ไม่มีพื้นที่สำหรับเยาวชนและ LGBT ร่วมกำหนดกฎหมาย-นโยบาย

//

lgbt Thai Team

beefhunt

12 มกราคม 2561 กลุ่มโรงน้ำชา (Togetherness for Equality and Action -TEA)และกลุ่มสตรี@ธรรมศาสตร์ จัดเสวนาสาธารณะสตรี ที-ทอล์ค ครั้งที่ 2 ณ อาคารวิทยาลัยสหวิทยาการ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

โดยหัวข้อช่วงเช้าเป็นปาฐกถาพิเศษ “พื้นฐานสิทธิมนุษยชน เพื่อสร้างพื้นที่ปลอดภัย ในการอยู่ร่วมกันภายใต้ความแตกต่างหลากหลาย” และหัวข้อช่วงบ่าย “เด็กรุ่นใหม่ ไม่กลั่นแกล้งล้อเลียน เรียนรู้ความหลากหลาย เข้าใจความเท่าเทียม”
อังคณา นีละไพจิตร กรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กล่าวปาฐกถาเปิดงานว่า สมัยที่ตนเป็นเด็ก ผู้ใหญ่มักสอนให้เชื่อฟัง แต่จากประสบการณ์ที่ได้เป็นแม่ กลับพบว่า เด็กไม่ใช่ส่วนย่อของผู้ใหญ่ และไม่ได้หมายความว่า เด็กจะสามารถรับสิ่งต่างๆ ได้เพียงครึ่งหนึ่งหรือสามส่วนสี่ของผู้ใหญ่เท่านั้น แต่เด็กก็มีความคิดและเหตุผลของพวกเขา อังคณาค้นพบว่า กระบวนการถกเถียงกันในครอบครัวทำให้เด็กเติบโตเป็นผู้ใหญ่อย่างมีความมั่นใจในตัวเอง จริงๆ แล้วไม่มีอะไรถูกต้องร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้ใหญ่ที่ทำผิดก็มีอยู่มาก ฉะนั้น การเปิดพื้นที่ให้กว้างขึ้นสำหรับการเรียนรู้ซึ่งกันและกันเป็นความจำเป็น             เกย์กรุงเทพ
อังคณากล่าวต่อว่า การเรียนรู้ที่จะรับผิด โดยเฉพาะในเรื่องที่ส่งผลกระทบต่อผู้อื่น เป็นสิ่งสำคัญที่รัฐบาลควรจะมีนโยบายเสริมสร้างในเรื่องนี้ โดยเฉพาะกระทรวงศึกษาธิการ ต้องสอนให้เด็กคิดเอง เรียนรู้เอง มีความหวัง มีความฝัน ทำให้ได้อย่างที่ฝัน และรับผิดชอบหากกระทำผิด หวังว่ารัฐบาลจะเปิดใจกว้างที่จะรับฟังความคิดเห็นของเยาวชนให้มากขึ้นในแผนพัฒนาต่างๆ และเยาวชนเองซึ่งกำลังจะรับภาระต่อจากคนรุ่นปัจจุบันนั้นก็ต้องเรียนรู้ที่จะมีความฝัน และรับผิดชอบ
อังคณากล่าวต่อไปว่า ไทยได้ให้สัตยาบันในพิธีสารเลือกรับฉบับที่ 3 เรื่องสิทธิของเด็กในการร้องเรียนต่อองค์การสหประชาชาติ ซึ่งในส่วน นี้ เด็กจะไม่ค่อยรู้ว่าสามารถกระทำได้ จึงเสนอว่าน่าจะมีการเผยแพร่ข้อมูลว่าเด็กสามารถร้องเรียนถึงคณะกรรมการสิทธิเด็กแห่งสหประชาชาติได้ในกรณีที่ถูกละเมิดสิทธิ โดยให้เขียนเป็นภาษาอังกฤษ หรือเขียนเป็นภาษาไทยและแนบฉบับแปลภาษาอังกฤษด้วย อยากให้รัฐบาลให้ความสำคัญกับการเผยแพร่หลักการนี้ให้มากขึ้น
