กลางสัปดาห์ที่ผ่านมา พวกเรานัดพบกันที่คาเฟ่ใกล้สำนักงานของบางกอกเรนโบว์ องค์กรเพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศและความเท่าเทียมทางสังคม ซึ่งก่อตั้งอย่างเป็นทางการเมื่อกว่า 10 ปีก่อน
เราสนทนากันอย่างออกรส และหนึ่งในเนื้อหาที่พูดคุยก็มีเรื่องเวทีประกวด Mr. Gay World Thailand 2019 ซึ่งกำลังดำเนินเป็นครั้งที่3 ในปลายปีนี้และผู้ชนะจะได้รับสิทธิไปประกวดในเวทีระดับโลกอย่าง Mr. Gay World อย่างไรก็ตามนี้ถ้าใครติดตามการประกวดเวทีนี้มาบ้างก็จะรู้ว่าพื้นที่แห่งนี้ไม่ได้เป็นการประชันเกย์หล่อล้ำ แต่กลับให้น้ำหนักกับการนำเสนอแคมเปญเพื่อประโยชน์สังคม โดยไม่ลืมจะเชื่อมโยงกับกลุ่ม LGBT (lesbian, gay, bisexual, and transgender) ทั้งนี้เพื่อให้สังคมไทยอยู่ร่วมกันอย่างสันติท่ามกลางความหลากหลายทางเพศ เกย์ไทยแลนด์
จากนาทีเป็นชั่วโมง จากน้ำเปล่าเย็นๆ สู่กาแฟเข้มร้อนแก้วใหญ่ วงสนทนาดูทีท่าจะเข้มข้นไปกว่าเดิม มากไปกว่านั้นเราได้พบกับ 3 ในจำนวนหลายสิบคน ของผู้สมัครเข้าประกวดในปีนี้ ได้แก่ ปรเมศวร์ ตั้งสถาพร อายุ 26 ปี อักษรศาสตร์บัณฑิต เอกภาษาวัฒนธรรม ดีกรีปริญญาโทรัฐศาสตร์การทูต มหาวิทยาเดอรัม ประเทศอังกฤษ ซึ่งกำลังเตรียมไปเรียนต่อปริญญาเอก, เจษฎา ปลอดแก้ว อายุ 34 ปี Talent Development Manager โรงแรมชื่อดังแห่งหนึ่ง และ กัณต์พิชญ์ พุฒิธาดาพงศ์ นายแบบอิสระ ประกอบธุรกิจส่วนตัว
ถึงเวลานี้เราขอเป็นเพียงผู้ฟัง เพื่อให้พวกเขา บุคคลที่นิยามตนว่าเป็น ‘เกย์’ ได้สื่อสารในสิ่งที่เขาอยากบอกกับผู้คนทุกเพศ
จากการศึกษา ตำแหน่งหน้าที่การงาน ชีวิตพวกคุณก็น่าจะดีอยู่แล้ว ทำไมจึงอยากประกวดพิสูจน์ความสามารถอีก
เจษฎา : ผมว่าเวที Mr. Gay World Thailand มันแตกต่าง คือไม่ได้เน้นความดูดี แต่มันคือความหลากหลาย ทั้งเรื่องการศึกษา อาชีพ ภูมิลำเนา ทุกคนมีคาแรกเตอร์ของตัวเอง อีกอย่างมันมีช่วงที่ได้เสนอแคมเปญที่จะพัฒนาสังคม พัฒนากลุ่ม LGBT ให้ดีขึ้น ผมคิดว่ามีประโยชน์
ปรเมศวร์ : มันเป็นการประกวดที่ไม่ใช่เพื่อเกย์อย่างเดียว แต่เพื่อให้ชายกับหญิงด้วย เพราะสิ่งที่เสนอกับกลุ่ม LGBT แต่ก็สามารถใช้กับกลุ่ม นโยบายที่ LGBT ต้องการขับเคลื่อนก็สามารถใช้กับกลุ่มเพศใดก็ได้ ชายกับหญิงได้
