Buku FC ทีมลูกหนังสีรุ้งที่จุดแสงสว่างเรื่องเพศวิถีในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้

//

lgbt Thai Team

beefhunt

เราอยากให้คุณลองนึกภาพทีมฟุตบอลทีมหนึ่งที่ประกอบนักเตะที่มีความหลากหลาย ทั้งในเรื่องเพศ อายุ ศาสนา ภาษา วัฒนธรรม การแต่งกาย

พูดง่ายๆ ว่าเป็นทีมที่มีทั้งผู้หญิง ผู้ชาย ทอม เกย์ กะเทย มีทั้งเด็ก ผู้ใหญ่ นักเรียน อาจารย์ คนทำงาน คนนับถือศาสนาพุทธ คริสต์ อิสลาม       เกย์หาเพื่อน
หลายคนอาจเกิดคำถามว่ามันจะเป็นไปได้อย่างไร แล้วจะเล่นกันอย่างไร กับทีมที่มีความแตกต่าง ผสมปนเปกันมากขนาดนี้
มันเป็นไปได้และเป็นไปแล้วบนผืนแผ่นดินที่มีความเป็นไปได้ในเรื่องนี้น้อยที่สุดอย่างจังหวัดปัตตานี ภายใต้ความพยายามอย่างเต็มกำลังของ อันธิชา แสงชัย ผู้ก่อตั้งทีมฟุตบอลบูคู (Buku FC) หญิงสาวชาวเชียงใหม่ที่ย้ายมาใช้ชีวิตอยู่ ณ ดินแดนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
ความหลากหลายที่ผสมกลมกลืนกันได้แบบนี้ทำให้ทีมฟุตบอลบูคูมีชื่อเสียงในแวดวงนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิความเท่าเทียมทางเพศระดับโลก เราจึงอยากส่งต่อเรื่องราวอันทรงพลังนี้ถึงคุณผ่านบทสนทนานี้
อันธิฌา แสงชัย ผู้จุดไฟส่องแสงสว่างในหมู่ LGBT สามจังหวัดชายแดนภาคใต้
อันธิฌา หรือ อาจารย์อัน หรือ พี่อันของน้องๆ ในทีมบูคู เอฟซี เล่าให้เราฟังถึงงานที่เธอรับผิดชอบในปัจจุบันว่า “เราทำงานหลักๆ อยู่สามอย่าง หนึ่ง เป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี สอนเกี่ยวกับปรัชญาและสุนทรียศาสตร์ สอง เป็นนักกิจกรรมทำงานเกี่ยวกับสิทธิ ความเท่าเทียมทางเพศ และสาม เปิดร้านหนังสือเล็กๆ ที่ปัตตานีมีชื่อว่าร้านหนังสือบูคู (Buku) ซึ่งไม่ได้เป็นแค่ร้านหนังสือ แต่เป็นพื้นที่ทำกิจกรรมให้คนได้มาเจอ แลกเปลี่ยน พูดคุยกัน จนเกิดเป็นกลุ่ม Buku Classroom จัดกิจกรรมหลายอย่าง เช่น ห้องเรียนเพศวิถี เปิดพื้นที่ให้คนได้คุยกันในประเด็น Gender, LGBT จนกระทั่ง 2 ปีที่แล้ว เราได้ทำทีมฟุตบอลบูคู (Buku FC) เปลี่ยนพื้นที่จากในวงคุยในห้องให้เป็นกิจกรรมที่สนุกขึ้น
