ร่างกายความเป็นชาย: ภายใต้อำนาจรัฐและชายขอบจารีตประเพณี

//

lgbt Thai Team

beefhunt

แนวคิดเสรีนิยมใหม่ หรือ neoliberalism พัฒนาขึ้นมาพร้อมกับแนวคิดเรื่องปัจเจกและการค้าเสรีอันมีที่มาหลังจากสงครามโลกครั้งที่ 2

ซึ่งสอดคล้องอย่างเลี่ยงไม่ได้กับแนวคิดเรื่องเพศที่ร่างกายถูกเปลี่ยนให้กลายเป็นสินค้าและนำมาซึ่งมูลค่าได้ มุมมองดังกล่าวได้ถูกนำมาขยายเพื่ออธิบายความเป็นชายในสังคมไทยร่วมสมัย ในเวทีเสวนาสาธารณะหัวข้อ ‘ร่างกายและความเป็นชายในสังคมไทยร่วมสมัย’ จัดโดยสถาบันวิจัยภาษาและวัฒนธรรมเอเชีย มหาวิทยาลัยมหิดล เมื่อวันที่ 1 พฤศจิกายนที่ผ่านมา   ข่าวเกย์

The Power of Masculinity

นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ จากศูนย์มานุษยวิทยาสิรินทร เกริ่นถึงทฤษฎีของ neoliberalism โดยเริ่มต้นจากภาพ 3 ภาพ ภาพที่หนึ่งคือ ‘utilize’ หรือการใช้ประโยชน์ หากมองย้อนไปในอดีตจะพบว่าสังคมไทยมี space body แบบสมบูรณาญาสิทธิราชย์ อำนาจตรงกลางคือกษัตริย์ที่มีอำนาจเหนือชีวิตประชาชนหรือไพร่ ผู้ชายจะต้องเข้าไปทำงานให้กับวงในของระบบศักดินา เรือนร่างของผู้ชายไม่ได้ถูกมองในแง่เพศวิถี แต่เป็นเรือนร่างที่ใช้ประโยชน์ในการสร้างสังคมเป็นกลุ่มก้อนในเชิงการเมือง เพื่อจะบอกว่าเจ้าขุนมูลนายมีไพร่พลมากน้อยแค่ไหน ใครสังกัดกรมกองใด แล้วมีหน้าที่ต่อรัฐอย่างไร ฉะนั้น masculinity (ความเป็นชาย) ในสังคมสมบูรณาญาสิทธิราชย์จึงเป็นการรวบสังคมให้เป็นกลุ่มเป็นก้อนภายใต้อำนาจระบบศักดินา

Love2test

ภาพที่สอง หลังจากสยามเปลี่ยนเป็นไทยแลนด์ ความคิดแบบวิทยาศาสตร์ของตะวันตกได้เข้ามาในรัฐไทยภายใต้รัฐธรรมนูญ พร้อมกับสถาปนาตัวเองในสถาบันทางการเมือง สังคม และการศึกษา ร่างกายของชาย (และหญิง) ได้กลายเป็นสัญลักษณ์ของ civilized body เพื่อจะบอกว่าในเพศสถานะหญิงชายนั้น ควรมีปฏิบัติการทางสังคมตามลักษณะทางเพศของตัวเองอย่างไร ฐานคิดเรื่อง civilized body จึงไม่ได้จัดหมวดหมู่ของคนให้อยู่ในระบบเจ้าขุนมูลนายอีกต่อไป

สุดท้าย ภาพที่สาม เป็นช่วงเวลาที่ไทยรับเอาระบบทุนนิยมมาตั้งแต่ยุคหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 จนถึงปัจจุบัน การรับอำนาจแบบทุนนิยมเข้ามาในการควบคุมพลเมืองผ่านระบบการตลาด ทำให้เกิดการเคลื่อนที่ของเหตุผลไปสู่การสร้างอารมณ์ความปรารถนาในระดับปัจเจกเพิ่มขึ้น เรือนร่างผู้ชายจึงกลายเป็นสินค้าที่ขายได้ คนบริโภคได้ และทำให้คนอยากเสพสิ่งนี้

