สหประชาชาติ กลุ่มสิทธิฯ ประณามการรังคัดรังแกชาวเพศทางเลือก

//

lgbt Thai Team

beefhunt

Table of Contents

เจ้าหน้าที่องค์การสหประชาชาติเมื่อวันศุกร์ที่ 13 ออกแถลงการณ์ประณามการจับกุมและลงโทษชาวเกย์และคนมีเพศสภาวะตามทางเลือกของตน (LGBT) ในอาเซอร์ไบจาน อียิปต์ และอินโดนีเซีย ที่เกิดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้

โดยกล่าวว่า รัฐบาลทั้งสามได้กระทำการละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศโดย หน่วงเหนี่ยวกักขัง รุมข่มเหง และทำทารุณ คนเหล่านั้น

Love2test

หลายหน่วยงานของกลุ่มสิทธิมนุษยชนและสิทธิชาวเกย์ พากันออกมาส่งเสียงเรียกร้องให้ประเทศทั้งสามปล่อยตัวผู้ถูกควบคุมให้เป็นอิสระ ยกเลิกการรังคัดรังแก และเลิกใช้กฎหมายล้าหลัง พร้อมทั้งแฉถึงการทรมานและประจานหยามหยันให้ผู้ต้องหาได้รับความอับอาย        ข่าวเกย์

ผู้คนที่ถือตนเองว่ารวมอยู่ในกลุ่มชน LGBT หรือ LGBTQ เป็นผู้ที่มีเพศสภาวะหรือความรู้สึกส่วนตนไม่ตรงกับเพศกำเนิด และในประเทศประชาธิปไตยส่วนใหญ่ไม่ถือว่าเป็นความบกพร่องทางจิตใจหรือเป็นการผิดกฎหมาย ได้แก่ หญิงเลสเบียน (lesbian) ชายรักร่วมเพศ (gay) คนที่มีเพศสัมพันธ์ได้กับทั้งสองเพศ (bisexual) คนข้ามเพศ (transgender) และคนผิดแปลกทางเพศหรือยังคงมีคำถามเกี่ยวกับเพศสภาวะของตนเอง (queer หรือ question) และในยุคปัจจุบันมักเรียกกันโดยรวมว่า เป็นคนใน ‘เพศทางเลือก’

การจับกุมชาวมุสลิมประมาณ 80 คนในอาเซอร์ไบจาน 50 คนในอียิปต์ และ 58 คนในอินโดนีเซีย ระหว่างสองสามสัปดาห์ที่ผ่านมา ดูเหมือนไม่มีสิ่งใดเกี่ยวข้องประสานกัน แต่เจ้าหน้าที่สหประชาชาติกล่าวว่า การจับกุมเปิดเผยให้เห็นถึงรูปแบบแผนเฉพาะของการเลือกปฏิบัติบางประการ และการล่วงละเมิดที่อาจทำให้เกิดความเสียหายต่อเป้าหมายเพื่อการพัฒนาด้านต่างๆ ในวงกว้าง

ผู้มีอำนาจในบากู (Baku) เมืองหลวงของอาเซอร์ไบจาน ได้จับกุมบุคคลกว่า 80 คน ในฐานะที่เป็นเลสเบียน เกย์ กะเทย หรือคนข้ามเพศ ตั้งแต่กลางเดือนกันยายน โดยมีรายงานว่า บางคนถูกเฆี่ยนตี ทำให้ช็อกด้วยกระแสไฟฟ้า และบังคับให้โกนผม รูเพิร์ต โคลวิลล์ (Rupert Colville) โฆษกของกรรมาธิการสิทธิมนุษยชนแห่งองค์การสหประชาชาติแถลงต่อผู้สื่อข่าวในกรุงเจนีวา

นอกจากนี้ตำรวจยังได้ใช้วิธีการประจานผู้เคราะห์ร้ายให้รู้สึกอัปยศอดสูต่อสาธารณะด้วยรูปแบบต่างๆ กัน รวมทั้งบังคับให้หลายคนที่ถูกจับกุมต้องเข้ารับการตรวจสุขภาพ และเปิดเผยผลหรือรายละเอียดเกี่ยวกับรายงานทางการแพทย์ของผู้คนเหล่านี้ให้แก่ผู้สื่อข่าว

เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 12 ตุลาคม กลุ่มสิทธิมนุษยชนจำนวนหนึ่งเรียกร้องให้อาเซอร์ไบจานปลดปล่อยชาว LGBT หลายสิบคนจากที่คุมขัง หลังจากที่นักเคลื่อนไหวออกมาแพร่ข่าวว่า ได้มีการจับกุมและการละเมิดสิทธิพลเมืองหลายประการในประเทศเอเชียกลางแห่งนี้

หน่วยงานผู้สนับสนุนระหว่างประเทศ ‘สมาพันธ์ LGBT นานาชาติ’ (International Lesbian, Gay, Bisexual, Trans and Intersex Association: ILGA) ซึ่งมีองค์กรสมาชิกมากกว่า 1,200 แห่ง แถลงว่า เป็นการยากที่จะระบุว่าการปราบปรามมีความรุนแรงระดับใด แต่การจับกุมก็ได้เกิดขึ้นอย่างยืดเยื้อช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา และระบุว่าประเทศที่มีประชากรชาติพันธุ์คอเคเชียนแห่งนี้เป็นที่รู้จักกันดีว่ามีมาตรการปฏิบัติอย่างเลวร้ายแสนสาหัสต่อพลเมืองชาว LGBT ของตนขนาดไหน

ทนายความของผู้ถูกจับกุมหลายคนกล่าวว่า ลูกความของตนถูกทุบตีทำร้ายร่างกาย รวมทั้งโดนด่าทอประณามด้วยวาจา และถูกบังคับให้ตรวจสุขภาพ แต่รายงานนี้ไม่สามารถตรวจสอบยืนยันได้อย่างเป็นอิสระ

เจ้าหน้าที่ของอาเซอร์ไบจานทั้งในกรุงลอนดอนและบากูไม่ยอมตอบสนองต่อคำเรียกร้องขอให้แสดงความคิดเห็น

“ไม่มีเหตุผลชอบธรรมใดๆ ทั้งสิ้นสำหรับการเพ่งเล็งเป้าหมายไปยังประชาชนที่เห็นว่าเป็นสมาชิกของชุมชน LGBT อย่างไม่เลือกหน้า” ผู้บริหารของ ILGA ในยุโรป เอเวอลีน พาราดิส (Evelyne Paradis) กล่าว

“เรากังวลเรื่องชะตากรรมของผู้ที่ตกเป็นเหยื่อของการปราบปราม และกำลังเรียกร้องให้ปล่อยตัวคนที่ยังคงถูกคุมขังอยู่ในขณะนี้” เธอระบุในแถลงการณ์

กลุ่มสิทธิเกย์อังกฤษ ‘สโตนวอลล์’ (Stonewall) กล่าวว่าเจ้าหน้าที่ได้อ้างว่าการจับกุมเป็นส่วนหนึ่งของการปราบปรามการค้าประเวณี แต่นักเคลื่อนไหวระบุว่าคน LGBT ถูกหมายหัวไว้โดยเฉพาะแล้ว และเสริมว่า พวกผู้หญิงแปลงเพศถูกบังคับให้โกนผม

นักเคลื่อนไหวในท้องถิ่นกล่าวว่าพวก LGBT อย่างน้อย 50 คน ถูกกักตัวไว้หลังการจู่โจมจับกุมโดยตำรวจทั่วเมืองบากูในช่วงสองสัปดาห์ที่ผ่านมา “ถนนสายเมน สถานีรถไฟฟ้าใต้ดิน และสถานที่ที่เป็นมิตรกับ LGBT เช่นคลับ ผับ และบาร์ เป็นเป้าหมายหลัก” นักกิจกรรมจากบากูที่ไม่ต้องการเปิดเผยชื่อบอกกับ Reuters

