LGBT : สาวข้ามเพศคนไทยวัย 21 ติดปีกเป็นแอร์โฮสเตสบนสายการบินยุโรป

//

lgbt Thai Team

beefhunt

“เราไม่ได้เลือกพนักงานจากการเป็นหญิงหรือเป็นชาย ไม่ว่าเป็นอะไร ก็ทำงานนี้ได้ ไม่ได้มีใครมาดูเธอตอนเสิร์ฟเครื่องดื่มนี่ว่าใต้กระโปรงเธอมีอะไร”

อภิเดช กริชกำจร หรือ “พลอย” ผู้หญิงข้ามเพศ คนไทยวัย 21 ปี ถ่ายทอดคำพูดที่หนึ่งในกรรมการสอบสัมภาษณ์งานตำแหน่งพนักงานต้อนรับบนเครื่องบินของ SAS สแกนดิเนเวียน แอร์ไลน์สบอกเธอหลังจากเธอยื่นพาสปอร์ตเพื่อให้เจ้าหน้าที่บันทึกข้อมูลในขั้นตอนการสัมภาษณ์รอบสุดท้าย     เกย์ไทย

หลังจากนั้นสัปดาห์กว่า ๆ ขณะกำลังทำงานในตำแหน่งพนักงานบริการภาคพื้นดินในสนามบิน เธอก็ได้รับจดหมายจากสายการบินแจ้งว่า “คุณได้รับเชิญไปอบรมเป็นลูกเรือ”

Love2test

พลอยได้ติดปีกบินเป็นแอร์โฮสเตสในเที่ยวบินฝึกหัดเที่ยวแรกจากนอร์เวย์ ไปยังเมืองฮัมบูร์กของเยอรมนี เมื่อสัปดาห์ที่แล้ว หลังจากฝึกอบรมอย่างเข้มข้นเป็นเวลา 3 สัปดาห์

https://www.facebook.com/photo.php?fbid=2259440024323149&set=a.1472556116344881&type=3

ข้อความของพลอยบนเฟซบุ๊กในวันที่เธอสวมเครื่องแบบสีกรมท่าพร้อมด้วยผ้าพันคอและผมที่รวบตึง ยืนอย่างมั่นใจบนรองเท้าส้นสูง ข้าง ๆ คือ โมเดลเครื่องบินของสายการบินที่เธอสังกัด

การงานและโอกาสที่พลอยได้รับ โดยไม่ถูกจำกัดด้วยตัวตนทางเพศสภาพที่หลายคนเข้ามาแสดงความยินดีในโพสต์นั้น อาจกำลังบอกว่า เธอคนนี้เป็นตัวแทนความฝันของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในเส้นทางอาชีพที่ไม่ได้เปิดกว้างนักสำหรับพวกเธอ

ฝันเริ่มต้นบนเครื่องบิน

พลอยเกิดที่ จ. หนองคาย วัยเด็กตามแม่ไปค้าขายที่เกาะสมุย ก่อนจะย้ายมาอยู่กรุงเทพฯ เมื่อแม่แต่งงานใหม่กับสามีชาวต่างชาติ พลอยจึงย้ายไปอยู่ประเทศนอร์เวย์เมื่ออายุได้ 8 ขวบ ปัจจุบันเธอใช้ชีวิตอยู่ที่กรุงออสโล

“ตอนพลอยมานอร์เวย์ ภาษาอังกฤษก็ไม่ได้ นอร์เวย์ก็ไม่ได้ ภาษาอังกฤษเรียนที่โรงเรียน แต่มาเรียนเองที่บ้านด้วย ส่วนภาษานอร์เวย์พลอยใช้เวลา 4-5 ปี พออายุ 12-13 พลอยถึงพูดเข้าใจ อ่านรู้เรื่อง” เธอเล่าให้เราฟังผ่านโทรศัพท์ข้ามทวีปจากนอร์เวย์

พลอยเพิ่งเรียนจบในสายอาชีพธุรกิจท่องเที่ยวและบริหาร ซึ่งอาจเทียบได้กับวุฒิ ปวส. ของไทย เธอเลือกเรียนในโปรแกรมที่กำหนดให้เรียนสองปีและฝึกงานในธุรกิจด้านนี้อีกสองปี

