เกย์ กะเทย เลสเบี้ยน สาวประเภทสอง ทอม ดี้ ไบเซ็กชวล ชายรักชาย หญิงรักหญิง คนข้ามเพศ คนหลากหลายทางเพศ หรือเพศที่พระเจ้าทรงลังเลพระทัย…ซึ่งปัจจุบันเรียกโดยรวมว่า LGBTis
สำหรับบ้านเรา เรื่องราวของคนกลุ่มนี้ยังมีความซับซ้อน และขัดแย้งอยู่อีกเพียบ แม้ว่า พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 ซึ่งเป็นกฎหมายทางเลือกในการคุ้มครอง และป้องกันสิทธิแก่ผู้ถูกเลือกปฏิบัติ โดยไม่เป็นธรรมระหว่างเพศ ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีผลบังคับใช้เป็นกฎหมายไปแล้ว เมื่อวันที่ 13 มี.ค.2558
แต่ก็ต้องยอมรับว่า ในทางปฏิบัติยังต้องให้เวลา และโอกาสสังคมไทยได้เรียนรู้ และปรับทัศนคติ เพื่อยอมรับในเรื่องเหล่านี้ได้อย่างสนิทใจ เพราะก่อนหน้านี้สิ่งเหล่านี้เคยถูกต่อต้านอย่างหนัก ทั้งในสังคมไทยและอีกหลายประเทศมาเป็นเวลาหลายศตวรรษ วันก่อน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ไปเป็นประธานในพิธีเปิด และปาฐกถาเพื่อเตรียมความพร้อม ก่อนประกาศเป็นวาระแห่งชาติว่าด้วย “สิทธิมนุษยชนร่วมขับเคลื่อนไทยแลนด์ 4.0 เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน” ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ หลักสี่
ผู้นำรัฐบาลยังคงยืนยันแนวทางทั้งป้องกันและแก้ไข
- ไม่ให้เกิดปัญหาสิทธิมนุษยชน
- ไม่ว่ากรณีการค้ามนุษย์
- การใช้แรงงานอย่างกดขี่ผิดกฎหมาย
- การทำลายทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ฯลฯ
โดยรัฐบาลชุดนี้ ยังคงยืนยันถึงเจตนารมณ์ และความมุ่งมั่น ที่จะส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนอย่างจริงจัง ผ่านทางมาตรา 4 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พ.ศ.2560 ซึ่งกล่าวถึง ศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ สิทธิเสรีภาพ และความเสมอภาคของบุคคล ซึ่งต้องได้รับความคุ้มครอง เกย์ไทย
ศิริวรรณ ขนุนทอง นักวิชาการสิทธิมนุษยชน สำนักงานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) บอกว่า การที่ผู้นำรัฐบาลย้ำเจตนารมณ์ดังกล่าวอย่างแข็งขัน ทำให้เกิดผลดีตามมาหลายระดับ ระดับประเทศ จะทำให้การส่งเสริมและคุ้มครองสิทธิมนุษยชนของเมืองไทยมีความก้าวหน้าทัดเทียมกับสากล ช่วยให้ประเทศไทย มีภาพลักษณ์ที่ดีในด้านสิทธิมนุษยชน และได้รับการยอมรับจากนานาอารยประเทศ
ระดับสังคม เมื่อหน่วยงานต่างๆเห็นความสำคัญของการนำแผนสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ไปสู่การปฏิบัติ จะทำให้สถานการณ์การละเมิดสิทธิมนุษยชนมีแนวโน้มลดลง
ส่วนระดับประชาชน จะได้รับรู้และตระหนักถึงสิทธิ หน้าที่ของตน ไม่ไปละเมิดสิทธิของผู้อื่น ทำให้สังคมอยู่อย่างสงบสุข และมั่นคงในที่สุด แต่ดูเหมือน ในความเป็นจริง แม้ว่าหัวขบวนอย่างนายกรัฐมนตรีและรัฐบาลจะประกาศก้องชูเรื่องการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนแล้วก็ตาม ใช่ว่าเรื่องบางอย่างจะดำเนินไปอย่างเสมอภาคและเท่าเทียมจริง ตามครรลองที่ควรจะเป็น ภายใต้หลักสิทธิมนุษยชนเสมอไปไม่ ยกตัวอย่างกรณี ความเสมอภาคทางเพศ ในบ้านเรา เป็นต้น
ยอมรับกันเถิดว่า มันไม่ใช่เรื่องง่ายนัก ที่จะทำให้เพศสภาพของทุกคนในสังคมไทยไร้ช่องว่าง หรือเกิดความเสมอภาคทางเพศอย่างแท้จริง
แหล่งข่าว สาวประเภทสองผู้หนึ่ง จากสมาคมฟ้าสีรุ้งแห่งประเทศไทย (Rainbow Sky Association of Thailand) บอกว่า แม้นายกรัฐมนตรีจะประกาศก้อง แต่มีหลายกรณีที่ยังคงสร้างปัญหาให้แก่ชาว LGBTis