ตอนประกวดบอกคนรอบข้างอย่างไร เพราะในอีกความหมายนั่นคือการ Coming out สู่สาธารณะ
กันต์ณพิชญ์ : ไม่ได้มีอะไรเป็นพิเศษ เราติดตามและมีโอกาสได้ร่วมงานกับ Mr. Gay คนก่อนๆมาบ้าง อย่างตอนพี่หมอต้น (Mr. Gay World Thailand คนแรก) ซึ่งทำเรื่องปัญหาการติดเชื้อเอชไอวีที่เกิดได้กับทุกเพศ เราก็ได้ไปช่วย และความเป็นเกย์ก็อยู่ในตัวเราอยู่แล้ว ตลอดชีวิตได้เจอปัญหาทั้งกับตัวเองและคนใกล้ตัวมาบ้าง ก็อยากจะสื่อสารให้สาธารณะเพื่อให้รับการแก้ไข
เจษฎา: ผมตัดสินใจทันทีที่เขาเปิดรับ ที่บ้านก็รับทราบ เพราะผมอยากเป็นหนึ่งในกระบอกเสียงให้กับกลุ่ม LGBT และคอนเซปในปีนี้คือ Dare To Shine ซึ่งหมายถึงการกล้าที่จะก้าวออกมาเพื่อทำอะไรบางอย่าง และเชื่อไหมพอมีคนรู้ว่าเราจะสมัครก็มีคนมาเล่าเรื่อง มาบอกประเด็นที่น่าสนใจฝากเราไปสื่อสาร คือเขาอยากจะบอกแต่ไม่มีโอกาส ยังไม่กล้าบ้าง อยากให้เราพูดแทน
แล้วอะไรคือสิ่งที่คุณอยากบอกกับสังคม
เจษฎา: ผมสนใจเรื่องการเป็น LGBT กับความก้าวหน้าในการทำงานองค์กร คือผมทำงานมามากกว่า 10 ปีแล้ว แต่ยังเห็นอคติการไม่ยอมรับ LGBT ในสถานที่ทำงานอยู่ดี เรามักจะบอกว่า “เฮ้ย มันเปิดกว้างแล้ว ทุกคนรับได้” แต่เอาเข้าจริงมันไม่ได้ขนาดนั้น อัตราการเจริญเติบโตในหน้าที่การงานของ LGBT มีข้อจำกัด เช่น หากกำลังมองหาหัวหน้าแผนก แล้วมีแคนดิเดตในตำแหน่งนี้ 4-5 คน แต่ถ้าในจำนวนนั้นมีสัก 2 คนที่เป็น LGBT พวกเขาก็จะถูกตัดสิทธิ์ไปก่อนเลย อาจจะเป็นเรื่องวิธีคิดของผู้คัดเลือกก็ได้ที่คิดว่าคนเป็นทอม เป็นเกย์ ต้องมีปัญหาเรื่องอารมณ์ เดี๋ยวจะไปด่าลูกน้อง ทำให้ทีมเสียหาย ไม่ก็มีมุมมองด้านไลฟ์สไตล์ทำนองว่าคนที่ไม่ใช่เพศหญิงหรือชาย เป็นพวกปาร์ตี้เก่ง เดี๋ยวภาพลักษณ์ของทีม ของแผนกจะไม่ดี
ปรเมศวร์: อันนี้ผมเห็นด้วยเลยนะ สำหรับผมมีความคาใจในคำพูดที่ว่า ‘ประเทศไทยเป็นประเทศที่เปิดกว้างในเรื่อง LGBT หรือความหลากหลายทางเพศ’ ซึ่งโอเคแม้เราจะไม่มีกฎหมายใดที่บอกว่าการเป็น LGBT เป็นเรื่องผิดกฎหมาย แต่ในทางวัฒนธรรมยังยึดความเป็นชาย-หญิง อยู่ดี แล้วก็เอาคอนเซปต์นั้นมากดทับ จากลักษณะคำพูด คำหยอกล้อ
