ช่วงไม่กี่เดือนมานี้มีผลการศึกษาใหม่ทางวิทยาศาสตร์หลายชิ้น ที่เป็นหลักฐานยืนยันว่าพฤติกรรมรักเพศเดียวกันโดยเฉพาะอย่างยิ่งในเพศชายนั้น
ส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากปัจจัยทางพันธุกรรมและสภาพทางชีวเคมีในร่างกายของมารดาขณะตั้งครรภ์ ซึ่งผลการค้นพบเหล่านี้ช่วยโต้แย้งความเห็นบางส่วนในสังคมที่มองกันว่า การเป็นเกย์คือพฤติกรรมเลียนแบบตามแฟชั่นหรือเป็นเพียงทางเลือกหนึ่งในการใช้ชีวิตเท่านั้น เกย์แฟชั่น
ทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยนอร์ทชอร์ (North Shore University )ในรัฐอิลลินอยส์ของสหรัฐฯ เผยว่าพบหน่วยพันธุกรรมหรือยีน 2 ตัวในกลุ่มชายรักชาย ที่มีความผันแปรไปจากลักษณะปกติที่พบในยีนตัวเดียวกันของกลุ่มชายรักเพศตรงข้าม โดยเชื่อว่าอิทธิพลของยีนทั้งสอง ซึ่งมีลำดับเบสในดีเอ็นเอผิดแปลกไปเพียงตัวเดียวนี้ ทำให้ผู้ชายหลายคนมีแนวโน้มที่จะเป็นเกย์มากกว่าคนอื่น
- แรงกดดันจากครอบครัวบีบเกย์จีนต้องเข้า ‘บำบัดแก้เกย์’
- แต่งงานเพศเดียวกันตามกฎหมายครั้งแรกในออสเตรเลีย
- ส.ส.ออสเตรเลีย ขอคนรักเพศเดียวกันแต่งงานในสภา
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร Nature Scientific Reports ระบุว่าทีมวิจัยได้เปรียบเทียบแผนที่พันธุกรรมของชายที่เป็นเกย์ 1077 คน กับชายที่มีพฤติกรรมรักเพศตรงข้าม 1231 คน จนพบยีนที่มีความแตกต่างออกไป 2 ตัว ได้แก่ยีน SLITRK6 ซึ่งทำงานในสมองส่วนที่มีไฮโปทาลามัสอยู่ด้วย และยีน TSHR ซึ่งมีบทบาทควบคุมการทำงานของต่อมไทรอยด์ โดยถือเป็นครั้งแรกของวงการวิทยาศาสตร์ที่สามารถระบุตัวยีนซึ่งส่งผลต่อพฤติกรรมทางเพศโดยตรงได้
ผู้เชี่ยวชาญระบุว่า ยีนทั้งคู่น่าจะมีผลต่อการรักเพศเดียวกันจริง เพราะมีผลวิจัยก่อนหน้านี้ที่พบว่า ขนาดของส่วนไฮโปทาลามัสในสมองของชายเกย์และชายทั่วไปนั้นมีขนาดไม่เท่ากัน ทั้งเกย์นั้นมักจะมีอาการต่อมไทรอยด์ทำงานมากเกินไป คล้ายอาการของโรคเกรฟส์ (Graves’ disease ) จนทำให้มีรูปร่างผอมบางกว่าปกติ
อีกผลการวิจัยหนึ่งจากมหาวิทยาลัยบร็อก (Brock University) ในแคนาดา พบว่าชายที่มาจากครอบครัวซึ่งมีพี่ชายร่วมท้องมารดาเดียวกันหลายคน จะมีแนวโน้มรักเพศเดียวกันได้มากกว่า โดยเรื่องนี้ไม่ได้เป็นผลจากสภาพแวดล้อมหรือการเลี้ยงดู แต่เกิดจากผลกระทบทางชีวเคมีในครรภ์มารดา
ผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในวารสาร PNAS ของสถาบันศึกษาด้านวิทยาศาสตร์แห่งชาติสหรัฐฯ ระบุว่า ผลการตรวจวิเคราะห์เลือดกลุ่มตัวอย่างที่เป็นหญิง 142 คน พบว่าหญิงที่มีลูกชายหลายคนและลูกชายคนหลัง ๆ เป็นเกย์ จะมีปริมาณของแอนติบอดีที่ทำลายโปรตีนชนิดหนึ่งซึ่งสร้างจากโครโมโซมวาย (Y) ของทารกชายมากที่สุด ผู้ที่มีแอนติบอดีนี้ในปริมาณรองลงมาคือแม่ที่มีลูกเป็นเกย์โดยลูกคนนั้นไม่มีพี่ชายร่วมมารดา ส่วนแม่ที่ไม่มีลูกชายเป็นเกย์หรือไม่มีลูกชายเลยมีปริมาณแอนติบอดีชนิดนี้ในเลือดน้อยที่สุด
นักวิจัยสันนิษฐานว่า แอนติบอดีที่สะสมในร่างกายของแม่ที่มีลูกชายมาแล้วหลายคน ส่งผลกระทบต่อการก่อตัวและเชื่อมโยงกันของระบบประสาทในสมองของลูกชายคนที่เกิดตามมาภายหลัง เนื่องจากแอนติบอดีจะไปทำลายโปรตีนที่มีส่วนสำคัญในพัฒนาการทางสมองด้านที่เกี่ยวกับพฤติกรรมทางเพศของทารกชายขณะอยู่ในครรภ์ได้
อย่างไรก็ตาม ทีมนักวิทยาศาสตร์ที่เกี่ยวข้องบอกว่า ผู้ชายที่มี “ยีนเกย์” ทั้งสองตัว หรือที่มาจากครอบครัวซึ่งมีพี่ชายหลายคนนั้น ไม่จำเป็นจะต้องเติบโตขึ้นมาเป็นคนรักเพศเดียวกันเสมอไป เพราะเชื่อว่ายังมียีนตัวอื่น ๆ ที่ยังค้นหาไม่พบ รวมทั้งมีปัจจัยอื่นเช่นเรื่องของสภาพแวดล้อมเข้ามาเกี่ยวข้องด้วย
ขอบคุณ ข่าวจาก https://www.bbc.com/thai/features-42395468