เธอยกตัวอย่างกรณีของ กิ่งหลิว ข้าราชการประจำ ณ ที่ว่าการอำเภอแห่งหนึ่ง ผู้มีเพศกำเนิดเป็นชาย แต่วันนี้ทั้งกายและใจได้ข้ามเพศมาสู่ความเป็นหญิงแล้วเต็มตัว (“คนข้ามเพศ” หมายถึง ผู้ที่แสดงออกทางเพศ ไม่สอดคล้องกับเพศตอนกำเนิด และเพศภาวะของตน เช่น กะเทย สาวประเภทสอง ทอม เป็นต้น) เธอถูกบังคับจากระเบียบการแต่งกาย และถูกกดดันจากเพื่อนร่วมงาน รวมถึงผู้บังคับบัญชาให้แต่งกายตรงข้ามกับวิถีชีวิตที่เธอเป็น จนถูกมองเหมือนเป็นตัวตลกหรือของแปลกในที่ทำงาน เดินไปทางไหนรู้สึกอับอาย เพราะมีแต่ถูกล้อเลียนทุกครั้งที่ต้องแต่งเครื่องแบบข้าราชการชาย แถมยังต้องกังวลกับความก้าวหน้าในตำแหน่งหน้าที่การงาน และการยอมรับจากผู้บังคับบัญชาของตัวเอง
สิ่งที่กิ่งหลิวต้องการ คือ กฎหมายที่สามารถรองรับและคุ้มครองความเป็นตัวตนของคนข้ามเพศอย่างเธอ ซึ่งกรณีของกิ่งหลิว ซึ่งถูกผู้บังคับบัญชาบังคับให้ต้องแต่งกายตามเพศกำเนิดนั้น ถือว่าเข้าข่ายขัดต่อหลักสิทธิมนุษยชน ตามกฎบัตรยอกยาการ์ตา เช่นเดียวกับกรณีของ บุษย์ กะเทยไทย นักวิจัยอิสระ ซึ่งสมัครเข้าเป็นอาจารย์ประจำคณะของมหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่ง โดยสอบผ่านการคัดเลือกได้แล้วทุกขั้นตอน ทั้งข้อเขียน และการสัมภาษณ์ เหลือเพียงรอเรียกการบรรจุจ้างเท่านั้น แต่แล้วความพลิกผันก็เกิดขึ้น เมื่อคณะกรรมการบริหารมหาวิทยาลัยจำนวนหนึ่ง ปฏิเสธการรับบุษย์เข้าเป็นอาจารย์ โดยอ้างว่าบุษย์มีพฤติกรรมการแสดงออกผ่านสื่อสังคมออนไลน์ที่ไม่เหมาะสม และขัดต่อภาพลักษณ์ของการเป็นอาจารย์ ทั้งที่หลักเกณฑ์เดียวกันนี้ ไม่เคยถูกหยิบยกขึ้นมาพิจารณากับอาจารย์ และผู้สมัครรายอื่น พูดง่ายๆ สาเหตุที่แท้จริง น่าจะมาจากการที่บุษย์เป็นกะเทย และถูกกีดกันมากกว่า เรื่องเล่าของ พลอย กะเทยวัย 20 ต้นๆ ซึ่งมีอาการป่วยด้วยโรคภูมิแพ้ที่หาสาเหตุไม่ได้ และมีความจำเป็นต้องได้รับการรักษาแบบฉุกเฉิน ณ โรงพยาบาลแห่งหนึ่ง เป็นอีกกรณีที่พูดถึงกันมาก
หลังจากแพทย์ตรวจวินิจฉัย พบว่า พลอยมีความผิดปกติทางโครโมโซม แบบ XXY ส่งผลให้ร่างกายมีสภาวะแบบเดียวกับคนวัยทอง ที่ขาดฮอร์โมนเพศ ซึ่งช่วยให้ระบบของร่างกายทำงานได้เป็นปกติ แต่ตามหลักการแพทย์ทั่วไป การจะให้ฮอร์โมนเพศ เพื่อการรักษาต้องให้ฮอร์โมนตามเพศกำเนิดเป็นหลัก ซึ่งแพทย์ได้อธิบายถึงผลข้างเคียงของการรับฮอร์โมนเพศชายให้พลอยฟัง เช่น จะทำให้มีเส้นขนขึ้นตามร่างกาย และผมร่วง เป็นต้น
อย่างไรก็ดี ก่อนหน้าที่พลอยจะป่วย เธอตัดสินใจแล้วว่า จะเปลี่ยนแปลงตัวเองเป็นกะเทย หรือสาวประเภทสองอย่างเต็มตัว ดังนั้นเธอจึงไม่ต้องการใช้ฮอร์โมนเพศชาย และร้องขอทางเลือกอื่นในการรักษา แต่ก็ถูกแพทย์ปฏิเสธ หลังจากที่พลอยได้รับการรักษาด้วยฮอร์โมนเพศชาย อาการจึงกลับแย่ลง จนแพทย์ต้องมาพิจารณาใหม่ โดยแนะนำให้นักจิตวิทยามาพูดคุย ก่อนจะใช้วิธีการรักษาด้วยการให้ฮอร์โมนเพศหญิงแทน ซึ่งการรักษาครั้งหลังนี้ ฮอร์โมนเพศหญิงเข้ากันได้ดีกับร่างกายของพลอย จึงทำให้เธอแข็งแรงขึ้น และหายเป็นปกติ
บทสรุป การที่กะเทยถูกแพทย์ตัดสินใจใช้ฮอร์โมนเพศในการรักษา โดยไม่คำนึงถึงความต้องการ และเพศสภาพของผู้ป่วย ถือว่าเป็นอีกตัวอย่างที่ถือว่า ขัดกับหลักสิทธิมนุษยชน แหล่งข่าวบอกว่า ยังมีเรื่องทำนองนี้เกิดขึ้นกับชาว LGBTis อีกนับไม่ถ้วน และถ้าเป็นไปได้ เธออยากให้เรื่องเหล่านี้ถึงหู“ลุงตู่” หรือนายกฯประยุทธ์ ดูซิว่า ยังจะมีใครกล้าละเมิดสิทธิมนุษยชนกันอีกมั้ย.
ขอบคุณ ข่าวจาก https://www.thairath.co.th/content/1070779