“ความเปลี่ยนแปลงดังกล่าวทำให้เกิดคำถามเกี่ยวกับการ transform การสร้าง human subject ในพลเมืองไทย เพราะการปรับเปลี่ยนโลกความรู้มาสู่การเป็น neoliberalism เกิดขึ้นจากการเมืองเหนือชีวิตที่ควบคุมเราโดยที่เราไม่ได้รู้สึกว่าเราถูกควบคุม ซึ่งมีคำที่ฟูโกต์ (Michel Foucault) พูดไว้นานแล้วว่า bio power เพราะว่ามันไม่ได้มาในลักษณะของปากกระบอกปืน แต่มาในรูปแบบของความรู้บางอย่างที่สอนให้เราทำสิ่งต่างๆ ภายใต้บรรทัดฐานบางอย่าง ฟูโกต์พูดเรื่องการเปลี่ยนจากกษัตริย์เป็นรัฐ ทำให้เกิดการสร้างตัวตนของมนุษย์แบบใหม่ ให้รู้สึกว่ามีอำนาจในตัวเองในการเลือกชีวิตของตนเองได้ แต่เป็นการเลือกภายใต้กรงขังใหม่”

นอกจากนี้ นฤพนธ์ยังได้ยกตัวอย่างบทความของ สตีฟ การ์ลิค (Steve Garlick) เรื่อง ‘What is Man Heterosexuality and the Technology of Masculinity’ มาประกอบ

“บทความนี้ตั้งคำถามว่า การวิจัยเรื่องความเป็นชายที่ผ่านมาค่อนข้างล้มเหลวในการตั้งคำถาม โดยมองข้ามวิธีคิดแบบ queer theory ซึ่งได้ตั้งโจทย์วิจัยใหม่ว่า การศึกษาความเป็นชายล้วนแล้วแต่ตั้งอยู่บนความเป็นชายที่ผูกติดอยู่กับระบบรักต่างเพศ แต่ไม่ได้ตั้งอยู่บนฐานคิดที่ว่าความเป็นชายเป็นสิ่งซึ่งถูกสร้างมาด้วย bio politic บางอย่าง ซึ่ง queer theory ได้ตั้งคำถามนี้มาแล้วในงานของ จูดิธ บัตเลอร์ (Judith Butler) และอีกหลายๆ ท่าน ทั้งยังได้ตั้งคำถามตั้งแต่ศตวรรษที่ 18 เป็นต้นมาที่มีการปรากฏตัวของ modern gender regime หรือภาวะที่แบ่งแยกชายหญิงออกกันอย่างชัดเจน และเรากำลังผลิตซ้ำสิ่งนี้ใน neoliberalism เราจึงควรตั้งคำถาม”

บทความอีกชิ้นหนึ่งเรื่อง ‘Neoliberal and Economic Discourse Hegemonic Masculinities’ ที่นฤพนธ์นำเสนอ ได้ตั้งคำถามสำคัญคล้ายกับบทความก่อนหน้า ว่าเพศสภาวะที่เป็นการประกอบสร้างทางสังคมกับลัทธิเสรีนิยมใหม่ทำงานร่วมกัน นั่นหมายถึงเมื่อเราพูดเรื่องนี้ เรากำลังพูดเรื่องเพศสภาวะไปพร้อมๆ กันโดยที่เราไม่ได้สนใจมัน เสรีนิยมใหม่มีนัยยะของการผลิตซ้ำ gender มากมาย และผลิตวาทกรรมรักต่างเพศให้เราเชื่อโดยสยบยอม ฉะนั้น เสรีนิยมใหม่จึงวางอยู่บนฐานความเชื่อว่า การกระทำกับเนื้อตัวร่างกายของความเป็นเพศต้องทำผ่าน rational (หลักเหตุและผล) ที่เราผลิตซ้ำ heterosexuality (รักต่างเพศ)

นฤพนธ์บอกอีกว่า neoliberalism เป็นการสร้างความหมายแบบเจ้านายเราให้เราเชื่อว่าเราต้องสร้างผลผลิตกับเนื้อตัวร่างกายของเราให้ได้ และต้องทำให้เราเชื่อว่าความเป็นชายของเราต้องลงทุนทางเศรษฐกิจ ทั้งยังกำหนดมาตรฐานกลางบางอย่างที่เป็นลักษณะที่น่าปรารถนาของความเป็นชายขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นการผ่านโฆษณาหรือสื่อต่างๆ และผลักผู้ชายประเภทอื่นๆ ให้ไปอยู่ชายขอบ เช่น ผู้ชายอ้วน ดำ เตี้ย สิ่งเหล่านี้สะท้อนให้เห็นว่า เรากำลังถูกทำให้เชื่อในอำนาจ bio power ที่กำลังทำงานอยู่