ระหว่างเรียนเธอฝึกงานเป็นพนักงานต้อนรับในโรงแรมใกล้กับสนามบิน ก่อนเปลี่ยนมาทำงานเป็นพนักงานบริการภาคพื้นดิน ความฝันในการเป็นลูกเรือของพลอย เกิดจากการที่เธอต้องเดินทางด้วยเครื่องบินตอนเด็ก

สำหรับใครหลายคน ความฝันวัยเด็กอาจถูกหยุดไว้แค่นั้นด้วยเหตุผลที่ต่างกันไป แต่กับเธอแล้ว การได้ทำงานบนเครื่องบินเป็นเป้าหมายที่ไม่เคยเลือนหาย ช่วง 2-3 ปี ที่ผ่านมา เธอสมัครงานในตำแหน่งแอร์โฮสเตสในหลายสายการบิน แต่ไม่มีที่ไหนตอบรับ

เธอรู้ดีว่าเรื่องเพศสภาพ อาจเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เธอถูกปฏิเสธ

“พลอยคุยกับแม่มาตลอด ที่สายการบิน….. ไม่รับหนู เพราะว่าหนูเป็นสาวประเภทสอง”

แต่ผู้หญิงข้ามเพศที่ไปใช้ชีวิตที่นอร์เวย์ตั้งแต่เด็กคนนี้ไม่หยุดแค่นั้น เพราะความสามารถ ประสบการณ์ และการศึกษาที่เรียนมาทางท่องเที่ยวและบริการโดยตรง ทำให้เธอมั่นใจว่า “ประสบการณ์ของเราสู้คนอื่นได้”

“ทำไมเราต้องท้อกับความฝันที่เราอยากจะเป็นในเมื่อเราไม่มีอะไรจะเสีย” พลอยบอก

“มันก็ใกล้จะถึงความฝันแล้วนะ”

“ตื่นเต้นนะพี่ เพราะว่ามันเป็นความฝันของเรา มีอะไรหลาย ๆ อย่างต้องเรียนรู้…” พลอยเผยความรู้สึกหลังจากปฏิบัติหน้าที่แอร์โฮสเตสในเที่ยวบินแรกเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว

เธอเล่าถึงขั้นตอนการสมัครงานในสายการบินที่เธอเพิ่งได้งานว่า นอกจากเรื่องวุฒิการศึกษา ส่วนสูง ว่ายน้ำเป็น และพูดภาษาอังกฤษได้ในระดับดีมากแล้ว อีกหนึ่งข้อ คือ ต้องพูดภาษาสแกนดิเนเวียนได้อย่างน้อย 1 ภาษา

หลังจากส่งใบสมัครไปทางเว็บไซต์ ด่านแรกที่ต้องผ่าน คือ การทำแบบทดสอบทั้งคณิตศาสตร์ ภาษาอังกฤษแบบทดสอบเรื่องความมีจิตใจบริการ และสุดท้ายคือด้านบุคลิกภาพ พลอยผ่านบททดสอบขั้นนี้และผ่านเข้าไปยังรอบสัมภาษณ์

“ความกลัวมีอยู่แล้ว 99.99 เปอร์เซ็นต์ แต่พลอยก็คิดในทางบวกว่า มาถึงรอบสัมภาษณ์แล้ว มันก็ใกล้จะถึงความฝันแล้วนะ”

เธอใช้เวลาหนึ่งเดือนเต็มในการเตรียมตัวสอบสัมภาษณ์ ทั้งเก็งคำถามที่คาดว่าจะถูกถาม ดูคลิปวิดีโอทางยูทิวบ์เรื่องการสัมภาษณ์ ศึกษาข้อมูลสายการบิน ตลอดจนทรงผมและการแต่งกาย ทั้งหมดถูกเตรียมการเป็นอย่างดี

