ย้อนรอยความเป็นมาของกระแส Androgynous ในโลกแฟชั่น

//

lgbt Thai Team

beefhunt

วันเวลาช่างผ่านไปไว เผลอแป๊บเดียวเราก็เดินทางมาถึงปี ค.ศ. 2019 ซึ่งเป็นอีกปีสำคัญที่นิตยสารแอล

ประเทศไทยอยู่คู่กับคุณผู้อ่านมานานถึง 25 ปี และในโอกาสที่เราก้าวเข้าสู่วัยเบญจเพส วัยที่เราเติบโตขึ้นอีกขั้น คอลัมน์ Inside Fashion ขอทำหน้าที่เป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็มเรื่องราวและข่าวสารของโลกแฟชั่นให้คุณผู้อ่านได้เสพกันในหลากหลายแง่มุม ทั้งเบื้องลึกและที่มาที่ไปว่าอะไรคือเหตุปัจจัยที่ทำให้เกิดเรื่องราวเหล่านั้นด้วยเนื้อหาที่เข้มข้นขึ้นไปอีกขั้น และสำหรับฉบับเดือนมกราคมต้อนรับปีใหม่เราจะขอกลับไปพูดถึงกระแสแฟชั่นที่ร้อนแรงตลอดปีที่ผ่านมา ซึ่งแอลเชื่อว่าจะยังคงเป็นเมเจอร์เทรนด์ของโลกแฟชั่นที่ร้อนแรงยิ่งขึ้น เพราะหากเราเปรียบแฟชั่นเป็นดั่งวัฏจักร ตอนนี้โลกได้หมุนมาบรรจบพบกับกระแส androgynous อย่างจัง กระแสที่ชักชวนให้คนรักแฟชั่นป่าวประกาศออกไปดังๆว่าเราได้เดินทางมาถึงยุคที่การใช้เครื่องแต่งกายภายนอกเป็นเส้นแบ่งระหว่างเพศได้เบาบางลงทุกที   เกย์แฟชั่น

Androgynous คืออะไร
‘androgynous’ ไม่ใช่เพิ่งเกิดขึ้นใหม่ในโลกของแฟชั่นแต่อย่างใด แต่เป็นสิ่งที่เคยเกิดขึ้นในอดีตมาหลายยุคสมัย เมื่อใดก็ตามที่สังคมหยิบยกประเด็นของความไม่เท่าเทียมระหว่างเพศขึ้นมาเป็นบทสนทนาหลัก คำนี้ก็มักจะถูกหยิบมาพูดถึงอยู่เสมอ หากอ้างอิงคำจำกัดความตามอภิธานศัพท์ด้านเพศวิถี (sexuality) แล้วคำว่า ‘androgynous’ หมายถึง ‘ทั้งสองเพศรวมกัน’ อธิบายขยายความให้เข้าใจก็คือ ‘การแสดงออกทางเพศที่ไม่ตรงตามแบบแผน’ โดยมีการแต่งกายเป็นหนึ่งในช่องทางการแสดงออกที่ว่า ซึ่งแท้จริงแล้วเพศสรีระ (sex) สามารถจำแนกโดยหลักชีววิทยาด้วยการเรียกเพศของมนุษย์ตามลักษณะอวัยวะเพศโดยกำเนิดหรือตามลักษณะทางโครโมโซมเพศ แตกต่างจากเพศสภาพ (gender) ที่กระบวนการทางสังคมมีผลต่อการปลูกฝังค่านิยมและบรรทัดฐานที่ส่งผลต่อรสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ นักวิชาการหลายท่านยังกล่าวไว้ว่าความเป็นหญิงและชายถูกกำหนดขอบเขตในการแสดงออกทางเพศตรงกับบรรทัดฐานของสังคมและกรอบของเพศอย่างชัดเจนนั้นมีผลพัวพันกับความสัมพันธ์เชิงโครงสร้างของอำนาจการปกครองที่ซ่อนเร้น และเพื่อใช้เป็นเกณฑ์ในการกำหนดบทบาทหน้าที่ของคนในสังคม โดยสังคมลักษณะนี้มักชูให้เพศสภาพหนึ่งอยู่เหนือเพศสภาพหนึ่งเสมอ ดังเช่นที่เราเห็นผู้ชายในหลายสังคมและวัฒนธรรมถูกเทิดทูนมากกว่าผู้หญิง การแสดงออกไม่ตรงตามเพศสภาพด้วยการแต่งกายสลับขั้วไปมาจึงกลายเป็นจุดเริ่มต้นในการสร้างบรรทัดฐานใหม่ที่จะมาสั่นคลอนระเบียบโครงสร้างของสังคมที่มีอยู่เดิม