“ดังนั้น ร่างกายของความเป็นชายตั้งแต่ในยุคสมบูรณาญาสิทธิราชย์มาจนถึงยุคศิวิไลซ์ การทำให้ประเทศไทยเป็นอารยชนที่เจริญแล้ว กระทั่งยุคที่เราขายทุกอย่างเพื่อให้เรามีความสุข ล้วนแล้วแต่ย้อนให้เรากลับไปตั้งคำถามในฐานะคนที่อยู่ใต้กลไกของอำนาจเหล่านี้ ซึ่งเราจะเดินไปตามอำนาจนี้หรือเราจะทำอย่างไร”

ร่างกายและความเป็นชายในสังคมร่วมสมัย

ประเด็นต่อมา นำเสนอโดย รศ.ดร.ปุรินทร์ นาคสิงห์ จากภาควิชาสังคมวิทยา มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ โดยการศึกษาของปุรินทร์มุ่งไปยังคำถามในเรื่องความเป็นชายภายใต้บริบทสังคมร่วมสมัยที่ถูกกระทำหรือถูกผลักให้ไปอยู่ชายขอบ โดยปุรินทร์เลือกที่จะมองทบทวนผ่านงานของตนเอง โดยยกผลการศึกษาเรื่องเกย์ขึ้นมา 4 เรื่อง ได้แก่ หนึ่ง ‘เกย์: กระบวนการพัฒนาเอกลักษณ์และวิถีชีวิตทางเพศ’ สอง ‘การประกอบสร้างตัวตนเกย์ในภาพยนตร์ไทย’ สาม ‘เพศวิถีของชายชอบชายในห้องน้ำสาธารณะ’ และเรื่องที่สี่ ‘บลูดี: อำนาจพรางกับการผลิตซ้ำร่างเกย์’

“ทั้งสี่เรื่องนี้มีเรื่องของ body และ masculinity เข้ามาเกี่ยวข้องและทำให้เราเห็นถึงพัฒนาการของคอนเซ็ปต์การเปลี่ยนแปลงและเนื้อตัวร่างกายในเชิงประจักษ์ว่า ในชีวิตประจำวันของกลุ่มเกย์มีการให้คุณค่าในความเป็นชายและเรื่องของร่างกายอย่างไร”

จากนั้นปุรินทร์อธิบายโดยแยกตามหัวข้อไว้ว่า

“การศึกษาเรื่อง ‘เกย์: กระบวนการพัฒนาเอกลักษณ์และวิถีชีวิตทางเพศ’ ในช่วงเวลาที่ทำงานชิ้นนี้ การวิเคราะห์กระแสเรื่องของเกย์ภายใต้ทฤษฎีปฏิสังสรรค์สัญลักษณ์ (symbolic interaction) ซึ่งให้ความสนใจเกี่ยวกับเรื่องของกระบวนการว่าการมีตัวตนอย่างไรนั้นมีขั้นตอนพัฒนาเป็นลำดับขั้น ดังนั้น งานที่ใช้ทฤษฎีนี้จะมีการวิเคราะห์อัตลักษณ์หรือตัวตนของกลุ่ม sub culture ต่างๆ ของกลุ่ม sensitive case ต่างๆ ในขั้นตอนแบบนี้ เกย์ก็เช่นเดียวกัน ซึ่งกลุ่มตัวอย่างก็ได้เรียนรู้ความหมายผ่านการปฏิสังสรรค์กับสังคม แต่เราต้องเข้าใจว่า ในสังคมไทยจะมีการจัดจำแนกประเภทที่เราคุ้นเคย ได้แก่ กะเทย ไว้สำหรับกลุ่มของผู้ชายที่ไม่ได้ชอบผู้หญิง ที่แสดงให้เห็นถึงความเป็นหญิง เช่นกันกับตุ๊ด หรือแต๋ว กลุ่มตัวอย่างเรียนรู้ศัพท์จำพวกนี้มาโดยตลอด และถูกเบียดขับจากกลุ่มเด็กผู้ชาย

“ต่อมาจึงได้เรียนรู้ความหมายของคำว่าเกย์ กลุ่มตัวอย่างเหล่านี้มีโอกาสเรียนรู้ผ่านสื่อ สิ่งพิมพ์ ทั้งหนังสือเกย์ในยุคแรกๆ ที่มีการพูดถึงความหมายของเกย์โดยที่นิยามอาจจะสอดคล้องกับตัวตนของเขาที่ไม่ได้ต้องการที่จะมีลักษณะความเป็นหญิง จึงได้เลือกเกย์ในการนิยามตัวเอง ในกระบวนการพัฒนาอัตลักษณ์ของเกย์จากกลุ่มตัวอย่างเราจะเห็นว่า สิ่งที่สะท้อนให้เห็นถึงความเป็นชายคือการเรียนรู้เรื่องของนิยามหรือภาษา ที่กำหนดว่าเกย์จะมีแรงดึงดูดเพศเดียวกันโดยไม่ต้องการที่จะเปลี่ยนแปลงหรืออ้างอิงความเป็นหญิง ในระบบวิธีคิดจึงไม่มีการเสริมอวัยวะหรือเทคฮอร์โมน