กลุ่มสิทธิมนุษยชนในสวีเดน ‘ผู้พิทักษ์สิทธิพลเมือง’ (Civil Rights Defenders) กล่าวว่า จำนวนการจับกุมอาจมีถึงหลายร้อยคน และเสริมว่า จำนวนมากได้รับการปล่อยตัวหลังจากที่ถูกบังคับให้บอกที่อยู่ของเพื่อนสมาชิกชุมชนชาว LGBT คนอื่นๆ

ระหว่างการพูดคุยกับสำนักข่าวท้องถิ่น APA โฆษกกระทรวงมหาดไทยปฏิเสธการบุกเข้าจับกุมโดยเพ่งเล็งกลุ่มคนเพศทางเลือก โดยบอกว่าเรื่องนี้เกี่ยวข้องกับความสงบเรียบร้อยของสาธารณชน

โฆษก เออร์ชาน ซาคิดอฟ (Eskhan Zakhidov) กล่าวว่า “ผู้ถูกจับกุมคือคนที่แสดงการกระทำที่ขาดความเคารพต่อผู้อื่น สร้างความเดือดร้อนรำคาญ เป็นคนที่น่ารังเกียจ และเจ้าหน้าที่สาธารณสุขเชื่อว่าพวกนี้มีพาหะเชื้อโรคที่อาจติดต่อผู้อื่นได้”

การเป็นเกย์ไม่ใช่เรื่องผิดกฎหมายในอาเซอร์ไบจาน แต่เมื่อสหภาพโซเวียตล่มสลายลง ประเทศในกลุ่มชาติพันธุ์ผิวขาวนี้ถูกจัดอันดับอยู่ที่ตำแหน่งเลวร้ายที่สุดในยุโรปสำหรับคน LGBT ในการสำรวจปี 2016 โดย ILGA

การระดมปราบปรามดังกล่าวเกิดขึ้นตามมาหลังจากการล้อมจับชาว LGBT ในแคว้นเชชเนียของสมาพันธ์รัสเซีย เพื่อนบ้านใกล้เคียงกัน ซึ่งเชื่อกันว่ามีชายชาวเกย์กว่า 100 คนถูกกวาดล้างจับกุมและทรมานเมื่อต้นปีนี้

นอกจากนี้ โฆษกกระทรวงมหาดไทยในบากูยังกล่าวว่า เจ้าหน้าที่ทำงานตอบสนองต่อคำเรียกร้องของประชาชนในการปราบปรามการค้าประเวณี แต่ทนายความของผู้ถูกคุมขังกล่าวว่า ส่วนใหญ่ไม่ได้เกี่ยวข้องกับการค้าประเวณี และข้อกล่าวหานี้เป็นเพียงข้ออ้าง

ในที่สุด ทุกคนที่ถูกคุมตัวในอาเซอร์ไบจานได้รับการปลดปล่อย แต่บางคนก็ถูกจำคุกระยะสั้นๆ ในข้อกล่าวหาเรื่อง ‘นักเลงอันธพาล’ และ ‘ขัดขืนคำสั่งของตำรวจ’ รูเพิร์ต โคลวิลล์ แห่งยูเอ็นแถลง เขากล่าวเพิ่มเติมว่า

การจับกุมใดๆ ด้วยเหตุผลเรื่องรสนิยมทางเพศ หรืออัตลักษณ์ทางเพศ ไม่ว่าจะเป็นสภาพตามจริงหรือโดยนัยที่กำหนดรู้ได้ เป็นการกระทำโดยพลการและละเมิดกฎหมายระหว่างประเทศ

ทางการอียิปต์ได้จับกุมผู้คนกว่า 50 คนในช่วงไม่กี่สัปดาห์ที่ผ่านมา โดยอิงตามเหตุผลของรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศที่เข้าใจว่าแฝงเร้นอยู่ในตัวตน ซึ่งบางส่วนโดนจับหลังจากเจ้าหน้าที่ปลอมตัวหลอกล่อให้พูดคุยกันในเว็บไซต์และห้องสนทนาออนไลน์หลายแห่ง โฆษกโคลวิลล์กล่าว

