ส่องฝันจดทะเบียนสมรสเพศเดียวกันในไทย ร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตพับ 3 รอบ กำลังเริ่มใหม่

//

lgbt Thai Team

beefhunt

ปลายปี 2017 ออสเตรเลียเป็นอีกประเทศที่พิจารณาร่างกฎหมายจดทะเบียนสมรสให้เพศเดียวกันได้

ย้อนกลับมาที่ไทย เส้นทางฝันสำหรับการจดทะเบียนสมรสของกลุ่มคนรักเพศเดียวกันในแดนขวานทองซึ่งเคยมีกระแสข่าวหลายกลุ่มพยายามร่างกฎหมายเพื่อนำเข้าพิจารณาในกระบวนการ แต่จนถึงวันนี้ ร่างกฎหมายจดทะเบียนสมรสคนเพศเดียวกันหรือที่เรียกกันว่า พ.ร.บ.คู่ชีวิตของไทยพับไปแล้ว 3 ร่าง และอยู่ระหว่างเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

การสมรสหรือการสร้างครอบครัวที่ถูกต้องทางกฎหมายสำหรับประเทศไทยมีรายละเอียดอยู่ในประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ มาตรา 1448 ซึ่งระบุว่า ชายและหญิงเมื่ออายุครบ 17 ปีบริบูรณ์สามารถจดทะเบียนสมรสได้ แต่ในกรณีที่มีเหตุอันสมควร ศาลอาจอนุญาตให้ทำการสมรสก่อนได้ อาทิ ให้พ่อแม่ช่วยยืนยันอนุญาตให้จดทะเบียนสมรสได้

Love2test

นอกเหนือจากกฎหมายนี้ ประเทศไทยมีกฎหมายที่ดูแลครอบคลุมเรื่องเกี่ยวกับครอบครัว เช่นสิทธิการดูแลต่างๆ ของคู่สมรส

ที่ผ่านมามีกระบวนการแก้กฎหมายบางมาตราหลังไทยเซ็นลงนามในสนธิสัญญานานาชาติว่าด้วยความเท่าเทียมของเพศชายและหญิง เป็นผลให้ไทยต้องกลับมาปรับเปลี่ยนคำบางจุดในร่างกฎหมายเพื่อสร้างความเท่าเทียมทางเพศ และบทบาทความรับผิดชอบในการสมรสอย่างเท่าเทียมกัน ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของการผลักดันจากภาคประชาสังคมและรัฐบาล

บางมาตราถูกปรับแก้ความเท่าเทียมทางเพศแล้ว แต่ในการแก้ไขหลายยุคที่ผ่านมา ยังไม่ได้แตะปัญหาความสัมพันธ์ระหว่างการสร้างครอบครัวของคนเพศเดียวกัน

แนวทางหนึ่งที่ถูกพูดถึงในหมู่นักเคลื่อนไหวคือการทำให้ระบบการจดทะเบียนสมรสของคนเพศเดียวกันเป็นรูปแบบเดียวกับการจดทะเบียนสมรสของคนต่างเพศ

ช่วงนั้นนพ.แท้จริง ศิริพานิช เป็นผู้เข้ามาช่วยเหลือดำเนินการให้โดยนำเรื่องไปที่คณะกรรมาธิการรัฐสภาว่าด้วยสิทธิมนุษยชนและกฎหมาย คณะกรรมาธิการเห็นว่าสมควรช่วยเหลือคู่รักที่เป็นเพศเดียวกันซึ่งต้องการจดทะเบียนสมรส จึงตั้งคณะทำงานเพื่อศึกษาและดำเนินการ คณะทำงานมีทั้งบุคลากรหลากหลายพรรค

หนึ่งในคณะทำงานมีชื่ออัญชนา สุวรรณานนท์ นักเคลื่อนไหวด้านสิทธิความหลากหลายทางเพศซึ่งเคยเป็นผู้ร่วมงานในมูลนิธิอัญจารี เพื่อสิทธิความหลากหลายทางเพศ

อัญชนา เล่าว่า คณะทำงานตั้งเป้าหมายอย่างรวดเร็วว่าไม่แตะต้องประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ซึ่งเป็นกฎหมายหลักที่ปิดประตูสำหรับการจดทะเบียนสมรสของคนเพศเดียวกันเนื่องจากข้อความในมาตรา 1448 พร้อมกับเสนอร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิตแยกออกมาต่างหากเป็นกฎหมายกำกับคู่รักเพศเดียวกันโดยเฉพาะ รวมถึงสิทธิต่างๆที่จะให้คุ้มครองคู่รักเพศเดียวกัน

โดยที่ผ่านมา คู่รักเพศเดียวกันไม่สามารถเซ็นให้สิทธิด้านการรักษาให้กันได้ ทำประกันชีวิตให้กันไม่ได้ กู้ร่วมกันไม่ได้ รวมถึงเรื่องสิทธิการดูแลบุตรกรณีที่แยกทางกัน

อัญชนา เล่าว่า การร่างพ.ร.บ.มีข้อจำกัดหลายด้านเนื่องจากความหมายของใบทะเบียนสมรสอาจที่ทับซ้อนกับประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์ และเป็นคำถามด้านการใช้งานทางกฎหมายหลายด้าน