“ความเป็นชายในกลุ่มตัวอย่างเหล่านี้มีลักษณะของความเป็นชายผ่านการปฏิบัติตัวอย่างผู้ชายทั่วไป ทั้งการแต่งตัว รวมถึงลดทอนความเป็นหญิง จริต และการแสดงออกต่างๆ และเมื่อเขายอมรับนิยามของการเป็นเกย์แล้ว เขาก็จะมีการเปิดเผยตัว โดยเลือกเปิดเผยตัวกับคนที่สามารถพูดคุยแลกเปลี่ยนกันได้และทำให้เขาได้ใช้ชีวิต มีวิถีชีวิตแบบเกย์ ส่วนที่สำคัญที่สุดคือการหาคู่นอน ซึ่งความเป็นชายมีอิทธิพลที่จะบอกว่าเขาจะได้คู่นอนหรือไม่”

การประกอบสร้างตัวตนของชายรักชายผ่านภาพยนตร์

เรื่องต่อมา ปุรินทร์นำเสนอในหัวข้อ ‘การประกอบสร้างตัวตนเกย์ในงานภาพยนตร์ไทย’ โดยทำการวิเคราะห์ภาพยนตร์ที่เกี่ยวกับเกย์ตั้งแต่ปี 2540 ภายใต้ทฤษฎี Social Construction โดยมองว่าโลกของเรานั้นล้วนถูกประกอบสร้างขึ้น ดังนั้นในความเป็นเกย์ รวมถึงตัวตนของเกย์ที่ปรากฏอยู่ในภาพยนตร์ก็เป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้นมาเช่นเดียวกัน

“ช่วงปี 2540 นั้นเป็นจุดเปลี่ยนที่สำคัญของสังคม ทั้งรัฐธรรมนูญ ความเสมอภาคทางเพศต่างๆ รวมถึงกลุ่มคนที่มีความหลากหลายทางเพศ ซึ่งตัวตนของเกย์ที่พบนั้นมีความหลากหลายทั้งรูปร่างหน้าตา เนื้อตัวร่างกาย ลักษณะการประกอบอาชีพ อย่างไรก็ตาม ก็จะมีการพยายามสร้างอุดมคติที่คาดหวังให้เกย์เป็นในฐานะพลเมืองที่ดีของรัฐ นั่นคือตัวละครจะต้องเป็น normalize มีหน้าที่การงาน ไม่ได้มีจริตที่เกินเลย”

ปุรินทร์ชี้ให้เห็นว่า สิ่งที่ภาพยนตร์พยายามนำเสนอผ่านการประกอบสร้างตัวตนเกย์ มีอยู่ 3 ข้อด้วยกัน คือ

หนึ่ง ทำให้เกิดความแตกต่าง ตัวตนเกย์ที่ชัดเจนจะต้องทำให้เห็นระหว่างเกย์กับกะเทย ถ้าย้อนไปยังภาพยนตร์ก่อนปี 2540 จะเห็นความคลุมเครือของตัวตนเกย์กับตัวตนกะเทย ซึ่งเป็นการสร้างคู่ตรงข้ามกันโดยปริยาย

สอง มีการให้คุณค่ากับความเป็นชาย ทำให้ไม่เกิดความแตกต่างระหว่างชายรักชาย กับชายรักต่างเพศ หมายถึง ภาพยนตร์พยายามแสดงให้เห็นว่าโดยผิวเผินเราไม่สามารถจำแนกได้ว่าใครเป็นเกย์หรือไม่ นั่นคือการบอกว่าความเป็นเกย์ก็ไม่ได้แตกต่างจากความเป็นชายทั่วๆ ไป

สาม ทำให้เกิดการลดการจับจ้องหรือลดการลงโทษทางสังคม รวมไปถึงการประทับตรา

“แต่แม้ว่าจะพยายามสร้างให้เกย์ไม่มีความแตกต่างจากผู้ชายโดยทั่วไป ก็พยายามสร้างอุดมการณ์ความเป็นชายผ่านการสร้างวินัย สร้างซิกซ์แพ็คหรือกล้ามเนื้อต่างๆ”