“เริ่มแรกที่ทำห้องเรียนเพศวิถี เราไม่ได้ตั้งใจว่าคนที่เข้าร่วมต้องเป็น LGBT เท่านั้น เราแค่อยากให้มีพื้นที่คุยเรื่องนี้แบบไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย ไม่ต้องถูกครหาว่าเป็นอะไร ใครอยากจะแชร์หรือมีคำถามเรื่องนี้จะได้คุยกันอย่างไม่โดนตัดสินเท่านั้นเอง เราอยากให้คนที่สนใจได้เข้าถึงความรู้ งานวิจัยที่ทันสมัย ไม่ใช่ข้อมูลเชิงตีตราหรือข้อมูลประหลาดๆ ในอินเทอร์เน็ต เช่น จะดูว่าใครเป็นเกย์ต้องสังเกตที่นิ้วนั้นนิ้วนี้ว่าเป็นอย่างไร” อาจารย์อันหัวเราะ
“หรือบางคนบอกว่าเพศทั้งหมดมี 16 เพศ ถ้าคุณพูดเรื่องนี้ในวงการ LGBT ที่ต่างประเทศเขาไม่เข้าใจ เพราะมันเป็นเพียงศัพท์ที่วัยรุ่นสร้างขึ้นมา เราจึงคิดว่าน่าจะดีถ้ามีวงคุยเรื่องนี้บนพื้นฐานของข้อมูลที่น่าเชื่อถือ แล้วถ้าจะเกิดเป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับกลุ่ม LGBT ที่เขาพูดหรือแสดงความเป็นตัวของตัวเองออกมาได้ เราก็ยินดี”
ทำไมต้องฟุตบอล
“ฟุตบอลเป็นกีฬาที่เริ่มต้นง่าย มีลูกบอลลูกหนึ่ง มีพื้นที่กว้างๆ ก็เล่นได้แล้ว และสิ่งที่ลึกไปกว่านั้นก็คือ ฟุตบอลถูกมองว่าเป็นพื้นที่ของผู้ชาย เราทำประเด็นความเท่าเทียมทางเพศ เลยคิดว่าตรงนี้แหละคือประตูบานใหญ่ เพราะฟุตบอลไม่ได้เป็นของผู้ชายเท่านั้น ใครๆ ก็เล่นได้ การเล่นฟุตบอลเลยได้ทั้งเรื่องความสนุก ได้ความหมายบางอย่างที่ลึกซึ้ง และเป็นสื่อในตัวเอง ดังนั้น เวลามีผู้หญิงสวมผ้าคลุมฮิญาบลงไปเล่นฟุตบอลในสนามรวมกับคนอื่นๆ ในทีม จึงกลายเป็นข้อความบางอย่างที่น่าสนใจ เพราะต่างจากภาพเดิมๆ ที่คนคุ้นเคย”
แรงบันดาลใจจากทีม Mighty Girl นักสู้ประเทศเพื่อนบ้าน
การสร้างทีมฟุตบอลหญิงในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เป็นเรื่องใหม่และเต็มไปด้วยความท้าทาย หากจะเริ่มนับหนึ่งต้องวางแผนอย่างดี เพื่อให้ความฝันนี้ดำเนินไปอย่างมั่นคง อาจารย์อันจึงศึกษาค้นคว้าจนทราบว่าบ้านใกล้เรือนเคียงอย่างประเทศกัมพูชาก็จัดตั้งทีมฟุตบอลเพื่อสร้างความตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคม
“เราเดินทางไปดูถึงที่เลย ไปคุยกับผู้อำนวยการทีมฟุตบอลหญิงชื่อ Mighty Girl ทีมนี้เขาต่อสู้ประเด็นการแต่งงานของเด็ก (Child Marriage) สืบเนื่องมาจากปัญหาความยากจน เมื่อเด็กผู้หญิงเกิดในครอบครัวยากจน พอโตเป็นสาวมักจะไม่ได้เรียนหนังสือ แต่ถูกให้แต่งงานเลยจะได้ทำมาหากิน ปัญหาคือเด็กผู้หญิงเหล่านี้ไม่มีโอกาสได้เรียนหรือพัฒนาตนเอง คนที่นั่นจึงพยายามแก้ปัญหาโดยการตั้งทีมฟุตบอลแล้วเปิดรับสมัครเด็กๆ เข้ามาอยู่ในทีม จากนั้นก็ให้ทุนการศึกษา ทำเป็นลักษณะค่าย ฝึกซ้อมไปพร้อมกับเรียนหนังสือ พัฒนาศักยภาพ สอนภาษาอังกฤษ อยากเรียนอะไรเขาก็ส่งจนจบปริญญาตรี เวลามีกิจกรรมทั้งในและต่างประเทศเขาก็พาไปดูงาน
“เราก็ได้ไอเดียมาทำในแบบของเรา คือจัดกิจกรรมเตะฟุตบอลเป็นประจำทุกสัปดาห์ เราสนับสนุนค่าใช้จ่ายในการทำกิจกรรม เวลาคนมาเล่นฟุตบอลก็ไม่ต้องเสียค่าเข้าร่วม จัดหาสนามให้ มีเสื้อให้ หรือบางคนถ้ามาไกลเราก็มีค่ารถให้ เพื่ออำนวยความสะดวกให้เขามาร่วมกันเล่นได้ เพียงแต่เราไม่มีเงินทุนขนาดจะให้ทุนการศึกษากับเด็กทุกคนอย่างเขา เราจึงโฟกัสแค่โมเดลของการทำกิจกรรม”
ลูกฟุตบอลกลมๆ เหมือนกัน แต่เล่นด้วยด้วยวิธีคิดที่แตกต่าง
“วิธีการเตะบอลของเราต่างจากฟุตบอลกระแสหลัก เช่น คนที่เน้นทักษะอาจจะมองว่าคนวิ่งเก่งที่สุด ทักษะดีที่สุด จะต้องชนะ ถ้าคิดแบบนั้นทีมเราไปแข่งกับใครก็ไม่ชนะ (หัวเราะ) หรือตามหลักทั่วไป ถ้าลงเล่น 5 คน เขาก็จะคัดคนที่เก่งที่สุดลงมาเล่น ที่เหลือก็รอข้างสนาม แต่สำหรับเรา สมมติมีคนมา 20 คน เราจะพยายามหาวิธีให้ทุกคนได้เล่น เราไม่ได้เล่นเพื่อการเอาชนะทีมอื่น แต่เล่นเพื่อที่จะบอกว่าคนทุกคนเล่นกีฬาได้ และไม่จำเป็นต้องใช้ความรุนแรง ไม่จำเป็นต้องคิดว่าการชนะคือการยิงเข้าประตู แต่การชนะอาจจะเป็นการได้เล่นด้วยกัน การได้แสดงออกแล้วรู้สึกปลอดภัย”
แตกต่างอย่างน่ารัก เปิดหน้า เปิดเผยตัวตน ทีมฟุตบอลบูคู
แม้จะชูประเด็นเรื่อง LGBT แต่ไม่ใช่ว่าทีมฟุตบอลบูคูจะมีเพียงกลุ่มคน LGBT เท่านั้น เพราะภาพที่เราเห็นในวันที่มีนัดเตะฟุตบอลกันนั้นเต็มไปด้วยผู้คนทุกเพศทุกวัย บรรยากาศในทีมจึงน่ารัก แต่ในขณะเดียวกันก็เล่นกันอย่างเอาจริงเอาจังเลยทีเดียว
“คนทั่วไปเข้าใจว่าคนที่มาเล่นฟุตบอลกับเรามีแต่กลุ่ม LGBT แต่จริงๆ มีหลากหลายมาก เราขอใช้คำว่า All Genders เพราะมีทุกเพศ ทั้งชายหญิงแท้ ทรานส์เจนเดอร์ ไบเซ็กชวล เกย์ เลสเบี้ยน ทอม ตอนนี้คนที่มาเล่นประจำทุกสัปดาห์มีประมาณ 20 กว่าคน มีทั้งเด็กนักเรียน คนทำงานแล้ว มีนักเตะคนหนึ่ง วันธรรมดาเขาทำงานอยู่ร้านขายข้าวหมกไก่ พอเสาร์-อาทิตย์ตกเย็นก็มาเตะบอลกับเรา