อังคณาเสริมว่า ในประเทศไทย มีกฎหมายบางฉบับที่เอื้อให้เกิดการเลือกปฎิบัติ เช่น พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ. 2558 ในมาตรา 17 วรรค 2 อนุญาติให้เลือกปฎิบัติทางเพศได้ด้วยเหตุผลทางศาสนา หรือเพื่อความมั่นคง พ.ร.บ. คุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว พ.ศ. 2550 ก็เป็นที่น่ากังวลเพราะเปิดโอกาสให้ศาลสามารถไกล่เกลี่ยความรุนแรงในครอบครัวได้ทุกขั้นตอน และนิยามความหมายของบุคคลในครอบครัวไม่ครอบคลุมถึงบุคคลที่ทำงานบ้าน ไม่ครอบคลุมถึงบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ
อังคณาปิดท้ายว่า นอกจากกฎหมายที่เปิดช่องให้มีการเลือกปฎิบัติแล้ว สิ่งสำคัญอีกประการก็คือ ทัศนคติ และค่านิยมของสังคม ที่บางครั้งก็ยินยอมให้เกิดความรุนแรงเพื่อยุติบางอย่าง เช่น การบังคับให้เด็กที่เบี่ยงเบนทางเพศแต่งงานเพื่อให้กลับใจมาเป็นเพศที่ตรงกับเพศกำเนิด เป็นต้น ซึ่งไม่ต่างจากการข่มขืน ในสังคมเรานั้น ควรมีพื้นที่ 2 แห่งที่เป็นพื้นที่ปลอดภัยสำหรับเด็กและเยาวชน ได้แก่ ครอบครัว และโรงเรียน ผู้ใหญ่ไม่ควรทำให้เด็กรู้สึกด้อยค่า และเด็กมีสิทธิ มีอิสระ ที่จะเป็นไปตามฝันของตัวเอง
ในช่วงบ่าย วรรณพงษ์ ยอดเมือง นักกิจกรรมจากสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ตนเริ่มปรับเปลี่ยนพฤติกรรมให้เป็นเพศที่ไม่ตรงกำเนิดเมื่อเข้าสู้วัยรุ่น จากนั้นจึงเริ่มถูกเพื่อนกีดกันออกจากพื้นที่ต่างๆ เช่น ไม่ให้เข้ากลุ่มทำงานในห้องเรียน และถูกล้อเลียนด้วยคำต่างๆ เช่น ตุ๊ด กะเทย เป็นต้น ด้วยเหตุนี้จึงต้องพัฒนาตัวเองให้เก่งขึ้นเพื่อให้คนยอมรับและมาเข้ากลุ่มด้วย แต่ไม่เคยฟ้องครูเพราะครูไม่ได้ช่วย กลับมีแต่ซ้ำเติมมากกว่า
วรรณพงษ์ มองว่า โรงเรียนในประเทศไทยไม่มีนโยบายแก้ไขเรื่องการรังแกกัน โดยเฉพาะเมื่อเหยื่อเป็น LGBT เนื่องจากครูเองก็มีส่วนในการรังแกด้วยเช่นกัน ซึ่งสะท้อนถึงกลไกและโครงสร้างที่ครอบงำโรงเรียนไว้ กล่าวคือ เด็กและเด็กที่เป็น LGBT ยังมีส่วนร่วมในการกำหนดนโยบายในโรงเรียนน้อย หลายครั้งนโยบายโรงเรียนเกิดจากครูฝ่ายเดียวโดยไม่มีพื้นที่ที่จะรับฟังปัญหาของเด็กอย่างจริงจัง