Love2test

มากกว่าการแต่งกายแบบผู้ชายคือการแสดงออกถึงความเท่าเทียม
androgynous จึงกลายเป็นดั่งสัญญะของโลกในอุดมคติแบบเสรีประชาธิปไตย ตัวอย่างเช่น Sarah Bernhardt นักแสดงชาวฝรั่งเศสชื่อดังในช่วงปลายศตวรรษที่ 19 เลือกสวมชุดสูทและกางเกงสั่งตัด เธอยังคงแสดงออกทางเพศอย่างคลุมเครือผ่านตัวละครในเรื่อง Hamlet ในปี ค.ศ. 1899 สิ่งแปลกใหม่ที่เธอทำสร้างความฮือฮาไปทั่วปารีสซึ่งในขณะนั้นสาวๆยังคงนิยมใส่กระโปรงคริโนไลน์ที่ซ้อนทับผ้าหลายชั้นบนโครงสุ่มตามแบบฉบับสาวยุควิกตอเรียน ต่อมา Gabrielle Chanel กูตูริเยร์คนดังก็ลุกขึ้นมาสวมกางเกงกับเสื้อลายขวางอย่างที่กะลาสีหนุ่มสวมใส่ จากรสนิยมความชื่นชอบส่วนตัวแปรเปลี่ยนเป็นแรงผลักดันให้ลุกขึ้นมาปลดแอกผู้หญิงจากแฟชั่นแสนอึดอัดที่บีบบังคับให้เรือนร่างอยู่ภายใต้พันธนาการของคอร์เซตรัดทรง Marlene Dietrich นักแสดงและสไตล์ไอคอนคนดังจากยุคภาพยนตร์ขาวดำยังนิยมสวมเครื่องแต่งกายที่ดูเหมือนออกแบบไว้สำหรับผู้ชายให้เห็นอยู่บ่อยครั้ง หรือจะเป็น Yves Saint Laurent นักออกแบบหัวก้าวหน้าแห่งทศวรรษที่ 1960 ออกแบบชุด ‘Le Smoking’ ทักซีโด้สำหรับสุภาพสตรี ซึ่งถือเป็นการก้าวข้ามเส้นแบ่งระหว่างเพศโดยใช้เครื่องแต่งกายในการปลดแอก สิ่งที่เมอซิเออร์แซงต์ โลรองต์ทำในขณะนั้นถือว่าผิดกฎหมายและท้าทายจารีตแบบเดิมๆที่เคยปรากฏเมื่อ 2 ศตวรรษก่อนหน้า ช่วงเวลาที่ฝรั่งเศสมีกฎหมายห้ามผู้หญิงแต่งตัวเหมือนผู้ชายเดินไปมาในที่ธารกำนัลถือเป็นอีกหนึ่งกรณีที่มีการใช้แฟชั่นเป็นเครื่องมือเชิงสัญลักษณ์เพื่อเรียกร้องความเท่าเทียมระหว่างเพศอย่างเห็นผล

 