“คนอายุมากที่สุดที่เคยมาเตะบอลกับเราอายุ 60 ปี เราก็อยากให้เป็นแบบนั้น คือเราไม่ตั้งคำถามใดๆ กับคนที่เดินเข้ามาเลยว่าเป็นใคร มาจากไหน มีแต่ถามว่ามาเตะบอลด้วยกันใช่มั้ยคะ มาเลย ยินดีต้อนรับ
“เราคิดว่าคนที่มาเล่นกับเราแล้วติดใจ ส่วนหนึ่งคือเขาไม่ชอบความรุนแรง เพราะบรรยากาศการเล่นของเราอะลุ่มอล่วยกันมาก แต่ไม่ได้แปลว่าเราเล่นเหยาะแหยะหรือไม่มีลูกเตะแรงๆ นะคะ เพราะบางทีพอเล่นสนุก อยากจะทำประตูให้ได้ ก็มีลูกแรงๆ กันบ้าง แต่ลึกๆ แล้วไม่ได้อยู่บนพื้นฐานของการอยากเอาชนะ หรืออยากเป็นฮีโร่เพียงคนเดียว อย่างน้องที่เป็นเกย์ก็เตะไปกรี๊ดไป เพราะนี่เป็นพื้นที่ที่เขาทำได้” อาจารย์อันเล่าพร้อมเสียงหัวเราะ
“ผู้ชายที่มาเล่นกับเราเขาพิเศษมาก เราชอบมาก เพราะเขาเปิดกว้าง เตะบอลกับผู้หญิงได้ เวลาเราพูดถึงทีมฟุตบอลที่มีความหลากหลายทางเพศในพื้นที่สามจังหวัดฯ มันดูท้าทายหรือดูซีเรียส แต่ถ้าใครได้มาเห็นภาพจริงๆ ในสนามมันไม่ได้เป็นแบบนั้นเลย มันเป็นภาพที่น่ารักมากจริงๆ
“เดือนพฤศจิกายนนี้เรากำลังจะไปเตะบอลกับทีม Play Onside เป็นทีมเด็กไทยกับเด็กหลากหลายชาติพันธุ์ที่อาศัยอยู่แถบชายแดนอำเภอแม่สอด จังหวัดตาก เป็นลักษณะ Border to Border ทีมของเราก็กำลังฝึกซ้อมกันอยู่” อาจารย์อันยิ้มกว้าง
กระแสต่อต้านและบทพิสูจน์ความแข็งแกร่งของหัวใจทีมบูคู
เป็นไปอย่างที่หลายคนคาดคิดว่าการทำทีมฟุตบอลในแบบของ Buku FC คงจะสร้างแรงกระเพื่อมออกไปในสังคมสามจังหวัดฯ ไม่น้อย เพราะตามหลักศาสนาอิสลามแล้วความรักในเพศเดียวกันถือว่าเป็นบาป ดังนั้น การรวมตัวกันของกลุ่มคน LGBT อย่างทีมบูคู แน่นอนว่าจะต้องเผชิญแรงต่อต้าน ซึ่งอาจารย์อันได้เปิดใจเล่าถึงสิ่งที่เธอเจอว่ามันหนักหนาไม่น้อย ถึงขั้นเกือบจะต้องล้มเลิกการเตะบอลไป