‘รัก’ ชายขอบ

งานศึกษาชิ้นต่อมา ปุรินทร์นำเสนอเรื่อง ‘เพศวิถีของชายรักชายในห้องน้ำสาธารณะ’ ซึ่งถือเป็น sub culture ในการให้คุณค่าเกี่ยวกับการมีเพศสัมพันธ์ในที่สาธารณะ ซึ่งมักจะเกี่ยวข้องกับความเป็นเกย์

“ความเป็นชายเข้ามามีบทบาทอย่างไรในเรื่องของเพศวิถีว่าด้วยการหาคู่นอนในที่สาธารณะ ต้องยอมรับว่าความเป็นชายมีอิทธิพลในการเป็นหลักประกันว่าเราจะได้คู่นอนหรือไม่ โดยผู้ที่มีความเป็นชายในลักษณะอุดมคติจะมีโอกาสมากกว่า แน่นอนว่าการหาคู่นอนในห้องน้ำสาธารณะ ถ้ามีการปฏิสังสรรค์กันโดยตรง นั่นหมายความว่าพวกเขาจะต้องอยู่ในพื้นที่เดียวกัน เพราะฉะนั้นต้องมีการประเมินและให้คุณค่ากับความเป็นชาย เว้นแต่ว่าจะไม่ได้มีการ interaction กันโดยตรง”

ประเด็นสุดท้าย ปุรินทร์พาไปสำรวจผ่านแอพพลิเคชั่นที่ชื่อว่า ‘บลูดี’ ภายใต้หัวข้อ ‘บลูดี: อำนาจพรางกับการผลิตซ้ำร่างเกย์’ ซึ่งเป็นแอพพลิเคชั่นที่พยายามสร้างเครือข่ายสังคมออนไลน์ของเกย์ แต่ในขณะเดียวกัน บทบาทของบลูดีกลับมีลักษณะที่ไม่สอดคล้องกับวัตถุประสงค์ที่ตั้งขึ้น เพราะมักถูกใช้ในการนัดไปมีความสัมพันธ์ทางเพศ จากการสังเกตของปุรินทร์พบว่า บทบาทของบลูดีในการหาคู่ถ่ายทอดสด จะมีการหลีกเลี่ยงการควบคุมของนโยบายเว็บผ่านการตั้ง private ซึ่งเป็นการตอกย้ำหรือเป็นการผลิตซ้ำลักษณะบางอย่างให้กับลักษณะของชุมชนเกย์

“ประการแรกคือ เรื่องของร่างในอุดมคติที่เกย์ให้คุณค่า ทั้งความเป็นชาย การมีหุ่นดี หรือการโชว์อวัยวะเพศ ขณะเดียวกัน ร่างนอกอุดมคติที่เกย์ไม่ให้คุณค่า ส่วนใหญ่จะถูกรังเกียจ ก็ยังสามารถมีพื้นที่ให้เขาหารายได้ได้เช่นกัน เช่น การแต่งหญิง แสดงพฤติกรรมประหลาด หรือตลก ขณะเดียวกัน เกย์ก็ยอมรับตัวตนรองในฐานะตัวตนหนึ่งเช่นกัน อย่างไรก็ตาม แคมเปญต่างๆ ที่แอพพลิเคชั่นจัดขึ้นก็ยังให้ความสำคัญกับความเป็นชาย เช่น การเชิญคนหุ่นดี มีชื่อเสียง มาจัดรายการในแต่ละช่วง”

“ทั้งสี่เรื่องนี้จะเห็นว่า ร่างกายความเป็นชายเป็นการประกอบสร้างที่มีการให้ความหมายในลักษณะต่างๆ ดังนั้น เมื่อเราถามว่าความเป็นชายจริงๆ คืออะไร ก็คงจะพูดลำบาก เพราะแต่ละคน แต่ละยุคสมัยล้วนแล้วแต่มีเหตุผลในการนิยามความหมายของความเป็นชาย และในความหลากหลายนั้นเราจะเห็นความพยายามในการสร้างอุดมคติของความเป็นชาย ไม่ว่าจะเป็นหุ่นดี มีกล้ามเนื้อ สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีความสำคัญว่าจะหาคู่สำเร็จหรือไม่ จะเห็นว่าความเป็นชายในโลกของเกย์โดยเฉพาะอย่างยิ่ง sub culture และกามารมณ์ จะมีการเปลี่ยนแปลงไป ความหายของความเป็นชายจึงไม่ได้หยุดนิ่งหรือตายตัว”

ขอบคุณ ข่าวจาก https://waymagazine.org/gender-neo-liberalism/