ชายสองคนถูกจับกุมหลังจากโบกธงสีรุ้งระหว่างคอนเสิร์ตดนตรีร็อคที่ชานกรุงไคโรเมื่อเดือนที่แล้ว เขากล่าว ภาพการโบกธงของผู้ชมการแสดงโดยวงดนตรีแห่งเลบานอน ที่มีนักร้องเกย์อย่างเปิดเผยคนหนึ่งเป็นผู้นำวง ปรากฏอยู่ในเว็บไซต์สื่อสังคมออนไลน์ และถูกวิจารณ์อย่างมากว่า เป็นการพยายามที่จะทำให้อียิปต์เสื่อมเสียชื่อเสียง

ตำรวจสอบปากคำผู้ต้องหาทั้งสองด้วยข้อกล่าวหา ‘เข้าร่วมกับกลุ่มผิดกฎหมายซึ่งมีจุดประสงค์เพื่อส่งเสริมการรักร่วมเพศ’

โฆษกโคลวิลล์แห่งยูเอ็นกล่าวว่า ข้อกล่าวหาในการจับกุมดังกล่าวรวมถึงการ ‘ทำผิดศีลธรรมทางโลกีย์เป็นนิสัย’ ‘ปลุกระดมความลามกอนาจารและการเสเพล’ และ ‘เข้าร่วมกับกลุ่มต้องห้าม’ บางคนโดนตรวจสอบด้วยการล่วงล้ำช่องคลอดและทวารหนัก เขาระบุ มาตรการดังกล่าวถูกประณามโดยคณะกรรมาธิการต่อต้านการทรมานของสหประชาชาติว่าเป็นเรื่องที่ “โหดร้าย ไร้มนุษยธรรม และดูแคลน”

พวกที่ถูกจับกุมในอียิปต์มีเพียงไม่กี่คนเท่านั้นที่ได้รับการปล่อยตัว ชาย 10 คนถูกจำคุกตั้งแต่หนึ่งถึงหกปี และยังมีอีกหลายคนที่ถูกจับกำลังรอการพิจารณาคดีในข้อหาลักษณะนี้

พวกนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชนแห่งอียิปต์ ผู้ซึ่งกล่าวว่านับตั้งแต่ปี 2013 รัฐบาลได้จับกุมเกย์และบุคคลข้ามเพศมาแล้วมากกว่า 300 ราย ประกาศประณามการปราบปรามของรัฐว่า เป็นความพยายามจะหันเหความสนใจของสาธารณชนจากปัญหาสังคมด้านอื่นๆ

ที่อินโดนีเซีย ตำรวจบุกเข้าจับกุมชาว LGBT จำนวนมาก ที่ห้องซาวน่าในกรุงจาการ์ตาเมื่อสัปดาห์ที่แล้ว “บนพื้นฐานของนัยกำหนดรู้รสนิยมทางเพศของบุคคลเหล่านั้น” โฆษกโคลวิลล์กล่าวในคำแถลง ต่อมาหลายคนได้รับการปล่อยตัว แต่ผู้ชายสี่คนและผู้หญิงคนหนึ่งถูกตั้งข้อหาภายใต้ ‘กฎหมายว่าด้วยสิ่งลามกอนาจาร’ ซึ่งเคยถูกใช้เพื่อลงโทษคนที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับบุคคลเพศเดียวกัน

โฆษกโคลวิลล์แห่งยูเอ็นกล่าวว่า ทางการอินโดและอีกทั้งสองประเทศมักตั้งข้อกล่าวหาว่า ผู้ที่ถูกจับมีพฤติกรรมขายบริการทางเพศ “แม้ว่าเกือบทุกกรณีผู้ต้องหาปฏิเสธข้อกล่าวหาดังกล่าว หรือแสดงให้เห็นว่าพวกเขาถูกบังคับให้สารภาพผิด”