“ที่ผ่านมา เราผ่านเรื่องหนักๆ มาแล้วในช่วงต้นปี 2017 หลังจากสารคดีกางเมืองช่องไทยพีบีเอสมาถ่ายทำเรื่องงานของเรา ตอนสัมภาษณ์เราคุยกันนานหลายชั่วโมงแล้วไปตัดเหลือ 20 นาที ด้วยความที่เรามีความเป็นเฟมินิสม์ในวิธีคิด พอเราพูดเรื่องความไม่เท่าเทียมของหญิงชาย การเลือกปฏิบัติ ก็จะให้เหตุผลที่ค่อนข้างซีเรียส คำพูดลักษณะนี้พอไปอยู่บนแบ็กกราวนด์ที่เป็นภาพมัสยิด ภาพชาวบ้าน มันจึงเหมือนกับว่าเราไปวิพากษ์วิจารณ์สังคม ยิ่งบวกกับภาพผู้หญิงเตะบอล ภาพของคนหลากหลายทางเพศ คนดูก็โยงกันไปหมด กลายเป็นว่าเราทำในสิ่งที่เขาห้ามทุกอย่าง
“คนดูบางส่วนเลยเข้าใจว่าเราพาเด็กผู้หญิงมาเล่นบอลแล้วเด็กจะกลายเป็นทอม นี่เป็นข้อหาใหญ่มาก เจอกระแสตอบกลับแรงๆ ในโซเชียลมีเดีย ถึงขั้นมีคนมาบอกให้เราหยุดเตะบอล วิธีการรับมือกับสิ่งที่เกิดขึ้นคือเราใช้วิธีการเขียนบทความลงในเว็บไซต์ประชาไท และ DeepSouthWatch.org เพื่อสื่อสารว่าเรากำลังทำอะไรอยู่ เป็นคำอธิบายอย่างเป็นทางการว่าห้องเรียนเพศวิถีกับการเตะบอลทำให้คนที่มาเข้าร่วมกลายเป็น LGBT ได้จริงหรือไม่ โดยใช้หลักวิชาการเป็นเหตุผล เพราะคนที่มาห้องเรียนเพศวิถี ครึ่งหนึ่งไม่ใช่ LGBT และสิ่งที่เป็นจริงคือเป็นไปไม่ได้ที่การร่วมวงคุยใน 1 วันแล้วคนนั้นจะกลายเป็น LGBT การเตะบอลก็เช่นเดียวกัน
“แต่ถึงเราเขียนบทความออกไปก็ใช่ว่าบางคนจะอ่าน คนที่ด่าก็ด่าต่อไป เขาไม่สนใจพยายามทำความเข้าใจอยู่แล้ว แต่กับคนกลางๆ ที่กำลังต้องการคำอธิบาย เราคุยกับเขาได้ เหตุการณ์นั้นทำให้เกิดปรากฏการณ์ที่คนในพื้นที่สามจังหวัดฯ ลุกขึ้นมาคุยกันในเรื่องเพศวิถี เรื่อง LGBT อย่างไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน เพราะในอดีตถ้าพูดเมื่อไหร่ก็เสี่ยงที่จะถูกตีตรา มันจึงเป็นสิ่งที่พูดไม่ได้ เช่น คนมักจะมองว่าใครมีเพื่อนเกย์คนนั้นก็เป็นเกย์เหมือนกัน หรือไม่คนก็อาจจะคิดว่าถ้าพูดเรื่องนี้แปลว่าคุณสนับสนุนเรื่องนี้ กลายเป็นโดนตีตราหนักขึ้นไปอีก
เพศ ข้อจำกัดทางศาสนา และทางออกของกลุ่ม LGBT ในสามจังหวัดชายแดนภาคใต้
มาถึงตรงนี้ หลายคนคงสงสัยว่าแล้วกลุ่ม LGBT ที่อาศัยอยู่ในพื้นที่ที่เคร่งครัดทางศาสนาอิสลามสูงอย่างสามจังหวัดชายแดนภาคใต้เขาใช้ชีวิตอย่างไร ในเมื่อสิ่งที่เขาเป็นขัดกับหลักทางศาสนา
