รางวัลใหม่ตั้งชื่อตามเทพฮินดูที่มีรูปกายเป็นชาย-หญิง มอบให้บุคคล-องค์กรที่สนับสนุนการทำงานด้านความหลากหลายทางเพศ เสรี วงษ์มณฑา ชี้กฎหมายไทยยอมรับเพศหลากหลายแล้ว แต่สังคมยังไม่รับอีกหลายเรื่อง ย้ำคนมีส่วนได้ส่วนเสียต้องเรียกร้องและผลักดัน
12 ธ.ค. 2560 สมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทยร่วมกับ Armed Forces Research Institute of Medical Science (AFRIMS) คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กรมกิจการสตรีและสถาบันครอบครัว กระทรวงการพัฒนาสังคมและความั่นคงของมนุษย์ และกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ กระทรวงยุติธรรม ได้จัดให้มีการมอบ “รางวัลอรรธนารีศวร” ครั้งที่ 1 เพื่อประกาศเกียรติคุณต่อบุคคลและหน่วยงานที่ให้การสนับสนุนการทำงานของบุคคลหลากหลายทางเพศโดยปราศจากอคติและการเลือกปฏิบัติ ที่ห้องออดิทอเรียม ชั้น 5 หอศิลปวัฒนธรรมแห่งกรุงเทพมหานคร
สำหรับความเป็นมาของชื่อรางวัล “อรรธนารีศวร” นั้น มีที่มาจากองค์เทพ “อรรธนารีศวร” 1 ใน 9 ปางอวตารของพระศิวะ มีรูปกายครึ่งซีกขวาเป็นชาย ครึ่งซีกซ้ายเป็นหญิง นั่นเป็นเพราะพระอรรธนารีศวรเป็นการรวมบารมีแห่งพระศิวะและพระแม่อุมาเทวีผู้เป็นพระชายา แทนความหมายของการรวมพลังของ “พลังแห่งการควบคุมของสตรีและอำนาจแห่งบุรุษ” เพื่อเป็นการปรับสมดุลในการดำเนินชีวิต แนะนำทางให้ไปพบกับความสำเร็จในทุกสิ่งที่ปรารถนาและสุขสมหวังในความรัก ข่าวเกย์
ตามความเชื่อ “พระอรรธนารีศวร” เป็นนัยสะท้อนว่า พระศิวะและพระอุมาเทวี คือพระเจ้าองค์เดียวกัน ทรงมีอยู่ทั้งในความเป็นชายและความเป็นหญิง อยู่เหนือเพศภาวะของมนุษย์ โดยเพศภาวะนั้นเป็นเพียงสิ่งสมมติ จิตที่แท้ไม่มีเพศ เพราะมนุษย์มีทั้งด้านเข้มแข็งและอ่อนแอ รวมอยู่ในคนเดียวกัน
รางวัลที่จัดประกวดมีทั้งหมด 4 ด้าน นอกจากนั้นยังมีรางวัลแห่งความภูมิใจ และรางวัลมิตรภาพ โดยมีบุคคลและหน่วยงานที่ได้รับรางวัลพร้อมทั้งเกียรติประวัติดังต่อไปนี้
ด้านรางวัลสร้างเสริมสุขภาพในชุมชนหลากหลายทางเพศ
ประเภทบุคคล: ฟริตซ์ แวน กริซแวน
ที่ปรึกษาอาวุโสด้านการป้องกันการติดเชื้อ HIV ศูนย์วิจัยเอดส์ สภากาชาดไทย ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพเพื่อชุมชนของคนข้ามเพศเป็นผู้ช่วยให้คำปรึกษากับผู้นำระดับสูงของสภากาชาดไทยในการวางหลักสูตรและนโยบายเกี่ยวกับด้านการวิจัยการป้องกันและการให้บริการการรักษาการติดเชื้อ HIV ปัจจุบันดำรงตำแหน่งทางวิชาการในคณะระบาดวิทยาชีวสถิติ คณะแพทย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยแคลิฟอร์เนีย สหรัฐอเมริกา
