งานวิจัยเผย มีคนรู้จักเป็นคนข้ามเพศ ส่งผลหนุนนโยบายคนข้ามเพศมากขึ้น

//

lgbt Thai Team

beefhunt

ในสหรัฐฯ มีการพยายามผลักดันข้อเรียกร้องและนโยบายต่างๆ เพื่อคนข้ามเพศ แต่ก็มีความคิดเห็นแตกต่างกันในประเด็นเหล่านี้

นักรัฐศาสตร์สำรวจพบว่าถ้าหากใครที่มีคนรู้จักเป็นคนข้ามเพศหรือเคยเห็นตัวละครคนข้ามเพศในสื่อในเชิงบวกมาก่อนก็จะมีแนวโน้มสนับสนุนประเด็นและนโยบายต่างๆ เพื่อคนข้ามเพศมากขึ้น     ข่าวเกย์

11 ธ.ค. 2560 สื่อวิทยาศาสตร์ Phys นำเสนอผลการวิจัยของนักวิจัยด้านรัฐศาสตร์จากมหาวิทยาลัยแห่งแคนซัส ดอน ไฮเดอร์-มาร์เคิล และแพทริค มิลเลอร์ ระบุว่าคนที่รู้จักกับคนข้ามเพศ (transgender) เป็นการส่วนตัวหรือเคยเห็นตัวละครคนข้ามเพศในสื่อมาก่อนมีแนวโน้มที่จะแสดงออกทางบวกในการสนับสนุนสิทธิของคนข้ามเพศมากขึ้น

ไฮเดอร์-มาร์เคิล ศาสตราจารย์และหัวหน้าภาควิชารัฐศาสตร์เปิดเผยว่าสิ่งที่งานวิจัยนี้แสดงให้เห็นคือผู้ที่เรียกร้องสิทธิของคนข้ามเพศน่าจะใช้วิธีทำให้ผู้คนได้รู้จักกับคนข้ามเพศมากขึ้นด้วย เพื่อทำให้เกิดแรงสนับสนุนจากประชาชนทั่วไป ประเด็นคล้ายๆ กันนี้ยังเคยเป็นข้อถกเถียงกันเกี่ยวกับกรณีที่มีการบอกให้เกย์และเลสเบียนเปิดเผยเพศวิถีตัวเองให้เพื่อนและครอบครัวได้รับรู้

นักวิจัยทั้งสองคนเป็นผู้ที่ศึกษาเรื่องการเมืองของคนข้ามเพศมาหลายเรื่องและได้ตีพิมพ์ในวารสารต่างๆ ตลอดช่วงปีนี้ โดยผลงานล่าสุดเผยแพร่ในวารสารพับลิคโอพีเนียนควอเตอร์ลี งานวิจัยก่อนหน้านี้พวกเขาเก็บข้อมูลเกี่ยวกับคนข้ามเพศได้จำกัดและมีผลที่ไม่แน่นอนเกี่ยวกับทัศนคติต่อคนข้ามเพศสำหรับคนที่เคยปฏิสัมพันธ์กับคนข้ามเพศมาก่อน

แต่งานวิจัยล่าสุดพวกเขาพบว่าคนที่รู้จักคนข้ามเพศเป็นการส่วนตัวมีแนวโน้มจะสนับสนุนขบวนการเคลื่อนไหวของคนข้ามเพศด้านต่างๆ เช่นการลดการกีดกันเลือกปฏิบัติในการจ้างงานหรือในการเช่า/ซื้อที่อยู่อาศัย ส่วนในประเด็นที่คนในสหรัฐฯ มีความเห็นแตกต่างกันมากๆ คือเรื่องเกี่ยวกับเนื้อตัวร่างกายและเรื่องบทบาททางเพศ เช่น เรื่องห้องน้ำ หรือเรื่องการระบุเพศในเอกสารราชการ นักวิจัยก็พบคนที่เคยปฏิสัมพันธ์กับคนข้ามเพศอย่างใกล้ชิดมากกว่าก็มีทัศนคติสนับสนุนคนข้ามเพศในประเด็นเหล่านี้มากกว่า

พวกเขาสำรวจเรื่องนี้มาตั้งแต่ปี 2558 โดยใช้วิธีการให้มาตรวัดระดับความรู้สึกสนับสนุนคนข้ามเพศและนโยบายต่างๆ เกี่ยวกับคนข้ามเพศ

ถึงแม้ว่าโดยรวมๆ แล้วคนที่มีความคุ้นเคยกับคนข้ามเพศมาก่อนมักจะมีทัศนคติดีกว่าโดยรวมๆ แต่นักวิจัยก็ตั้งข้อสังเกตว่ากลุ่มตัวอย่างที่มีทัศนคติไปในทางบวกกับคนข้ามเพศมากที่สุดมักจะเป็นผู้สนับสนุนพรรคเดโมแครต มีแนวทางการเมืองแบบเสรีนิยม เป็นผู้หญิง และเป็นคนที่ไม่ค่อยฝักใฝ่ศาสนา

นอกจากเรื่องนี้จะสนับสนุนทำให้คนข้ามเพศกล้าเปิดตัวมากขึ้นแล้ว แต่ก็ยังอาจจะหมายถึงการที่ควรจะมีตัวละครคนข้ามเพศในสื่อมากขึ้นด้วย ไฮเดอร์-มาร์เคิล ยกตัวอย่างว่าก่อนหน้านี้เคยมีการนำเสนอภาพของคนรักเพศเดียวกันผ่านสื่อมากขึ้น ทำให้ผู้คนมีทัศนคติต่อคนรักเพศเดียวกันเปลี่ยนแปลงไปจากเดิมช่วงยุคคริสต์ทศวรรษ 1990-ช่วงต้นคริสต์ทศวรรษ 2000

มีการยกตัวอย่างรายการโทรทัศน์ “Will & Grace” (ชื่อเรื่องไทยคือ “เจ๊วิล คุณนายเกรซ เพื่อนกันไม่มีวันจบ”) ที่เป็นซิทคอมเกี่ยวกับทนายความเกย์และเพื่อนผู้หญิงคนรักต่างเพศที่เป็นนักออกแบบภายใน เรื่องนี้นำเสนอผ่านช่องเอ็นบีซีช่วงปี 2541-2549 ได้รับการชื่นชมว่าทำให้ผู้คนได้เรียนรู้เข้าใจเกย์และทำให้คนมีทัศนคติต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ (LGBT) ดีขึ้น อีกตัวอย่างหนึ่งที่นักวิจัยพูดถึงคือซีรีส์ได้รับรางวัลที่ชื่อ “ทรานส์พาเรนท์” ที่เกี่ยวข้องกับคนข้ามเพศ

ไฮเดอร์-มาร์เคิล บอกว่าคนที่ไม่ได้รู้จักกับคนข้ามเพศถ้าหากพวกเขาได้รับชมตัวละครคนข้ามเพศที่สื่อออกมาในภาพทางบวก ก็จะทำให้คนมีความรู้สึกทางบวกและสนับสนุนสิทธิของคนข้ามเพศได้ ผู้วิจัยบอกอีกว่างานวิจัยในเรื่องเช่นนี้ยังเป็นตัวชี้วัดกว้างๆ เกี่ยวกับสังคมว่ายังเป็นประชาธิปไตยอยู่มากน้อยแค่ไหม

ขอบคุณ ข่าวจาก https://prachatai.com/journal/2017/12/74535