วงในเหตุการณ์สโตนวอลล์เล่าว่าในคืนนั้น “พวกเขา(เจ้าหน้าที่ตำรวจ) เข้ามาในบาร์ พวกเขาเหวี่ยงผู้คนกระแทกกำแพง พวกเขาผลักคนในนั้น และพูดจาเหยียดหยามในแบบที่คุณคงพอจะจินตนาการออก”

จากเหตุการณ์ที่เจ้าหน้าที่ตำรวจเข้าไปกดขี่ผู้มีความหลากหลายทางเพศในครั้งนั้นทำให้ชาว LGBTQ+ ไม่ยอมทนต่อการกลั่นแกล้งอีกต่อไป พวกเขารวมตัวกันหน้าบาร์สโตนวอลล์ตะโกน “เกย์พาวเวอร์” แสดงการเย้ยหยันตำรวจ มีบางคนที่ขว้างปากขวดน้ำและก้อนหินใส่ในขณะที่ตำรวจกำลังทำร้ายคนในบาร์ มีการปะทะกันเกิดขึ้นเป็นเวลาราว 1 ชั่วโมง แต่หลายวันหลังจากนั้นก็มีการประท้วงบนท้องถนนตามมา

นักเขียนเอ็ดมุนด์ ไวท์ เคยเขียนถึงเรื่องนี้ไว้ว่า “ทุกคนต่างก็กระวนกระวาย โกรธ และฮึกเหิม ทุกคนไม่มีคำขวัญใดๆ ทุุกคนไม่มีแม้แต่ท่าทีอะไรทั้งนั้น แต่มีอะไรบางอย่างกำลังเดือดพล่าน” หลังจากนั้นตำรวจก็พยายามจับกุมผู้หญิงคนหนึ่งจากกลุ่มผู้ประท้วงเป็นเหตุให้ผู้ประท้วงเกรี้ยวกราดขึ้นจนเกิดเป็นเหตุรุนแรงที่มีการปะทะกันของสองฝ่าย มีผู้บาดเจ็บ ถูกจับกุม และทรัพย์สินเสียหาย

หลังจากเหตุการณ์นั้น กรมตำรวจนิวยอร์กเริ่มมีทัศนคติต่อผู้มีความหลากหลายทางเพศเปลี่ยนแปลงไปทีละน้อย ประธานสหภาพตำรวจนิวยอร์กเคยระบุในปี 2521 ว่าการมีตำรวจที่เป็นคนรักเพศเดียวกันนั้นเป็นไปไม่ได้ แต่หลังจากที่ทัศนคติและบรรทัดฐานทางสังคมเริ่มเปลี่ยนไป ก็ทำให้ในปี 2525 ส.ต.อ.ชาร์ลส์ เอช คอคแครน เริ่มจัดตั้งสมาคมเจ้าหน้าที่ตำรวจเกย์ขึ้น และตั้งแต่ปี 2539 เป็นต้นมาก็มีเจ้าหน้าที่ตำรวจคนรักเพศเดียวกันร่วมเดินขบวนไพรด์ในนิวยอร์กซิตี้ด้วย

สำหรับการขอโทษของตำรวจต่อเหตุการณ์สโตนวอลล์นั้น อธิบดีก่อนหน้านี้คือวิลเลียม เจ แบรตตันก็เคยปฏิเสธจะขอโทษมาก่อนโดยอ้างว่าไม่จำเป็น ส่วนโอนีลก็เคยปฏิเสธจะขอโทษในปี 2560 โดยอ้างว่ามีการพูดถึงจุดนี้ไปแล้วและควรจะเดินหน้าต่อไป แต่ในปีนี้เขาก็ออกมาขอโทษ พร้อมทั้งให้คำมั่นต่อชุมชนผู้มีความหลากหลายทางเพศว่าเหตุการณ์แบบเดิมจะไม่เกิดขึ้นอีกครั้งในปีนี้ “พวกเราได้ทำอย่างแท้จริงคือการโอบรับชาวนิวยอร์กทุกผู้ทุกนาม” โอนีลกล่าว

แต่ในปัจจุบันก็ยังมีข้อกล่าวหาเรื่องตำรวจนิวยอร์กมีอคติ “ควรจะต้องทำอะไรอีกมากมายกว่านี้ในการแก้ไขปัญหาการกีดกันเลือกปฏิบัติของกรมตำรวจนิวยอร์กทั้งในประวัติศาสตร์และในปัจจุบัน” ทินา ลวงโก ทนายความจากองค์กรลีกัลเอดโซไซตีกล่าว

ในปี 2560 ฝ่ายเฝ้าระวังของกรมเปิดเผยว่าเจ้าหน้าที่ตำรวจยังขาดการฝึกอบรมเรื่องวิธีการปฏิบัติกับเหยื่ออาชญากรรมและผู้ร้องทุกข์ที่เป็นชาว LGBTQ+ ในเดือน ม.ค. ที่ผ่านมามีกรณีหญิงข้ามเพศรายหนึ่งที่ร้องเรียนว่าตำรวจเยาะเย้ยเธอในช่วงที่มีการจับกุมและบันทึกเพศของเธอในแบบฟอร์มของทางการผิด

ซาเอนซ์กล่าวว่าคนข้ามเพศโดยเฉพาะคนข้ามเพศที่เป็นคนผิวสีมักจะเสี่ยงต่อการได้รับการปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากตำรวจมากเป็นพิเศษ จากการสำรวจในปี 2558 ที่ทำการสำรวจคนข้ามเพศชาวอเมริกัน 28,000 รายพบว่าร้อยละ 58 เคยถูกปฏิบัติอย่างไม่เป็นธรรมจากตำรวจมาก่อน

มารา เคลสลิง ผู้อำนวยการบริหารของศูนย์เพื่อความเท่าเทียมคนข้ามเพศแห่งชาติสหรัฐฯ แถลงว่าในปัจจุบันตำรวจนิวยอร์กก็ยังคงรังแกและล่วงละเมิดคนข้ามเพศอยู่ กรมตำรวจจึงควรมีพันธกรณีในการเปลี่ยนแปลงนโยบายอย่างจริงจังเพื่อชี้ให้เห็นปัญหาวิกฤตความรุนแรงที่คนข้ามเพศต้องเผชิญ ทั้งนี้เคลสลิงก็ขอบคุณโอนีลที่ขอโทษเกี่ยวกับกรณีสโตนวอลล์

ขอบคุณ ข่าวจาก https://prachatai.com/journal/2019/06/82963

Leave a Comment