เขาเป็นผู้ก่อตั้งและดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการศูนย์สุขภาพเพื่อชุมชนของคนข้ามเพศ ความสนใจหลักของเขาคือเรื่องการแพร่ระบาดของเขื้อ HIV การป้องกันการติดเชื้อ HIV รวมไปถึงความสนใจการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อ HIV ในกลุ่มชายขอบที่มีความเสี่ยง เช่น กลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย สาวประเภทสอง คนข้ามเพศ เป็นต้น นอกจากนั้นยังเป็นส่วนหนึ่งของการร่างแนวทางการใช้ยาต้านไวรัส และการรักษาโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย และคนข้ามเพศ อีกทั้งยังเป็นผู้ร่วมวางแนวทางในการรักษา HIV สำหรับกลุ่มประชากรหลัก
ประเภทองค์กร: ศูนย์องค์รวม โรงพยาบาลสรรพสิทธิ์ประสงค์ จ.อุบลราชธานี
เป็นโรงพยาบาลที่ให้บริการปรึกษาเพื่อตรวจเลือดหาเชื้อ HIV และโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์โดยสมัครใช้ ในประชากรกลุ่มเสี่ยงก็ให้การดูแลรักษาเฉพาะทางด้านโรคเอดส์และโรงคิดต่อทางเพศสัมพันธ์แบบองค์รวม ดูแลให้ได้รับการบริการตามมาตรฐานโรคอย่างถูกต้อง รวดเร็ว ปลอดภัย ไม่ตีตรา ไม่เลือกปฏิบัติ
โรงพยาบาลยังมีการต่อยอดบูรณาการความร่วมมือในการดูแลกลุ่มทั่วไปและกลุ่มเสี่ยงที่มารับบริการในคลินิกให้การปรึกษาคลินิกตรวจสุขภาพและคลินิกยาต้านไวรัส ร่วมให้การดูแลผู้ติดเชื้อ HIV ผู้ป่วยเอดส์ แบบประคับประคองและระยะสุดท้ายต่อเนื่องจากโรงพยาบาลถึงชุมชน มีการขยายเครือข่ายแกนนำกลุ่มชายรักชายที่ติดเชื้อ HIV ในแต่ละอำเภอใน จ.อุบลราชธานี
ด้านการส่งเสริมสิทธิมนุษยชนของชุมชนหลากหลายทางเพศ
ประเภทบุคคล: อัญชนา สุวรรณานนท์
ผู้ก่อตั้งกลุ่ม “อัญจารี” เมื่อปี พ.ศ.2529 เป็นกลุ่มที่ทำงานเพื่อหญิงรักหญิงในไทย อัญชนาเป็นแกนนำในการออกมาขับเคลื่อนเพื่อสร้างความเข้าใจของคนในสังคม กิจกรรมช่วงแรกคือการทำเวทีแลกเปลี่ยนความคิดเห็นระหว่างสมาชิกเพื่อหาแนวทางการแก้ไขความเข้าใจผิดในเรื่องหญิงรักหญิง ได้มีการจัดทำหนังสือ สิ่งพิมพ์เพื่อเผยแพร่ประชาสัมพันธ์เป็นเวลายาวนานจนเป็นที่รู้จัก นำไปสู่การสร้างความเข้าใจของคนในสังคมเพื่อลดอคติต่างๆ อัญชนาใช้เวลากว่า 30 ปีทำงานอย่างต่อเนื่องในประเด็นหญิงรักหญิงทั้งในประเทศและต่างประเทศ พร้อมขับเคลื่อนเรื่องสิทธิมนุษยชนของหญิงรักหญิงเพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันในสังคม จดหมายข่าวอัญจารีถือได้ว่าเป็นหนังสือสำหรับหญิงรักหญิงฉบับแรกของไทย จากเดิมที่จำกัดผู้รับหนังสือโดยการส่งให้เฉพาะสมาชิก ต่อมาได้กลายเป็นนิตยสารปกสีมีดารามาขึ้นปก พูดประเด็นหญิงรักหญิงและวางจำหน่ายอย่างเปิดเผย
ประเภทหน่วยงาน: องค์กรสวัสดิการสังคมบันดู (Bandhu Social Welfare Society)
บันดูเป็นองค์กรที่ทำงานเรื่องสาธารณสุขและสิทธิมนุษยชนกับประชากรที่เป็นเพศชนกลุ่มน้อยในบังกลาเทศ โดยเชื่อว่าคนทุกคนสามารถสร้างคุณภาพชีวิต ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิมนุษยชนและความเป็นธรรมทางสังคมไม่ว่าจะเป็นเพศใด หลักการของบันดูสอดคล้องกับการให้ความสำคัญทางสาธารณสุขในระดับชาติและยุทธศาสตร์ระดับชาติเรื่องมาตรการตอบสนองต่อประเด็นเชื้อ HIV และโรคเอดส์