วรรณพงษ์กล่าวต่อไปว่า เมื่อมองไปที่รัฐธรรมนูญ การมีส่วนร่วมทางตรงในการออกกฎหมายก็ผ่าน ส.ส. และ ส.ว. ซึ่งเมื่อเทียบจากอายุแล้ว ส.ว. จะมีอำนาจมากกว่า ส.ส. ซึ่งทำให้เกิดระบบผู้อาวุโสครอบงำ จึงทำให้กฎหมายต่างๆ ไม่เอื้อประโยชน์ให้แก่เยาวชน และนอกจากนี้ ในปัจจุบัน มี สนช. จำนวน 250 คน ที่ทำหน้าที่ออกกฎหมาย และผู้ที่จะเป็น สนช. ต้องมีอายุ  40  ปีขึ้นไป จึงเป็นไปไม่ได้เลยที่จะมีเยาวชนอยู่ใน สนช. อีกทั้งสัดส่วนของ สนช. ก็มีผู้หญิงเพียง 12 คนเท่านั้น ซึ่งเป็นเพียง 5% ของ สมาชิก ทั้งหมด จึงเป็นไปไม่ได้ที่จะมีความหลากหลายทางเพศอยู่ในนั้น เมื่อการกำหนดนโยบายและกฎหมายต่างๆ ไม่ได้เปิดพื้นที่ให้เยาวชนหรือ LGBT เข้าไปมีส่วนร่วมเลย นโยบายที่จะเอื้อให้กับเยาวชนและความหลากหลายทางเพศจึงเกิดขึ้นได้ยาก
เอกวัฒน์ พิมพ์สวรรค์ นักกิจกรรมกลุ่มโรงน้ำชา กล่าวว่า เนื่องจากตนเป็นเด็กชายที่มีความต่างจากเด็กชายคนอื่นๆ จึงกลายเป็นเป้าหมายของการกลั่นแกล้ง เคยถูกแกล้งด้วยความรุนแรงหลายครั้ง แต่ครูไม่เคยลงโทษผู้ที่กลั่นแกล้งเลย  จึงทำให้เกิดจุดเปลี่ยนของชีวิต คือ ต้องลาออกไปเรียน กศน. เนื่องจากมองไม่เห็นว่าระบบในโรงเรียนจะตอบโจทย์อะไรในชีวิตได้
เอกวัฒน์เสนอว่า ต้องมีการทำความเข้าใจจากทุกคน ทั้งผ่านการศึกษา ภาครัฐ ครอบครัว เพื่อนฝูง หากคนส่วนใหญ่มีความเข้าใจ LGBT ย่อมเป็นการสร้างทางเลือกแก่ LGBT ในการเลือกที่ยืนของตัวเองได้ ไม่ต้องกลายเป็นคนชายขอบที่ไม่มีที่ยืนในสังคม นอกจากนั้นแล้ว
อ้อมทิพย์ เกิดผลานันท์ นิสิตคณะนิเทศศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย กล่าวว่า สื่อเป็นอาชีพที่มีอิทธิพลสูงมากในสังคม เพราะสื่อไม่ได้รายงานแต่เพียงความจริงเท่านั้น แต่ยังสร้างอิทธิพลทางความคิดแก่เราตั้งแต่เกิดจนตาย เรื่องเพศเองก็เช่นกัน สื่อมีอิทธิพลอย่างมากในการสร้างนิยามเกี่ยวกับเรื่องเพศ
อ้อมทิพย์กล่าวต่อว่า กลุ่ม LGBT มักปรากฎในสื่อว่าเป็นตัวตลก มีอารมณ์ขัน สิ่งนี้เป็นกระบวนการปลูกฝังให้คนเข้าใจว่า LGBT จะมีลักษณะเช่นนี้เท่านั้น ทำให้เกิดการเหมารวมและความเข้าใจที่ผิด จริงๆ แล้ว สื่อเป็นส่วนสำคัญที่สามารถสร้างความรู้ความเข้าใจแบบใหม่ตั้งแต่พื้นฐานได้ ยุคนี้ไม่ใช่ยุคอุตสาหกรรมที่ต้องสร้างให้คนเป็นไปในแบบเดียวกันอีกต่อไปแล้ว สังคมเปลี่ยนไปแล้ว คนมีความเป็นปัจเจกมากขึ้น สื่อต้องเรียนรู้ที่จะเสนอมุมมองของปัจเจกให้มากขึ้น รวมทั้งนำเสนอเรื่องราวเกี่ยวกับ LGBT อย่างถูกต้องด้วย
อ้อมทิพย์ปิดท้ายว่า ตนคิดว่าสื่อรุ่นใหม่จะสามารถมีส่วนในการเปลี่ยนแปลงได้หากมีพื้นที่มากพอ ทั้งนี้ต้องไปต่อสู้กับสื่อรุ่นเก่าๆ ด้วย เชื่อว่าสื่อรุ่นใหม่จะสามารถผลิตผลงานที่เข้าใจสังคมได้มากกว่าเดิม

ขอบคุณ ข่าวจาก https://www.ilaw.or.th/node/4727