อาจารย์อันอธิบายให้เราฟังจากประสบการณ์ที่เกิดขึ้นในวงคุย Buku Classroom ว่า “กลุ่มคน LGBT ในพื้นที่สามจังหวัดฯ เท่าที่เราสัมผัส มีจุดที่เหมือนกันคือ คนเหล่านี้อยู่ยาก เขาอยู่ด้วยความรู้สึกผิด รู้สึกลึกๆ ว่าตนเองกำลังทำอะไรผิดตลอดเวลา เขาจะพยายามทำให้ตนเองดีในบางเรื่องเป็นการชดเชย เช่น ตั้งใจเรียน หรือเคร่งครัดในศาสนาในส่วนที่เขาทำได้ เช่น น้องคนหนึ่งเป็นทอม แต่เขาละหมาด 5 เวลา ตรงเวลา ถ้าไม่ได้ละหมาดนี่ถึงขั้นร้องไห้เลยนะ
“แต่บางคนก็เป็นอีกขั้วไปเลย คือเขาแก้ปัญหาเรื่องนี้โดยการออกจากความเคร่งครัดทางศาสนา เพราะในเมื่อเขาได้ออกจากกรอบความเหมาะสมบางอย่างมาแล้ว เรื่องอื่นก็ไม่ทำตามไปเลย รวมถึงเราก็เจอกรณีที่ครอบครัวเข้าใจ คือไม่ได้สนับสนุนว่าสิ่งที่เป็นคือสิ่งที่ดี แต่เขาให้ความรัก ความเข้าใจ ว่าถึงจะเป็นอย่างไรก็ยังเป็นลูก และยินดีที่จะปกป้องสนับสนุนลูกของตนเอง”
Sport Activism การเคลื่อนไหวทางสังคมโดยใช้กีฬา สิ่งที่ทั่วโลกกำลังบูม
ปีนี้อาจารย์อันได้รับเชิญให้ไปเข้าร่วมการอบรมเรื่องฟุตบอลหญิงที่ประเทศเยอรมนี จัดโดยองค์กร Discover Football เธอได้รับความรู้และแรงบันดาลใจมากมายกลับมาเพื่อขับเคลื่อน Buku FC ให้ไปถึงฝั่งฝัน
“ที่นั่น เราพบว่ามันคือโลกอีกใบที่ใหญ่มากๆ Sport Activism หรือการเคลื่อนไหวทางสังคมโดยใช้กีฬา เป็นเรื่องใหม่สำหรับประเทศไทย เพราะถึงเราจะเล่นกีฬา ฟุตบอลนี่คือกีฬาอันดับหนึ่งเลยก็ว่าได้ แต่เราไม่เคยใช้เรื่องพวกนี้ในการเคลื่อนไหวทางสังคม ฟุตบอลยังคงเป็นเรื่องของการต่อสู้แข่งขันและเรื่องธุรกิจมาเสมอ
“ในขณะที่นานาชาติเขาขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมโดยใช้กีฬาเป็นเครื่องมือสื่อสารกันมากมาย เช่น ในประเทศแอฟริกาใต้ใช้ฟุตบอลสื่อสารถึงปัญหาความรุนแรงต่อเด็กผู้หญิง ชวนเด็กผู้หญิงออกมาเล่นกีฬาเพื่อสร้างความแข็งแกร่งให้กับตนเอง รวมไปถึง FIFA ก็มีโครงการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ เพราะนักกีฬาชายก็มีบางส่วนที่เป็นเกย์ ในอดีตเขาไม่สามารถแสดงตัวตนออกมาได้ แต่ตอนนี้เขากล้าออกมาพูดว่าฉันเป็นนักฟุตบอล ในขณะเดียวกันฉันก็เป็นเกย์ และยังเคยมีการใส่ถุงเท้าสีรุ้งลงเตะในสนามเพื่อรณรงค์เรื่องความหลากหลายทางเพศ คือทั้งทีมก็ไม่ได้เป็น LGBT ทุกคน แต่เขายินดีทำเพื่อสื่อข้อความออกไปสู่ผู้ชม
