ตั้งแต่ต้นปีเรื่องของกลุ่มเกย์ หรือกลุ่มหลากหลายทางเพศ หรือที่เขาเรียกว่ากลุ่ม “LGBTIQ” ในระดับภูมิภาค หรือระดับโลก มีสิ่งที่น่าสนใจนำมาบอกเล่าสู่กันฟังมากขึ้น พฤหัสบดีที่ 13 เมษายน 2560 เวลา 08.00 น.
มาถึงช่วงเทศกาลสงกรานต์แล้ว อันดับแรกก็ขอให้ทุกท่านมีความสุขสนุกกับการเล่นน้ำสงกรานต์ และได้กลับบ้านไปอยู่กับครอบครัว บางเรื่องที่รัฐบาลขอมาก็อย่าได้ขุ่นเคือง เพราะเขาทำไปเพื่อความหวังดี ถ้าผลของอุบัติเหตุคือถึงตาย แต่ที่ไม่ตายและพิการก็จะยิ่งกลายเป็นภาระของคนที่ต้องมาดูแล
จะว่าไป เทศกาลสงกรานต์บ้านเรา เป็นอะไรที่หลายชาติเขาชอบกัน เคยคุยๆ กับชาวต่างชาติที่มาเล่นน้ำแถวสีลม พอเมาๆ ก็ลูบจับควักล้วงถ้าไม่เลยเถิดก็ไม่ว่ากัน ที่สำคัญมันมีนัยยะของความเซ็กซี่ คนหุ่นดีๆ ก็ฟิตร่างกายมาโชว์หนุ่มๆ ถอดเสื้อเล่นน้ำ สาวๆ ก็ใส่เสื้อตัวจิ๋วๆ เปียกทีทั้งรัดทั้งเห็นไปถึงไหนๆ ก็อย่างว่ายุคสมัยมันเปลี่ยน เกย์ท่องเที่ยว
จริงอยู่การมองอะไรแบบนี้ ก็สื่อถึงเรื่องความเป็น “วัตถุทางเพศ” แต่บ่อยไปที่คนถูกมอง รู้สึกภูมิใจว่ามีแรงดึงดูดทางเพศ คนสนใจเพราะความนิยมชมชอบรูปร่างไปจนถึงขั้นอยากกิน ไม่ต้องไปดูการมองในพื้นที่เล่นน้ำสงกรานต์หรอก ทุกวันนี้โลกโซเชียลฯ คนหุ่นดีๆ ก็พร้อมโชว์เต็มไปหมด เป็นเนตไอดอลแบบไม่ต้องรอแมวมอง
กลุ่มหนึ่งที่เป็นสีสันก็คือ “เกย์” ที่แทบจะเรียกได้ว่า “ยึดสีลม” เล่นกันจนดึกดื่น ปล่อยตัวปล่อยใจ แต่งหญิงหรือแต่งเซ็กซี่มาเล่นน้ำสนุกเต็มที่ ตามความหมายเดิม “gay” แปลว่าสนุกสนาน เพราะฉะนั้นมีเทศกาลดีๆ ก็พร้อมเข้าร่วมสนุกเต็มที่ พื้นที่เปิดก็ไปร่วมงาน บางทีก็จัดงานในพื้นที่ปิดส่วนตัวอีก เช่น ปิดผับบาร์ ปาร์ตี้ ดริงค์ แดนซ์
มีบางคนว่า บ้านเราไทยแลนด์ คือ “gay destination of Asia” เพราะกลุ่มเกย์มาเที่ยวที่นี่มีความปลอดภัยสูง ไม่มีกลุ่ม “homophobia” แรงๆ ออกมาต้านหรือรุมทำร้าย มีสถานบริการสถานที่ท่องเที่ยวดีๆ ที่ต้อนรับ มีกิจกรรมสนุก ๆ ที่สำคัญคือ “มีเสรีภาพในการแสดงออก” ซึ่งคนไทยยอมรับตัวตนของเกย์ได้ระดับหนึ่ง ถ้าให้นึกประเทศที่คล้ายๆ ไทย อีกชาติก็น่าจะเป็น “ไต้หวัน” แต่ก็ไม่ขึ้นชื่อเท่าประเทศไทย
ตั้งแต่ต้นปีเรื่องของกลุ่มเกย์ หรือกลุ่มหลากหลายทางเพศ หรือที่เขาเรียกว่ากลุ่ม “LGBTIQ” ในระดับภูมิภาค หรือระดับโลก มีสิ่งที่น่าสนใจนำมาบอกเล่าสู่กันฟังมากขึ้น ความว่า กลุ่มหลากหลายทางเพศมีการเคลื่อนไหว เพื่อเรียกร้องสิทธิในด้านต่างๆ ที่สำคัญลองนึกดูสิ่งที่เขาเรียกร้อง อันดับแรก คือ เรื่องการยอมรับตัวตนว่า เพศไหนก็มีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกับกลุ่มตรงเพศ (straight) ไม่ใช่เรื่องตลก มองเหยียด หรือเกลียดกลัว
