Coming Out ความดราม่าที่ไม่อาจเลี่ยงได้ของชาว LGBTIQ+

//

lgbt Thai Team

beefhunt

เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมานี้ หลายคนคงได้ทราบข่าวของ Jamel Myles เด็กชายวัย 9 ขวบ ที่ตัดสินใจปลิดชีวิตของตัวเองหลังจากที่ได้เปิดเผยตัวว่าเป็นเกย์กับเพื่อนร่วมชั้นเรียน

ผลสะท้อนกลับของการตัดสินใจนี้ทำให้เด็กชายถูกกลั่นแกล้งจากเพื่อนๆ และเป็นมูลเหตุสำคัญที่ทำให้เขาตัดสินใจจากโลกนี้ไปพร้อมกับความเจ็บปวด

Love2test

>> เด็ก 9 ขวบฆ่าตัวตายสังเวยเปิดเทอม แม่บอกลูกชายโดนล้อที่โรงเรียน

ก่อนหน้านี้ราวหนึ่งเดือน เด็กชายได้เปิดเผยกับแม่ว่าตัวเองนั้นเป็น เกย์ (homosexual) ในโลกตะวันตก มีศัพท์เฉพาะที่บอกเล่าถึงการเปิดเผยเพศสภาพของกลุ่มผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศนั่นก็คือ Come out of the closet หรือเรียกสั้นๆ ว่า Coming out ซึ่งสื่อนัยถึงผู้ที่ตัดสินใจออกมาจากตู้เสื้อผ้า ที่ซึ่งพวกเขาได้เก็บซ่อนความเป็นตัวเองเอาไว้อย่างแน่นหนา และบัดนี้พร้อมแล้วที่จะแสดงให้โลกได้เห็นถึงตัวตนที่แท้จริง       เกย์ไลท์
ในช่วงชีวิตของผู้ที่มีความหลากหลายทางเพศจำนวนมากนั้น การ Coming out ถือเป็นขั้นตอนที่ยากและน่าหวาดกลัวที่สุด เพราะมันเป็นระยะของการเปลี่ยนผ่านที่เต็มไปด้วยความกดดัน นอกจากจะต้องกังวลว่าครอบครัวจะรู้สึกผิดหวังหรือไม่ พวกเขายังต้องเตรียมใจที่จะรับมือกับสังคมรอบตัว การกลั่นแกล้ง ดูถูก และสายตาของคนอื่นที่จ้องมองด้วยความเคลือบแคลง การ Coming out นั้น ไม่ว่าจะเป็นในสังคมไหน หรือแม้กระทั่งในสังคมไทยเองที่ดูเหมือนจะเปิดกว้าง สิ่งนี้ไม่เคยเป็นเรื่องง่าย เหตุเพราะมันมีราคาบางอย่างที่หลายคนอาจจำเป็นต้องแลก
ราคาที่ต้องจ่ายในการเป็นตัวเอง
ในสังคมอเมริกัน เคสของ Jamel ไม่ใช่เคสแรกที่เพิ่งเกิดขึ้น วัยรุ่นที่เลือกที่จะจบชีวิตของตัวเองเพราะไม่อาจรับมือกับแรงต้านของสังคมได้เป็นเรื่องแสนเจ็บปวดที่เกิดขึ้นเป็นปกติอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน อ้างอิงจาก CDC (Centers for Disease Control and Prevention) วัยรุ่นที่มีความหลากหลายทางเพศมีแนวโน้มที่จะฆ่าตัวตายสูงถึง 2-7 เท่า หากเทียบกับวัยรุ่นชายหญิงทั่วไป ถึงแม้ในภาพรวม สังคมอเมริกันจะมีความพยายามในการโปรโมตไอเดียเรื่องความหลากหลายทางเพศในด้านบวก อย่างไรก็ตาม ความรุนแรงก็ยังคงมีอยู่และไม่เคยหายไปไหน และมีหลายกรณีทีเดียวที่ผู้กระทำกลับเป็นคนในครอบครัวของเด็กๆ เอง
หนึ่งในกรณีที่น่าสนใจ ได้แก่กรณีของ Daniella Carter หญิงข้ามเพศและนักต่อสู้เพื่อความหลากหลายทางเพศชาวอเมริกัน เธอถูกครอบครัวของตัวเองตัดขาดเหตุเพราะเพศสภาพที่แตกต่าง โชคชะตาบีบให้ Daniella ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสถานีรถไฟใต้ดินของเมืองนิวยอร์กเป็นเวลาหลายปี แม้จะยากลำบากเพียงใด การศึกษากับความหวังที่ว่าวันหนึ่งตัวเองจะได้มีครอบครัวเฉกเช่นคนอื่นคือสิ่งที่เธอไม่เคยละทิ้ง
มายาคติเรื่องความหลากหลายทางเพศในสังคมไทย
ในสายตาของคนในสังคมส่วนใหญ่ที่เสพสื่อกระแสหลัก การเปิดเผยรสนิยมทางเพศของชาวเพศหลากหลายมักจะถูกทำให้ดูเหมือนเป็นเรื่องชวนหัว หรือไม่ก็ถูกลดทอนความรุนแรงลงจนดูเหมือนไม่ใช่เรื่องที่ยากลำบากอะไรเลย ทว่าในความเป็นจริงแล้ว ยังมีส่วนของภูเขาน้ำแข็งที่จมอยู่ใต้น้ำที่สังคมส่วนใหญ่ยังไม่เคยได้สัมผัส หนึ่งในนั้นคือเรื่องราวของความรุนแรงที่เกิดขึ้นมาเป็นเวลานานภายในรั้วโรงเรียน จากรายงานผลโพลของ UNESCO ที่ชื่อ “From insult to inclusion” ซึ่งได้ทำการสำรวจวัยรุ่นเพศหลากหลายช่วงอายุ 13-20 ปี 56 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าพวกเขาเพิ่งจะโดนรังแกในช่วงเดือนที่ผ่านมา, 31 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าเคยโดนทำร้ายร่างกาย, 29 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าเคยถูกล่วงละเมิดด้วยคำพูด ในขณะที่อีก 24 เปอร์เซ็นต์ ระบุว่าตัวเองเคยโดนคุกคามทางเพศ อีกทั้งยังมีรายงานของ UNESCO ที่ทำร่วมกับมหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อปี 2014 ระบุว่ามีนักเรียนเพศหลากหลายถึง 7 เปอร์เซ็นต์ ที่พยายามจบชีวิตของตนเองเหตุเพราะโดนกลั่นแกล้ง ส่วนมาก พวกเขาเหล่านี้เลือกที่จะเก็บปัญหาไว้ เพราะไม่กล้าพอที่จะขอความช่วยเหลือจากใคร แม้แต่กับครอบครัวของตัวเอง