ผมเคยทำงานในที่หนึ่ง แล้วมีพี่ที่เป็นทอม ซึ่งแฟนเขามารับในที่ทำงาน แล้วเขาก็ไม่ได้ปิด แต่พี่ผู้ชายในที่ทำงานจะแซวว่า “เปลี่ยนทอมให้เป็นเธอ” ซึ่งมันเหมือนกับการคุกคามกลายๆ โอเค แม้พี่ทอมคนนั้นจะบอกว่าโอเค เพราะไม่อยากมีปัญหากับใคร แต่สำหรับผมมันคือการไม่เคารพความเป็นตัวเองของคนคนนั้น แล้วพยายามยัดเยียดเพศในแบบที่เขาคิดว่าปกติ ซึ่งคือชายกับหญิงเท่านั้น ทั้งๆที่สิ่งที่เขาเป็นปกติแล้ว คือในที่ทำงานมันไม่ได้มีกติกาข้อใดห้ามว่า LGBT จะไม่ได้รับการโปรโมตในตำแหน่งที่สูง แต่เอาเข้าจริงเรากลับรู้กันเองในใจ
เจษฎา: ถ้าคนเป็น LGBT เขา Out standing หรือมีความสามารถที่เก่งกว่ามากๆ เขาก็อาจจะได้รับตำแหน่ง แต่ถ้ามีแคนดิเดตอยู่ จำนวนหนึ่ง แล้วในจำนวนนั้นมีคนที่ไม่ใช่เพศชายหรือหญิง คนนั้นก็จะถูกคัดทิ้งไปก่อน โดยที่ยังไม่ได้เปรียบเทียบคุณสมบัติเลยด้วยซ้ำ
กันต์ณพิชญ์: ผมคิดว่ามันเป็นการยอมรับแบบมีเงื่อนไข คือคนที่เป็น LGBT ต้องแสดงความสามารถออกมา ต้องหาจุดเด่นมากลบ ให้เขามองข้ามความเป็น LGBT ไป
ตรงนี้เชื่อมโยงกับแคมเปญที่ผมจะนำเสนอในการประกวดนะ คือมองเรื่องการเลือกปฏิบัติ การทำร้ายในทางจิตใจ คือโอเค กรณีที่เกิดขึ้นทั่วๆไป อาจจะไม่ได้ทำร้ายในด้านร่างกายมาก แต่คนเป็น LGBT ถูกทำร้ายในด้านจิตใจมากกว่า ถูกพูดให้รู้สึกแย่ ผมเคยค้นเจอผลสำรวจหนึ่งที่บอกว่าร้อยละ 45 ของ LGBT ไม่ได้รับความสำเร็จในด้านการสมัครงานเพราะการเลือกปฏิบัติ มันเป็นเหมือนความกดดันที่ได้รับ แล้วก็มี LGBT ไม่น้อยปัญหาด้านจิตใจ จนเกิดเป็นภาวะโรคซึมเศร้า
ทำไมถึงมองว่าโรคซึมเศร้าของ LGBT นี้สำคัญ
กันต์ณพิชญ์: ผมเคยเจอกับคนใกล้ตัว แฟนผมเป็นโรคซึมเศร้าเพราะครอบครัวไม่ยอมรับ มาโรงเรียนก็เจอเพื่อนล้อเลียนอีก ทนไม่ไหวจนต้องย้ายโรงเรียน ส่วนครอบครัวเขาย้ายไม่ได้ ทุกวันนี้เวลาเราดูละคร ดูซีรีส์คิดว่าคนเป็นเกย์ เป็นทอม เป็นดี้ ต้องตลก มั่นใจ มีความกล้า เป็นคนมีเงิน จริงๆไม่ใช่แบบนั้นทั้งหมด บางคนเขาอาจจะต้องทำตัวแบบนั้นเพื่อให้ได้รับการยอมรับด้วยซ้ำ