“พ.ร.บ.คู่ชีวิต เป็นคำใหม่ ไม่ได้อยู่ในกฎหมายไทย เป็นคำถามเรื่องการแทรกเข้าไปอยู่ในกฎหมายการสมรส คำว่า ‘คู่ชีวิต’ จะมีผลทางกฎหมายที่มักใช้คำ ‘คู่สมรส’ อย่างไรยังเป็นปัญหา”

ที่สุดแล้ว กระบวนการยังไม่คืบหน้าไปกว่าการร่างพ.ร.บ.คู่ชีวิต ในรายละเอียดของพ.ร.บ.ก็ยกข้อความจากประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์มาอ้างอิง โดยเปลี่ยนคำว่า “คู่สมรส” เป็น “คู่ชีวิต” ซึ่งทำให้เกิดความทับซ้อน

ระหว่างการร่างพ.ร.บ.มีการเชิญตัวแทนหน่วยงานราชการมาร่วมให้คำแนะนำทั้งกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ขณะที่นักกิจกรรมบางรายไม่พอใจกับร่างที่ออกมาโดยมองว่า ควรเป็นการแก้กฎหมายมากกว่าการเขียนร่างพ.ร.บ.ใหม่

“ช่วงที่ร่าง นักการเมืองที่เข้ามาทำงานตรงนี้ก็โดนแซวในสภาว่าทำไมมาทำเรื่องนี้ เป็นเกย์ไปแล้วหรือจนรู้สึกอึดอัด ตอนที่ร่างก็มีอัยการศาลเด็กและเยาวชนท่านหนึ่งมาแสดงความคิดเห็นว่ากำลังสร้างแฟรงเกนสไตน์หรือเปล่า บางคนก็ตั้งข้อสังเกตว่า ถ้ามีกฎหมายจดทะเบียนสมรสคนเพศเดียวกันได้อาจทำให้มีผู้นำไปแสวงผลประโยชน์อื่น เช่น อีกฝ่ายใกล้ตายแล้วให้จดทะเบียนเพื่อรับสิทธิต่างๆ” อัญชนา กล่าว

ระหว่างที่มีปัญหา มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศก็พยายามร่างใหม่ขึ้นมา แต่สถานการณ์โดยรวมก็ยังไม่สามารถหาทางออกได้เนื่องจากความคิดเห็นที่ไม่ตรงกันระหว่างนักการเมืองและนักสิทธิที่ขับเคลื่อนในประเด็นรายละเอียดในร่างและกระบวนการทางกฎหมาย

สุดท้ายแล้วก็ไม่ได้ข้อสรุปต่อตัวร่าง จนสถานการณ์ในสภาเริ่มอุณหภูมิร้อนแรงมากขึ้น เรื่องทางกฎหมายก็จางไป โดยระหว่างที่มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศร่างกฎหมายก็เกิดรัฐประหารเมื่อปี 2557

นอกจากนี้ อัญชนา ยังเล่าว่าในขบวนการสิทธิมีความคิดเห็นไม่ตรงกัน บางส่วนมองว่าถ้ามีกระบวนการ มีช่องทางให้ขับเคลื่อนก็ควรเดินหน้า อีกด้านมองว่าไม่อยากเข้าร่วมกับกระบวนการทางกฎหมายที่ถูกแต่งตั้งโดยคณะรัฐประหาร หรือเป็นผลพวงของรัฐประหาร กระบวนการจึงชะงักไป แต่ยังมีการพูดคุยกันในหมู่นักสิทธิอยู่บ้าง

เมื่อสอบถามไปยังนายดนัย สินจงรัตน์ ผู้อำนวยการสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย ซึ่งเป็นกรรมการมูลนิธิสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ

ผอ.สมาคมฟ้าสีรุ้งฯ เล่าว่า ณ ปัจจุบัน ไม่มีร่างไหนที่เสร็จสมบูรณ์ ไม่ว่าจะเป็นแนวทางกฎหมายที่แยกสำหรับคนเพศเดียวกันโดยเฉพาะ, สร้างกฎหมายใหม่สำหรับการสมรสที่ครอบคลุมทุกเพศ และแนวทางแก้ประมวลกฎหมายแพ่งและพาณิชย์

ความคืบหน้าล่าสุดคือ กระทรวงยุติธรรมเป็นฝ่ายที่ตั้งใจปรับปรุงร่างขึ้นมาใหม่ ซึ่งสมาคมฟ้าสีรุ้งเพิ่งไปยื่นจดหมายให้กระทรวงยุติธรรมเมื่อเดือนมกราคมที่ผ่านมา เรียกร้องให้เปิดช่องทางรับฟังความคิดเห็นจากประชาชน จัดตั้งคณะกรรมการชุมชนเพื่อรวบรวมความคิดเห็น โดยกระบวนการภาคประชาสังคมจำเป็นต้องต่อรองกับภาครัฐเพื่อให้รับฟังความคิดเห็นจากคนหลายกลุ่มก่อนยกร่างและขั้นตอนอื่นต่อไป

เส้นทางสู่ฝันสำหรับร่างกฎหมายเพื่อรับรองสิทธิในครอบครับคนเพศเดียวกันในไทยผ่านเรื่องราวหลายขั้นตอน มหากาพย์สู่ฝั่งฝันสำหรับครอบครัวของคนเพศเดียวกันที่จะสามารถจดทะเบียนสมรสระหว่างเพศเดียวกันได้เหมือนกับที่หลายประเทศเริ่มมียังต้องผ่านเส้นทางอีกมากมาย

ขอบคุณ ข่าวจาก https://gmlive.com/same-sex-marriage-law-in-thailand