>> อุทาหรณ์! เด็ก 12 ปี ฆ่าตัวตาย ทนไม่ไหวถูกเพื่อนล้อเป็น “เชียร์ลีดเดอร์ตุ๊ด”

หากเทียบกันดูแล้ว อัตราการฆ่าตัวตายในกลุ่ม LGBTIQ+ ของไทยอาจเกิดขึ้นในสัดส่วนที่น้อยกว่าเมื่อเทียบกับสังคมอเมริกัน อย่างไรก็ตาม น้ำหนักของความรุนแรงที่เกิดขึ้นนั้นเรียกว่าไม่ได้มีความแตกต่างกันเลย และหลายครั้งยิ่งทบทวีเข้าไปอีกเมื่อมีปัญหาเรื่องปากท้องและอัตลักษณ์เข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
“ตอนสมัยที่ยังอยู่อนุบาล เราจำได้ว่ากำลังยืนอยู่ด้านบนของสไลเดอร์ กำลังเตรียมที่จะลื่นลงมา เราไม่รู้ตัวว่ามีเพื่อนผู้ชายแอบมาข้างหลัง เขาถีบเราอย่างแรง รู้ตัวอีกทีคือตัวเองหน้ากระแทกกับพื้นปูน กลิ่นเลือดคาวคลุ้งไปหมด ” นก สาวข้ามเพศร่างกำยำเล่าให้ผู้เขียนฟังเมื่อสมัยที่ยังเรียนมัธยม เธอเล่าด้วยน้ำเสียงสบายๆ ราวกับว่าไม่ใช่เรื่องใหญ่โตอะไร ด้วยความที่ต้องเติบโตขึ้นมาในครอบครัวที่ขาดแคลน มีรูปร่างหน้าตาที่ไม่อ่อนหวาน แถมยังแวดล้อมไปด้วยความรุนแรง ยายของนกกำชับให้หลานคนนี้ต้องเรียนมวยไทยเพื่อเอาไว้ป้องกันตัว แม้ว่านกจะนิยามตัวเองว่าเป็นสาวข้ามเพศ แต่ด้วยสภาพของสังคมที่เธออยู่ “ความเป็นผู้หญิง” ของเธอกลับกลายเป็นสิ่งที่ต้องถูกปิดซ่อนไว้ภายใต้กล้ามเนื้อที่แข็งแกร่ง มีเพียงแค่ยายคนเดียวเท่านั้นที่โอบกอดและเข้าใจเธอในขณะที่สังคมรอบข้างซ้ำเติมด้วยความรุนแรง
สังคมและทางออกของความรุนแรง
ในกรณีของ Jamel แม้เด็กชายจะโชคดีที่มีแม่ที่เข้าใจและยอมรับในเพศสภาพของเขา ทว่านั่นก็ไม่อาจฉุดรั้งเด็กชายไว้ได้เมื่อต้องเจอกับแรงเสียดทานของสังคม ยิ่งในช่วงเวลาเปลี่ยนผ่านที่เด็กๆ เริ่มตั้งคำถามเกี่ยวกับคุณค่าของตัวเอง ตัวตน และอนาคต การกลั่นแกล้งคือความรุนแรงที่สามารถสร้างความสั่นสะเทือนต่อพวกเขาเหล่านี้ได้อย่างมีนัยสำคัญ
ในสังคมอเมริกัน หลายโรงเรียนพยายามจะแก้ไขปัญหานี้ในระดับโครงสร้าง อย่างที่โรงเรียน Minneapolis Public School มีการสนับสนุนและให้ความรู้เกี่ยวกับเรื่องความหลากหลายทางเพศ โดยระบุให้เป็นหลักสูตรหนึ่งที่นักเรียนทุกคนจะต้องศึกษา แม้แต่ในคาบสุขศึกษาก็มีการสอดแทรกเนื้อหาประเภทนี้เข้าไป