“สัมภาษณ์เสร็จคนกรรมการบอกกับพลอยว่า เธอทำการบ้านมาเหรอ ทุกอย่างมันเป๊ะมาก” ทว่าในคำชมนั้นก็มีประโยคที่ทำให้เธอกังวลและคิดว่าอาจจะผ่านการคัดเลือก

กรรมการคนนั้นบอกว่า “เธอตอบเพอร์เฟคต์ทุกอย่าง แต่ขาดความเป็นตัวเอง”

“ฉันหวังว่าเพศของฉันจะไม่เป็นปัญหา”

เมื่อการสัมภาษณ์จบลง หัวหน้ากรรมการได้ขอหนังสือเดินทางเพื่อบันทึกข้อมูลประกอบใบสมัคร ตอนนั้นเองที่พลอยให้ข้อมูลเรื่องเพศสภาพของเธอ แม้ว่าก่อนหน้านี้ เธอได้ใส่คำนำหน้าว่า “MR.” ไปในใบสมัครแล้วก็ตาม

“เขามองเราแล้วบอกว่า ฉันดูไม่ออกเลยนะว่า เธอเป็นผู้ชายมาก่อน” พลอยเล่า และบอกกรรมการไปว่า “ฉันหวังว่าเพศของฉันจะไม่เป็นปัญหาในการสมัคร”

กรรมการบอกเธอว่า ไม่ต้องคิดมาก การที่เธอเข้ามาถึงรอบสัมภาษณ์เป็นเพราะเธอมีประสบการณ์และวุฒิการศึกษาที่น่าพอใจ

“ถ้าพวกเราไม่ได้อยากได้เธอ เธอคงไม่มายืนอยู่ตรงนี้…เราไม่ได้เลือกพนักงานจากการเป็นหญิงหรือเป็นชาย ไม่ว่าเป็นอะไร ก็ทำงานนี้ได้ ไม่ได้มีใครมาดูเธอตอนเสิร์ฟเครื่องดื่มนี่ว่าใต้กระโปรงเธอมีอะไร”

เราไม่ได้คัดเลือกพนักงานจากเพราะว่าคุณเป็นหญิงหรือเป็นชาย ไม่ว่าคุณจะเป็นอะไร คุณก็ทำงานนี้ได้ ไม่ได้มีใครมาดูเธอตอนเสิร์ฟเครื่องดื่มนี่ว่าใต้กระโปรงเธอมีอะไร” พลอยถ่ายทอดคำพูดที่กรรมการบอกเธอในวันนั้น

พลอยยอมรับว่า เวลานั้นเธอโล่งอก ที่เรื่องเพศสภาพไม่ได้อุปสรรคต่อการคัดเลือกผู้ที่เหมาะสมกับงาน นั่นทำให้เธอยิ่งมีความหวัง

“ไม่ได้ถามเกี่ยวกับชีวิตทางเพศของเราเลย ว่าแต่งตัวเป็นหญิงหรือชาย ส่วนมากที่ถามเป็นเรื่องประสบการณ์ทำงานล้วน ๆ”

การเปิดกว้างทางเพศคือความก้าวหน้าของสายการบิน

พลอยบอกว่าเธอมีความสุขในการทำงานในทุก ๆ วัน เพราะนี่เป็นงานที่เธอรักและทำด้วยใจ

เธอวางแผนไว้ในใจว่าเมื่อมีประสบการณ์จากทำงานในสายการบินนี้สัก 5-6 ปี แล้วก็จะสอบเป็นหัวหน้าลูกเรือ ส่วนเป้าหมายถัดจากนั้น คือ การได้สะสมชั่วโมงบินในสายการบินที่ใหญ่กว่าเดิม ส่วนจุดสูงสุดของชีวิตการทำงานเส้นทางนี้ คือ หัวหน้าเมเนเจอร์ลูกเรือหรือครูฝึกอบรมลูกเรือ

เมื่อถามว่า ถ้าอยู่ในประเทศไทยเธอคิดว่าจะได้รับโอกาสเช่นนี้หรือไม่ พลอยไม่ได้ตอบคำถามนี้ตรง ๆ แต่บอกว่า เป็นความโชคดีที่ได้มาอยู่ที่นี่