ปรเมศวร์: ผมมองว่ามันต้องเริ่มจากศึกษาเลย แคมเปญของผมจึงอยากสอนเรื่องเพศศึกษาใหม่ อย่าทำให้ผู้เรียนรู้สึกว่าเรื่องเพศศึกษาเป็นเพียงสุขศึกษา แล้วสุขศึกษาว่าด้วยเรื่องเพศเป็นเรื่องน่าเกลียด ไกลตัว ผู้หญิงพูดเรื่องเพศคือคนแรด แล้วสุขศึกษาต้องอย่ามองเรื่องชายหญิงโดยนิยามจากอวัยวะเพศ สิ่งที่เรามีไม่ได้หมายความว่าเราเป็นแบบนี้ เรามีอวัยวะเพศชายแต่เราก็สามารถแต่งตัวแบบไหนก็ได้ อวัยวะเพศก็เรื่องหนึ่ง การแต่งกายก็เรื่องหนึ่ง
การศึกษาไทยสอนให้เด็กนิยามคำว่า ‘ครอบครัว’ ได้แคบมากๆต้องมีพ่อซึ่งเป็นผู้ชาย มีแม่เป็นผู้หญิง มีลูก ซึ่งครอบครัวจริงๆ มันอาจไม่ได้เป็นอย่างนั้น หากนิยามครอบครัวว่าเป็นกลุ่มสมาชิกซึ่งมีความรักต่อกันและกัน คนเป็นม่ายกับลูก 2 คน, ยายที่ต้องเลี้ยงหลาน, พ่อกับพ่อแล้วก็ลูกซึ่งมีความรักต่อกันและกัน แบบนี้ไม่ใช่ครอบครัวหรือ
ถ้าเราก้าวข้ามเรื่องเพศที่มีมาแต่กำเนิด เราก็จะไม่มีคำพูดของแม่ที่บอกกับลูกสาวว่า “เมื่อไรจะคบกับผู้ชายจริงๆสักที” หรือไม่ก็ “แม่รักลูกนะ แต่แม่จะรักมากกว่านี้ถ้าลูกไม่เป็นแบบนี้”
สังคมไทยบอกว่าเปิดกว้าง แต่เอาเข้าจริงมันไม่
ปรเมศวร์: ผมว่าเป็นเหมือนมือถือสากปากถือศีล เราพูดว่ายอมรับ แต่เอาเข้าจริงมันไม่ได้ยอมรับจริงๆหรอก เรายังมีอคติ เรามักจะได้ยินคำพูดที่ว่า “โอเค เรายอมรับคุณนะ แต่ขอให้คุณเป็นคนดี” ซึ่งมันก็คือการเอาศีลธรรมมากด กลายเป็นว่าการปฏิบัติตามหมู่มากในสังคมคือเป็นเพศชายหญิงคือการไม่ต้องสงสัยว่าเป็นคนดี เพื่อนบางคนถึงขนาดเจอพ่อบอกว่า “ถ้าไม่เปลี่ยนก็อย่าหวังจะได้อะไรจากบ้านนี้ไป”
ถ้ามีใครสักคนบอกว่าคุณคิดมากหรือเปล่า ทุกวันนี้เพศไหนก็สามารถทำอะไรก็ได้ ไม่เห็นจะมีปัญหาเลย พวกคุณจะว่าอย่างไร
ปรเมศวร์: ผมเจอคำพูดนี้ประจำ และก็มักจะบอกไปว่าการที่มันไม่ได้เกิดขึ้นกับเรา ไม่ได้หมายความว่ามันไม่มี และเราก็ไม่ควรจะเพิกเฉยกับเรื่องเหล่านี้
หลายคนเจอเหตุการณ์แบบนี้ จึงอยากจะหาพื้นที่ที่ปลอดภัย คือการปิดไว้ ไม่บอกใครเลย แล้วก็ทำให้ตัวเองเป็นเพศเดียวกับที่สังคมต้องการ นั่นเพราะเขาก็ไม่มั่นใจว่าถ้าบอกไปแล้วทุกอย่างจะเป็นแบบเดิม พ่อแม่ก็ควรยอมรับลูกเพราะลูกเป็นลูก ไม่ใช่ยอมรับเพียงเพราะว่าเป็นผู้ชายหรือผู้หญิง