มีการอบรมครูและบุคลากรในโรงเรียนให้เข้าใจในเรื่องความหลากหลายของอัตลักษณ์ทางเพศ ในระดับมัธยม โรงเรียนได้เพิ่มวิชาเลือกที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ของชาว LGBTIQ+ สำหรับคนที่สนใจ นโยบายที่เปิดกว้างของที่นี่กลายเป็นที่สนใจของคนทั้งประเทศเนื่องจากมันสามารถขจัดปัญหาเรื่องการกลั่นแกล้งไปได้ เห็นได้ชัดเจนจากเสียงตอบรับของเหล่าผู้ปกครองและเด็กๆ ชาว LGBTIQ+
ในด้านตรงข้าม เมื่อช่วงปี 2009 – 2011 โรงเรียน Anoka-Hennepin School ที่นี่กลายเป็นข่าวเมื่อมีเด็กนักเรียนฆ่าตัวตายติดๆ กันถึง 7 คน แม้ทางโรงเรียนจะออกมาปฏิเสธว่าการกระทำดังกล่าวไม่มีความเกี่ยวข้องใดๆ กับปัญหาเรื่องความรุนแรงที่เกิดขึ้นกับกลุ่มเด็กที่มีความหลากหลายทางเพศ อย่างไรก็ตาม มีเหยื่อถึง 4 ใน 7 คน ที่นิยามตัวเองหรือถูกนิยามว่าเป็นเกย์ ดูเหมือนเกย์ หรือยังสับสนในเพศสภาพของตัวเอง อ้างอิงจากครอบครัวและเพื่อนของเหยื่อ จุดนี้เองที่ทำให้สังคมออกมาตั้งคำถามต่อนโยบายของทางโรงเรียน นั่นก็คือ “นโยบายความเป็นกลางทางเพศ” ซึ่งระบุไม่ให้ครูในโรงเรียนแสดงจุดยืนที่เกี่ยวข้องกับประเด็นรักร่วมเพศ โดยมองว่าประเด็นนี้เป็นประเด็นอ่อนไหวที่ไม่ควรถูกกล่าวถึง ว่าเป็นนโยบายที่ “เป็นกลาง” จริงหรือไม่? หรือจริงๆ แล้วนี่คือมาตรการในการปิดกั้นเด็กๆ ออกจากสิ่งที่สังคมมองว่าเป็นเรื่อง “ไม่เหมาะสม”

การแก้ปัญหาเรื่องของความรุนแรงต่อชาว LGBTIQ+ ในโรงเรียน สำหรับผู้เขียนแล้ว สิ่งจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สุดนั่นก็คือการพยายามทำให้ประเด็นนี้เป็นประเด็นสาธารณะเพื่อเปิดโอกาสให้ทุกคนในระบบการศึกษา ไม่ว่าจะเด็กหรือผู้ใหญ่ ได้ทำความเข้าใจและตั้งคำถามเกี่ยวกับโลกใบอื่นที่นอกเหนือจากความคุ้นชินของตัวเอง เพราะหากสังคมยังคงยึดติดอยู่กับมายาคติเรื่องความเหมาะสมและพยายามที่จะปิดหรือกีดกันคนส่วนใหญ่ออกจากโลกของอัตลักษณ์ทางเพศที่แตกต่างหลากหลาย ความรุนแรงย่อมจะเป็นสิ่งที่ถูกผลิตซ้ำอยู่เรื่อยไปบนพื้นฐานของความไม่เข้าใจ และคงจะมีเด็กๆ อีกจำนวนมากที่ต้องร่วงหล่นเพียงเพราะเขาหรือเธอ “เลือก” ที่จะเป็นตัวเองอย่างภาคภูมิใจ …

ขอบคุณ ข่าวจาก  https://www.sanook.com/news/7500126/