ด้านการส่งเสริมความเข้มแข็งและศักยภาพของชุมชนหลากหลายทางเพศ
ประเภทบุคคล: แพทย์หญิงนิตยา ภานุภาค พึ่งพาพงศ์
นิตยารณรงค์และทำงานเกี่ยวกับสุขภาพของกลุ่มที่มีความหลากหลายทางเพศเป็นหลัก เช่น การคัดกรองมะเร็งปากทวารหนักและโรคติดต่อทางเพศสัมพันธ์ในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชาย การตรวจเร็วรักษาเร็วพื่อสุขภาพที่ดีและป้องกันการแพร่เชื้อในกลุ่มชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสอง การเริ่มยาต้านไวรัสภายในวันเดียวกันกับที่ตรวจพบว่าติดเชื้อและการให้ยาต้านไวรัสเพื่อป้องกันการติดเชื้อในคนที่มีพฤติกรรมเสี่ยง โดยได้จัดตั้งศูนย์สุขภาพชาย (Men Health Clinic) และคลินิกคนข้ามเพศ (Tangerine Clinic) เพื่อให้บริการขึ้นที่คลินิกนิรนาม สภากาชาดไทยและทำโครงการชักชวนให้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับชายและสาวประเภทสองทำการตรวจเอดส์ด้วยตัวเองด้วยการเจาะเลือดจากปลายนิ้ว ภายใต้การกำกับดูแลแบบตัวต่อตัวของเจ้าหน้าที่ชุมชนผ่านทางสื่อออนไลน์
ประเภทหน่วยงาน: Blued Application
Blued Application เป็นแนวความคิดของ เกง เล ผู้ก่อตั้งเว็บไซต์ www.danlan.org ที่ต้องการเปลี่ยนแปลงชีวิตของ LGBTI ด้วยเทคโนโลยีตามยุคสมัยเพื่อสนับสนุนให้เกย์ในสังคมออนไลน์ได้มีพื้นที่ในการสร้างสรรค์สังคมของตนเอง และยังสนับสนุนให้เกย์แต่ละประเทศมีสิทธิเท่าเทียมกับชายหญิงในสังคม ขณะเดียวกันก็สนับสนุนการป้องกันและควบคุมสถานการณ์ปัญหา HIV และเอดส์ในสังคม
ทั้งนี้ยังมีรางวัล Pride Award หรือรางวัลแห่งความภาคภูมิใจเพื่อมอบให้กับบุคคลและหน่วยงานที่ภาคภูมิใจในความหลากหลายทางเพศของตนเพื่อเป็นกำลังใจในการร่วมกันผลักดันให้เกิดความเท่าเทียมในสังคม
ประเภทบุคคล: ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์
ผู้กำกับหนังสั้นเกี่ยวกับสิทธิมนุษยชนของคนที่มีความหลากหลายทางเพศจากการกำกับภาพยนตร์หลายเรื่อง ธัญญ์วารินได้รับรางวัลมากมายทั้งในไทยและยังได้นำผลงานออกแสดงสู่สายตาชาวโลกผ่านเทศกาลหนังต่างประเทศ โดยตัวอย่างผลงานได้แก่เรื่องแหวน เปลือก รัก/ผิด/บาป ภิกษุณี รวมถึงภาพยนตร์ใหญ่เรื่อง Insect in the Backyard (แมลงรักในสวนหลังบ้าน) ที่ถูกห้ามฉาย (แบน) ไปเป็นเวลา 7 ปี และเพิ่งได้ฉายเมื่อเดือน ธ.ค. นี้ ตลอดเวลา 7 ปีที่หนังถูกแบน ธัญญ์วารินยังพยายามสร้างภาพยนตร์เพื่อสร้างความเข้าใจในความหลากหลายทางเพศขึ้นมาอีกโดยใช้ชื่อว่า “ไม่ได้ขอให้มารัก” ซึ่งได้รับความนิยมทั้งในไทยและระดับสากล
ประเภทหน่วยงาน: มูลนิธิซิสเตอร์
เป็นองค์กรที่มีวัตถุประสงค์หลักเพื่อที่จะเป็นต้นแบบของการให้บริการที่เป็นมิตรและส่งเสริมคุณภาพชีวิตที่ดีแก่บุคคลที่เป็นกะเทย สาวประเภทสองซึ่งหมายถึงในมิติสุขภาพกาย ใจ สังคม และจิตวิญญาณความเป็นคนข้ามเพศ โดยยึดตามหลักสิทธิมนุษยชนที่ควรจะเป็น