การรักร่วมเพศไม่เป็นเรื่องผิดกฎหมายในอินโดนีเซีย ซึ่งเป็นประเทศที่มีประชากรมุสลิมมากที่สุดในโลก และส่วนใหญ่รัฐไม่เข้าก้าวก่ายบุคคลในประเด็นจริยธรรมส่วนตัว แต่เนื่องจากระยะหลังกลุ่มศาสนาอนุรักษนิยมพุ่งขึ้นสู่ความโดดเด่นทางการเมืองมากกว่าแต่ก่อน ตำรวจก็ยิ่งหาทางปราบปรามชุมชน LGBT หนักข้อขึ้น

ในการกวาดล้างเมื่อสุดสัปดาห์นี้ ทางการจับกุมชาวอินโดนีเซียและชาวต่างชาติรวม 58 คนที่ห้องซาวน่าในจาการ์ตา ซึ่งเป็นที่นิยมในหมู่ชาวเกย์ แล้วกล่าวหา LGBT เหล่านั้น ว่าล่วงละเมิดกฎหมายลามกอนาจารของประเทศ

กฎหมายเกี่ยวกับสื่อลามกของอินโดนีเซียฉบับปี 2008 นี้ถูกวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักจากผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายและนักเคลื่อนไหวด้านสิทธิมนุษยชน ว่าเต็มไปด้วยความคลุมเครือ และระบุเหตุผลทางเทคนิคไม่อนุญาตให้มีการแสดงออกทางเพศต่อสาธารณะอย่างใดอย่างหนึ่งเพื่อแสวงผลกำไร แต่ในทางปฏิบัติมักถูกอ้างใช้ดำเนินการกับกลุ่มการเมืองที่อ่อนพลังและตกเป็นเหยื่อ

“เราเห็นว่าตำรวจหันมาสนใจกลุ่ม LGBT มากขึ้นโดยใช้กฎหมายลามกอนาจาร” ริกกิ กูนาวัน (Ricky Gunawan) ผู้อำนวยการสถาบันความช่วยเหลือด้านกฎหมายของชุมชน (Community Legal Aid Institute) ในกรุงจาการ์ตากล่าว ตามที่เป็นจริงเหตุการณ์เมื่อสุดสัปดาห์ที่ผ่านมานับเป็นครั้งที่สามแล้วที่ได้รับรายงานภายในปีนี้ เมื่อเดือนเมษายน ตำรวจเมืองสุราบายาได้บุกเข้าทลายงานปาร์ตี้ในโรงแรมแห่งหนึ่งด้วยเหตุผลที่คล้ายคลึงกัน แล้วจับกุมชาย 14 คน และเมื่อเดือนพฤษภาคม 141 คนก็ถูกจับที่ห้องซาวน่าอีกแห่งหนึ่งในจาการ์ตา

“ชุมชนเหล่านี้มักถูกกำหนดเป็นเป้าหมายโดยตำรวจ แต่เราเห็นว่าเหตุการณ์เลวร้ายลงเรื่อยมาตั้งแต่ปีที่แล้ว เมื่อนักการเมืองระดับสูงหลายคนได้แถลงการณ์เกี่ยวกับชุมชน LGBT ว่าผิดศีลธรรม หรือเป็นภัยคุกคามต่อประเทศชาติ” กูนาวันกล่าว

ความคิดเห็นของสาธารณชนหลายอย่างอาจทำให้ตำรวจเชื่อว่า การปราบปรามดังกล่าวเป็นไปตามที่ถูกควร แต่ส่วนที่มีชื่อเสียงโด่งดังสุดยอดเป็นคำกล่าวโดยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม รามิซาร์ด ไรยาคูดู (Ryamizard Ryacudu) ซึ่งพูดเมื่อปีที่ผ่านมาว่า ประเด็น LGBT เปรียบเสมือน ‘สงครามตัวแทน’ (proxy war) ที่กำลังคุกคามอำนาจอธิปไตยของชาติ

“นี่เป็นสงครามสมัยใหม่แบบหนึ่ง” เขากล่าวตามที่นิตยสาร Tempo ลงพิมพ์ไว้

มันมีอันตรายที่เราไม่สามารถมองเห็นได้ว่าใครเป็นศัตรูของเรา แต่อยู่มาวันหนึ่งทุกคนก็ถูกล้างสมองไปอย่างไม่รู้ตัว แล้วขณะนี้ชุมชน (LGBT) ก็ส่งเสียงเรียกร้องเสรีภาพมากขึ้น มันเป็นภัยคุกคามชัดๆ