มากกว่าการแสดงออกถึงความเท่าเทียมคือการบ่งบอกรสนิยมทางเพศ
จากจุดเริ่มของการใช้เสื้อผ้าในการแสดงออกเชิงสัญลักษณ์ทางเสรีภาพและความเท่าเทียมกันในสังคม โดยจะเกี่ยวกับรสนิยมทางเพศของผู้สวมใส่ว่าจะเป็นชายจริงหญิงแท้หรือไม่ก็ตาม การได้รับความสนใจและความนิยมนั้นขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมว่าเปิดกว้างมากเพียงใด ดังที่เห็นได้จากกระแสแฟชั่นช่วงทศวรรษที่ 1970 หรือที่เราเรียกกันติดปากว่า ‘ยุคบุปผาชน’ อิทธิพลของสังคมหลังยุคสงครามโลกครั้งที่ 2 ผลักดันให้ผู้คนออกมาทำตามสิ่งที่สร้างความสุขให้ตนหลังจากต้องทนขมขื่นจากการสูญเสีย ส่งผลให้ผู้คนในยุคดังกล่าวมองเรื่องของความอิสระและความรักเป็นสิ่งสูงสุดในชีวิต และนับว่าเป็นหนึ่งในยุคทองของการปฏิรูปการแต่งกายด้วยเสื้อผ้าที่แสดงออกถึงความกำกวมระหว่างความเป็นหญิง และความเป็นชายอย่างเห็นได้ชัด โดยมีศิลปินที่พ่วงด้วยตำแหน่งสไตล์ไอคอนทั้ง David Bowie, Grace Jones, Annie Lennox และ Prince ที่นับได้ว่าเป็นกระบอกเสียงสำคัญในการผลักดันให้กระแสของ gender-bending ขยายออกไปเป็นวงกว้าง ก่อให้เกิดปรากฏการณ์สร้างบรรทัดฐานของสังคมโดยไม่ได้ลบล้างค่านิยมแบบเดิมที่ถูกกำหนดมาช้านาน แต่เป็นการเพิ่ม ‘ทางเลือกใหม่’ ให้กับโลกใบนี้ จนเมื่อเข้าสู่ศตวรรษที่ 21 ยุคของการปฏิวัติเพศสภาพมีให้เห็นได้ชัดเจน ผู้คนมีตัวอย่างในการแสดงออกทางเพศวิถีที่เพิ่มมากขึ้นจนก่อเกิดคำจำกัดความใหม่เกี่ยวกับเพศเพิ่มขึ้นมาอย่างมากมายหลายหลากเท่าที่มนุษย์พึงพอใจ และรู้สึกได้รับการยอมรับจากสังคม แม้แต่สรรพนามที่ใช้ระบุเพศยังเพิ่มจากเดิมที่มีเพียง he และ she พัฒนาเป็นคำสรรพนามใหม่ที่ไม่มีเพศอย่างคำว่า zie และ per