มูลนิธิซิสเตอร์ยังเป็นองค์กรผู้นำในการทำงานกับสาวประเภทสองในประเทศไทย และเป็นกระบอกเสียงในการร้องเรียนถึงสิทธิทางเพศและสิทธิของความเป็นมนุษย์ ความเสมอภาค เท่าเทียมระหว่างเพศอันเกิดจากอัตลักษณ์และวิถีทางเพศที่เป็น
ในงานยังมีการมอบรางวัลมิตรภาพหรือ Friendship Award ให้กับเกล็น เดวีส์ เอกอัคราชทูตสหรัฐฯ ประจำประเทศไทย สำหรับการอุทิศแรงกาย แรงใจในการทำงานและให้เกียรติบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศในประเทศไทยอย่างสม่ำเสมอและต่อเนื่อง
เกล็นกล่าวว่า แม้ในสหรัฐฯ จะมีความคืบหน้าในการสนับสนุนความหลากหลายทางเพศ แต่ก็ยังมีความท้าทายในระดับประเทศและระดับโลก ยังมีอคติที่ยังปรับแก้ได้ยาก ในไทยเองก็มีความคืบหน้า อย่างไรก็ตาม ยังมีอีกหลายสิ่งที่ยังต้องทำ สถานทูตสหรัฐฯ และประเทศอื่นๆ ยินดีที่จะให้ความช่วยเหลือและทำงานต่อไป
ชี้กฎหมายไทยยอมรับเพศหลากหลายแล้วแต่สังคมยังไม่รับอีกหลายเรื่อง
เสรี วงษ์มณฑา สมาชิกคณะกรรมการปฏิรูปประเทศ นักพูด พิธีกร กล่าวปาฐกถาหัวข้อ “สังคมไทยกับการเปลี่ยนแปลงไปสู่ความเท่าเทียมระหว่างเพศ” โดยระบุว่า ทุกวันนี้คนข้ามเพศได้รับการยอมรับในทางกฎหมายแล้วจากการบังคับใช้พระราชบัญญัติความเท่าเทียมระหว่างเพศ แต่ยังมีข้อจำกัดมากมายในเชิงสังคม ชีวิตทุกวันนี้ยังเป็นชีวิตที่ลำบาก หลายคนแปลงเพศแล้วแต่คำนำหน้ายังเป็นนาย คนมีนม ผมยาว แต่นำหน้าด้วยคำว่านาย เราออกกฎหมายยอมรับความหลากหลายทางเพศนั้นคือลำต้น แต่เรื่องกิ่งก้านที่จะให้คำนำหน้ามีใครริเริ่มหรือยัง เรายังคงอยู่แบบนี้กันต่อไป เวลากะเทยถูกเชิญไปงานแต่งงานจะทำตัวอย่างไร เพราะเขาเชิญกะเทยในชื่อนายประดิษฐ์ แซ่ตั้ง และภรรยา
เสรีกล่าวเพิ่มเติมว่า เคยมีข้าราชการท่านหนึ่งมาขอพบแล้วพูดด้วย ท่านบอกว่า อาจารย์ ผมพยายามเสนอกฎหมายเพิ่มเติมเรื่องความหลากหลายทางเพศเพราะรู้ว่าเดือดร้อนกัน เช่น จะผ่าตัดก็เซ็นไม่ได้ อยู่ด้วยกันมา เจ็บไข้ได้ป่วยแล้วตาย คู่จะเซ็นเอาศพก็ไม่ได้ เซ็นให้ผ่าตัดก็ไม่ได้ ออกบัญชีร่วมกันไม่ได้ แต่คนในสภาก็ถามว่า จะเรียกร้องทำไมในเมื่อคนที่เป็นผู้ได้รับผลกระทบจริงๆ ยังไม่เห็นเรียกร้องอะไรเลย คนที่เดือดร้อนจึงควรลุกขึ้นมา คนที่มีปัญหาเรื่องกู้เงินร่วมกัน การดูแลการเจ็บไข้ได้ป่วย การเซ็นผ่าตัด เอาศพออกจากโรงพยาบาลขอให้ลุกขึ้นมา ไม่เช่นนั้นคนที่ออกกฎหมายเขาอาจจะคิดว่าเรามโนกันไปเอง กฎหมายที่เป็นกิ่งก้านที่ยังไม่เกิดขึ้นเพราะไม่มีคนลุกขึ้นมาเดือดร้อน ที่สหรัฐฯ เขาเลิกกฎหมายไม่ถามและไม่บอกเรื่องเพศวิถี (Don’t ask, don’t tell) ไปแล้ว มีการขอแต่งงานกันในกองทัพไปแล้ว แต่ไทยยังจำเป็นที่จะต้องออกกฎหมายกิ่งก้านออกมาจากกฎหมายหลักในหลายประการ ซึ่งเรื่องนี้ต้องสู้กันในทางสังคมอีกนาน แต่ขอให้คนที่มีส่วนได้ส่วนเสียลุกขึ้นมาเรียกร้องเสียก่อน
ขอบคุณ ข่าวจาก https://prachatai.com/journal/2017/12/74537