“ถามว่าสังคมไทยเปิดกว้างไหม ทุกคนพูดคำเดียวกันหมดว่า ผมรับกะเทยได้ กะเทยเต็มบ้านเต็มเมือง แต่ที่จริงมันไม่ใช่ มันไม่ได้เปิดกว้างขนาดนั้น สังคมยังไม่ได้เปิดให้เพศที่สามเข้ามาในอาชีพการงานบางอาชีพ”

“ทุกคนเท่าเทียมกันหมด สำหรับประเทศไทย ถ้าสายการบินกล้าเปิดใจ ให้สาวประเภทสองมาเป็นพนักงานต้อนรับฯ มันเป็นความก้าวหน้าที่น่านับถือด้วย”

 

โอกาสที่ถูกปิดกั้น เมื่อกฎหมายไทยยังไม่อนุญาตให้เปลี่ยนคำนำหน้านาม

ในอดีตเคยมีสายการบินบางแห่งในประเทศไทยที่เปิดรับสาวข้ามเพศเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน

“เท่าที่มีข้อมูล มีสายการบินพีบีแอร์ พีซีแอร์ แต่ตอนนี้เท่าที่ทราบจะยังไม่เปิดรับ” มนชยา คุปตะวินทุ หรืออาจารย์อุ้ม ครูสอนแอร์โฮสเตสชื่อดังให้ข้อมูลกับบีบีซีไทย

มนชยา ผู้ซึ่งคร่ำหวอดในวงการปลุกปั้นหนุ่มสาวที่ใฝ่ฝันเป็นสจ๊วตและแอร์โฮสเตสในไทยอธิบายว่า จากการพูดคุยกับสายการบินหลายแห่งพบว่า อุปสรรคสำคัญอยู่ที่ข้อมูลของบุคคลในเอกสารตามกฎหมาย

“กฎหมายในไทยยังไม่มีรองรับเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อในพาสปอร์ตหรือบัตรประชาชนให้เป็นนางสาวหลังจากมีการเปลี่ยนแปลงเพศสภาพ ทำให้มีความขัดแย้งระหว่างเอกสารและรูปลักษณ์ของเจ้าของเอกสาร โดยเฉพาะในการเดินทางไปต่างประเทศอาจจะทำให้เกิดความสับสนได้”

มนชยากล่าวอีกว่า หลายสายการบินที่ได้มีโอกาสพูดคุยด้วยอย่างไม่เป็นทางการก็อยากรับบุคคลข้ามเพศเข้ามาทำงาน เพราะเห็นว่าก็เป็นกลุ่มที่มีความสามารถ ซึ่งเธอก็เห็นด้วยว่าบุคลิกภาพที่ดี การดูแลภาพลักษณ์ตัวเอง อีกทั้งการชอบพูดคุยให้การต้อนรับ เป็นคุณสมบัติที่ดีมากสำหรับลูกเรือ

“ถ้าเป็นไปได้ อยากให้เปิดให้โอกาสให้ทุกคนได้สมัครอย่างเท่าเทียมกัน เพราะเราเชื่อว่าเรื่องของเพศไม่ใช่ข้อจำกัดในการทำงาน” มนชยา ทิ้งท้าย

เช็คสถานะกฎหมายรับรองเพศ

มีความพยายามในการผลักดันกฎหมายที่ปลดล็อคเรื่องนี้ คือ กฎหมายรับรองเพศสภาพที่ภาคประชาชนเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศได้ยกร่างกฎหมายขึ้นมา แต่ยังไม่เข้าสู่กระบวนการพิจารณาของภาครัฐ

เมื่อเดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว มติชนออนไลน์รายงานการให้สัมภาษณ์ของนายปัญญา บูรณบัณฑิต อธิบดีกรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัวว่า “คงต้องให้กฎหมายคู่ชีวิตผ่านและได้ใช้ก่อน ส่วนร่าง พ.ร.บ. รับรองเพศ พ.ศ. …. ยังอีกยาวนาน เพราะต้องรอให้สังคมยอมรับก่อน”

ขอบคุณ ข่าวจาก https://www.bbc.com/thai/thailand-48110744