เส้นแบ่งทางเพศไม่ได้พังทลายแต่จะแนบชิดจนกลายเป็นเนื้อเดียว
เราได้เดินทางมาถึงยุคที่กำแพงขวางกั้นความเท่าเทียมระหว่างเพศบางลงไปทุกที เส้นแบ่งที่ใช้เครื่องแต่งกายเป็นตัวกำหนดเพศวิถีเริ่มเจือจาง สืบเนื่องมาจากอิทธิพลในการแสดงออกของคนจากยุค ‘เบบี้บูมเมอร์ และเจน-เอ็กซ์’ ประกอบกับโลกของการสื่อสารที่ไร้พรมแดนมากยิ่งขึ้นก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสารได้อย่างรวดเร็ว จึงไม่น่าแปลกใจที่คนยุคใหม่มีความคิดสุดล้ำจะลุกขึ้นมาแสดงจุดยืนที่ไม่ต้องการให้ใครมาจำกัดความรูปแบบการดำเนินชีวิตและรสนิยมของตนผ่านอาภรณ์เหล่านั้น Cara Delevingne คือหนึ่งในนางแบบและนักแสดงตัวแทนของคนยุคมิลเลนเนียลที่มักใช้แฟชั่น androgynous แสดงตัวตนอย่างชัดเจน รวมทั้งยังเป็นนักเคลื่อนไหวทางสังคม หนึ่งในเรื่องที่เธอผลักดันมาโดยตลอดคือความหลากหลายทางเพศ (LGBTQ) เธอต้องการแสดงออกถึงเพศวิถีที่เลื่อนไหลไปมา (gender-fluid คือการแสดงออกทางเพศหรืออัตลักษณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปมาระหว่างผู้ชาย/ความเป็นชาย และผู้หญิง/ความเป็นหญิง) โดยหนึ่งในเหตุการณ์สำคัญเมื่อเร็วๆนี้คือการที่เธอเลือกสวมทักซีโด้จาก Emporio Armani ไปร่วมงานเสกสมรสระหว่างเจ้าหญิง Eugenie และ Jack Brooksbank เมื่อเดือนตุลาคมปีที่ผ่านมา เธอได้สร้างประเด็นให้สังคมหยิบยกมาถกเถียงในเรื่องต่างๆ ทั้งความเหมาะสม ธรรมเนียมปฏิบัติ เสรีภาพในการแต่งกาย แต่สุดท้ายแล้วเธอก็ออกมาให้สัมภาษณ์กับนิตยสาร Grazia UK ว่าเธอได้ส่งข้อความหาเจ้าหญิงยูจินีเพราะเธอนั้นอยากส่วมชุดทักซีโด้มีหางมาโดยตลอดแต่ยังมีความกังวลใจในทำเนียมปฏิบัติการเข้างานของราชวงศ์ “ฉันส่งข้อความหาเจ้าหญิงยูจินี เพราะฉันก็ไม่ค่อยมั่นใจเท่าไรว่าจะใส่ได้ ซึ่งเธอก็ตอบกลับมาว่า… แน่นอน! ฉันก็ไม่ได้คาดหวังอย่างอื่นไปจากเธอ” นอกจากมีสื่อชั้นนำระดับโลกหลายเจ้าเลือกให้ชุดของเธอเป็นหนึ่งในชุดที่ดีที่สุดของงานนี้แล้ว การกระทำของคาร่ายังนำมาซึ่งเสียงชื่นชมจากนักวิจารณ์ที่พูดถึงความกล้าหาญ เพราะสิ่งที่เธอทำแสดงให้เห็นว่าวัตถุประสงค์ที่แท้จริงนั้นไม่ใช่ต้องการลบล้างขนบธรรมเนียมและวิธีปฏิบัติแบบดั้งเดิมที่ว่าในขั้นต้น แต่เธอช่วยเพิ่มทางเลือกให้กับสังคมยุคใหม่ที่ทุกอย่างต้องปรับตัวให้มีความร่วมสมัย ยุคที่คนแนวคิดอนุรักษนิยมและหัวสมัยใหม่อยู่ด้วยกันอย่างกลมเกลียว

เสื้อผ้าจึงเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่แสดงออกเชิงสัญลักษณ์ที่แฟชั่น androgynous หยิบยกมาใช้เพื่อขับเคลื่อนสังคมให้ก้าวไปข้างหน้าจนถึงจุดที่มนุษย์ทุกคนมีความเท่าเทียม มีความสุขจากการได้รับเกียรติและการยอมรับจากสังคม เพราะสิ่งที่บ่งบอกตัวตนถึงความเป็นหญิงหรือชาย จะร้ายหรือดี อยู่ที่เจตนาและการกระทำมิใช่เพียงแค่การสังเกตผืนผ้าไม่กี่เมตรที่ตัดเย็บสำหรับห่อหุ้มร่างกายเพียงเท่านั้น

ขอบคุณ ข่าวจาก https://www.ellethailand.com/ellesterblog/androgynous-in-fashion/