กันต์ณพิชญ์: ผมจะถูกเรียกว่าตุ๊ดหรือกระเทยแต่เด็ก แต่เราก็โชคดีที่ครอบครัวเข้าใจ และก็ผ่านมันมาได้ จะบอกว่าไม่มีปัญหาได้อย่างไร มีข้อมูลที่บอกชัดว่าเด็กที่เป็น LGBT จะถูกล้อในโรงเรียนมากกว่า ถึงขนาดเคยมีผลสำรวจว่าเด็กที่เป็น LGBT มีอัตราการฆ่าตัวตายที่มากกว่าเพศทั่วไปถึง 3 เท่า
เจษฎา: สำหรับคนเป็น LGBT เหมือนต้องพิสูจน์ตัวเอง 2 สเต็ป คือสเตปแรกคือการเป็นคนดี มีความสามารถตามบรรทัดฐานคนทั่วไป จากนั้นก็ต้องทำให้ Beyond สูงขึ้นไป เพื่อให้ดีกว่าเป็นชายหรือหญิง แล้วมันก็ยากมากๆ เราไม่สามารถชนะอคติของคนทั่วไปได้ ถ้าเขาไม่เปิดใจมากพอ
ผมเคยเดตกับผู้ชายคนหนึ่งที่รับราชการ และเขาก็ไม่สามารถบอกใครได้ ถ้าคบกันต่อไป เราก็กลายเป็นความลับของกันและกันจนกว่าจะจากกันไปข้างหนึ่ง สาเหตุที่เขาเปิดเผยไม่ได้เพราะเคยมีเพื่อนร่วมงานของเขาเปิดเผย แล้วเจอสิ่งแวดล้อมในที่ทำงานกดดัน พูดถึงขนาดไล่ให้เอาเครื่องแบบไปเผาทิ้ง เขาจึงเลือกที่จะไม่พูด เลือกที่จะปิดซ่อนตั้งแต่รู้ตัว
ความคาดหวังในการมาประกวดของพวกคุณคืออะไร
ปรเมศวร์: ผมอยากสื่อสารในสิ่งที่ผมเชื่อตามที่ได้อธิบายไป ผมเชื่อว่าความหลากหลายจะทำให้สังคมดีขึ้น แล้วเวทีนี้มันเปิดกว้างมาก ไม่จำเป็นต้องหุ่นดี หล่อ ช่วงอายุก็ 18-45 ปี ซึ่งกว้างและทำให้ได้ความคิดที่หลากหลายมาก แชร์ประสบการณ์ในแต่ละอายุเพื่อนำไปสู่แผนการในอนาคต ให้สังคมสงบมากขึ้น ไม่มีอคติจากความแตกต่างกัน
กันต์ณพิชญ์: อยากเห็นการเลิกตีตรา ไม่ว่า ไม่ว่าจะในครอบครัว โรงเรียน หรือที่ทำงาน
เจษฎา: อยากเป็นเสียงสะท้อนให้สังคมเปิดกว้างทางความคิด ผมก็อาจจะโชคดีหน่อยที่ครอบครัวเปิดกว้าง เพราะแม่เข้าใจ แต่กลับกันก็เจอเพื่อนแม่ที่เขาถามว่า “อายไหม ที่มีลูกเป็นเกย์” ทั้งที่เราก็พิสูจน์ตัวเองได้ เรียนจบ ทำงานเลี้ยงดูตัวเอง ตอบแทนสังคมไม่ต่างจากคนอื่น
ติดตามความเคลื่อนไหวได้ที่เฟสบุ๊ค Mr. gay world Thaila
อธิบายภาพบน (ซ้ายไปขวา) กัณต์พิชญ์-เจษฎา- ปรเมศวร์
ขอบคุณ ข่าวจาก http://www.judprakai.com/life/722