ประธานาธิบดีโจโค ‘โจโควี’ วิโดโด (Joko ‘Jokowi’ Widodo) กล่าวเมื่อปีที่แล้วว่า หน้าที่ของตำรวจคือการปกป้องชุมชน LGBT และกลุ่มอื่นๆ จากการเลือกปฏิบัติ แต่เขาก็ยังคงเลี่ยงการอภิปรายถึงประเด็นนี้ตรงๆ ในขณะที่การปราบปรามทวีความรุนแรงมากขึ้น

ตั้งแต่ปลายปีที่แล้ว กลุ่มมุสลิมหัวรุนแรงผงาดขึ้นมีบทบาทสำคัญทางการเมืองของอินโดนีเซีย เช่น กลุ่ม ‘แนวหน้าปกป้องอิสลาม’ (Islamic Defenders Front: FPI) ซึ่งมีอิทธิพลในการจัดชุมนุมมวลชนเรียกร้องให้จำคุกผู้ว่าราชการชาวคริสต์คนหนึ่งซึ่งถูกกล่าวหาว่ากระทำการดูหมิ่นศาสนาอิสลาม แล้วก็ทำได้สำเร็จตามปรารถนาเมื่อเดือนพฤษภาคม

และที่น่าแปลกคือ กฎหมายการกระทำลามกอนาจารนี้ก็ถูกใช้เพื่อมุ่งโค่นล้มนักการเมืองอิสลามหัวรุนแรงเองด้วย รายหนึ่งถูกข้อหาส่งข้อความและภาพลามกถึงภรรยาน้อยทางโทรศัพท์ จนต้องหนีออกนอกประเทศ นักวิเคราะห์หลายคนสงสัยว่าเจ้าหน้าที่กำลังใช้กฎหมายนี้เพื่อตัดปีกหางของขบวนการอิสลามที่ชักจะมีพลังมากเกินไปหน่อย

ข้อยกเว้นเกี่ยวกับความอดทนเรื่องทางเพศส่วนตัวของอินโดนีเซียที่แจ่มแจ้งคือ ในจังหวัดอะเจห์ ดินแดนอนุรักษนิยมและกึ่งปกครองตนเอง ซึ่งตอนนี้ศาลชารีอะห์ใช้วิธีการลงโทษจำเลยต่อหน้าสาธารณะ เมื่อเดือนพฤษภาคมชายสองคนถูกลงโทษเฆี่ยนตีด้วยหวายจากการมีเพศสัมพันธ์กัน

แต่แม้กระทั่งในเมืองใหญ่ที่มีเสรีภาพมาก เช่น จาการ์ตา ซึ่งมีคลับสำหรับกลุ่มเกย์และกลุ่มผู้สนับสนุนที่สามารถทำงานกันได้อย่างเปิดเผย การจับกุมครั้งนี้ก็ยังส่งผลกระทบต่อชุมชน LGBT ที่นั่นอย่างมาก

“สถานการณ์ตอนนี้น่าเศร้าเหลือเกิน” อัซริล ฮาดิมีรซา (Azril Hadimirza) ประธาน ‘เครือข่ายพลเมืองหลากหลาย’ (People’s Diversity Network) ซึ่งเป็นองค์กรสนับสนุนใหม่สำหรับชาว LGBT อินโดนีเซีย และชนกลุ่มน้อยอื่นกล่าว “คน LGBT ต้องเผชิญหน้ากับการเลือกปฏิบัติในที่ทำงานหรือครอบครัวของตนเสมอมาอยู่แล้ว และตอนนี้ตำรวจก็ยิ่งลงมือใช้อำนาจรัฐกับเราในพื้นที่ส่วนตัวของเราหนักข้อขึ้นอีกด้วยเช่นกัน”

ขอบคุณ ข่าวจาก https://waymagazine.org/un_lgbtq/