“ตัวอย่างที่ใกล้ที่สุดคือฟุตบอลโลก 2018 ที่ประเทศรัสเซียเป็นเจ้าภาพ ก็รณรงค์เรื่องยุติความรุนแรงต่อผู้หญิง เพราะในอดีตข่าวกีฬามักถูกมองว่าเป็นพื้นที่ของผู้ชาย ดังนั้น ผู้สื่อข่าวผู้หญิงจึงมักโดนลวนลามขณะปฏิบัติหน้าที่ ฟุตบอลโลกครั้งนี้จึงรณรงค์โดยการนำคลิปของนักข่าวหญิงที่โดนลวนลามขณะรายงานข่าวมาขึ้นจอระหว่างพักครึ่งการแข่งขัน ซึ่งมีเยอะมาก ต่อกันเป็นความยาวหลายนาที สร้างแรงกระแทกไปสู่ความรู้สึกของผู้ชม ทำให้สังคมเกิดความตระหนักถึงเรื่องนี้ขึ้นมา
“ในโลกของเราก็มีกิจกรรมเคลื่อนไหวทางสังคมโดยใช้กีฬาเยอะมากในแทบทุกประเด็นทางสังคม เช่น เรามีเพื่อนที่ทำงานเกี่ยวกับผู้อพยพในฮ่องกง เขาชวนผู้อพยพมาเตะบอลกัน เพราะเดิมทีคนท้องถิ่นรู้สึกว่าผู้อพยพคือคนที่เข้ามาแย่งทรัพยากรที่มีน้อยอยู่แล้ว เป็นคนอันตราย การจัดการแข่งขันฟุตบอลทำให้ผู้ชมได้เห็นผู้อพยพเป็นมนุษย์มนาเหมือนกัน หรือในยุโรปก็มีกิจกรรมคล้ายๆ กัน แต่ทำกับคนไร้บ้าน (Homeless) โดยจัดเป็นทัวร์นาเมนต์เลย ให้คนไร้บ้านมาแข่งฟุตบอล ทั้งหมดก็เพื่อที่จะให้สังคมได้มองเห็นคนเหล่านี้ด้วยมุมมองใหม่
เพียงแค่ ‘ความคิด’ ก็สร้างแรงกระเพื่อมในสังคมได้
การขับเคลื่อนทางสังคมหรือการเปลี่ยนแปลงสังคมอาจฟังดูยิ่งใหญ่ ไกลตัว และเกินกำลังของคนธรรมดาสามัญทั่วไป แต่สำหรับอาจารย์อัน เธอมองว่าทุกจุดเริ่มต้นของสิ่งที่ยิ่งใหญ่มักมาจากความคิด หรือกรรมวิธีทางสมองควบรวมกับจิตใจ ที่ไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายแม้แต่บาทเดียว
“ใครๆ ก็ลุกขึ้นมาทำอะไรบางอย่างเพื่อสังคมได้ เมื่อเห็นอะไรบางอย่างเกิดขึ้น แค่คุณคิดกับมันก็แปลว่าคุณกำลังทำแล้วนะ หรือการที่คุณออกมาแล้วสนใจมันสักหน่อยว่ามีอะไรเกิดขึ้นในสังคม แล้วนำไปสู่การคิดต่อ คิดตาม มันก็อาจจะเกิดประโยชน์บางอย่าง เช่น มองเห็นทีมบูคูเตะบอล คุณอาจจะไม่เห็นด้วยก็ได้นะ นั่นก็เป็นการลงมือทำอย่างหนึ่ง ดีกว่านิ่งเฉยไปเลย เพราะมันจะนำไปสู่การคิดต่อว่าทำไมถึงไม่เห็นด้วย มันมีที่มาที่ไปอย่างไร แล้วสุดท้ายคำตอบอาจจะเปลี่ยนหรือไม่เปลี่ยนก็มาดูกัน เราคิดว่าทุกคนมีส่วนร่วมกับการทำให้สังคมดีขึ้นได้ ทำได้ง่ายๆ เริ่มต้นจากความคิดของเราเอง”

ขอบคุณ ข่าวจาก  https://readthecloud.co/people-bukufc/