“ไม่ใช่อะไรที่ต้องมองเหยียด” มันก็มีการแก้ไข “ปฏิบัติการทางภาษา” ไปบ้างแล้ว เดิมการเป็นกลุ่มหลากหลายทางเพศ ถูกมองเป็นเรื่องผิดปกติ เวลาใช้คำเรียกกลุ่มนี้ก็จะเป็น “ผิดเพศ” หรือ “เบี่ยงเบนทางเพศ” ซึ่งเป็นคำที่มีความมายเชิงลบทั้งสิ้น การต่อสู้เพื่อสร้างคำใหม่ในการจำกัดความก็ทำให้ได้คำว่า “กลุ่มหลากหลายทางเพศ” มาใช้แทน
“การยอมรับตัวตน” คือ สามารถเปิดเผยตัวตนได้อย่างภูมิใจ สังคมเข้าใจว่าเรื่องการรักร่วมเพศเป็นเรื่องธรรมดา ซึ่งตอนนี้ “ภาพอันเป็นปกติ” นั้น เริ่มถูกใส่เข้ามาในภาพยนตร์ฮอลลีวูด อยู่ในหนังชายจริงหญิงแท้ทั่วไป กระทั่งหนังบล็อกบัสเตอร์ (หนังฟอร์มยักษ์) ที่มุ่งขายคนทุกเพศทุกวัย หวังว่าภาพปรากฏในหนัง แล้วคนดูรู้สึกไม่แปลกแยก
หนังที่มีฉากรักร่วมเพศ ที่พูดถึงกันมากตั้งแต่ต้นปี คือเรื่อง “beauty of the beast” ที่มีตัวประกอบคู่หนึ่งเป็นเกย์ มันฮือฮาขึ้นมาเมื่อเป็นข่าว โดยรัสเซียต้องการแบนฉากนี้ เพราะมีกฎหมายห้ามสื่อนำเสนอภาพรักร่วมเพศ (นัยว่าเยาวชนเลียนแบบ) และมาเลเซียก็จะตัดฉาก ดิสนีย์จึงบอกว่า หากมาเลเซียจะตัดฉาก ก็ไม่ต้องเอาไปฉาย ส่วนรัสเซีย ก็เหมือนจะต้องกำหนดกลุ่มอายุผู้ชมไป
จริงๆ ก็เป็นเรื่องที่เถียงกันไม่จบ การแสดงพฤติกรรมรักร่วมเพศออกสื่อ เยาวชนจะเกิดการเลียนแบบหรือไม่??? เป็นไปได้ไหมที่ไม่จำเป็นต้องดูสื่อแล้วอยากเลียนแบบ ในกลุ่มเด็ก “gender blind” คือรู้เพศกำเนิด แต่ไม่ชัดเจนว่า อยากแสดงบทบาททางเพศแบบไหน พอเห็นอะไรก็เลียนแบบ จึงเป็นมุมมองและวิธีคิดของแต่ละคนที่แตกต่าง
หนังบล็อกบัสเตอร์อีกเรื่องหนึ่ง ที่ใส่เรื่องความเป็นหลากหลายทางเพศ คือ “power ranger” ยอดมนุษย์ห้าสีเวอร์ชั่นฮอลลีวูด ตัวละครที่เป็นยอดมนุษย์สีเหลือง ซึ่งเป็นหญิง ก็เป็นตัวละครที่เป็นเลสเบี้ยน ซึ่งว่ากันว่าอาจเป็น “ซุปเปอร์ฮีโร่” รายแรกในโลก ที่ประกาศตัวเป็นพวกหลากหลายทางเพศ และก็มีข่าวออกมาว่า ตัวละคร “Harley Quinn” ที่เป็นตัวเอกจาก “suicide squad” ก็จะมีการสร้างภาคแยกให้ และอาจจะให้มีบทเลสเบี้ยน
การปรากฏตัวละครรักร่วมเพศ “ที่เป็นปกติธรรมดา” ในหนังบล็อกบัสเตอร์ ส่วนหนึ่งก็เพื่อสร้างความรู้ความเข้าใจกันตั้งแต่เป็นเด็ก เป็นเยาวชน ว่าตัวละครเหล่านี้คือมนุษย์ รสนิยมไม่ใช่การนำมาตัดสิน ตีตราว่าใครเลวร้าย การสอนทำความเข้าใจกันตั้งแต่เด็กๆ ในหลายประเทศก็มีสื่อ อย่างครอบครัวที่เป็นคู่รักเพศเดียวกัน (same sex marriage) ที่รับเด็กอุปการะ ก็ต้องใช้สื่อพวกนี้ ก็มีสื่อนิทานช่วยสร้างความเข้าใจ
พอหันมามองสื่อไทย ก็ไม่รู้จะเรียกว่ายอมรับดีหรือไม่ยอมรับดี!!! แม้จะมีละครแนววาย (ผู้ชายได้กัน) มากขึ้น (เพราะมันขายดีมาก) แต่กลุ่มหลากหลายทางเพศเขาก็ยังเก๊กซิมกันอยู่ว่า การผลิตของสื่อไทยก็ยังมีภาพที่ไม่ดีกับตัวละครให้ตลก โรคจิต หื่นกามบ้าง แม้ว่าวันนี้จะมีกลุ่มหลากหลายทางเพศอยู่ในวงการสื่อมากมาย
สังเกตดูคนเป็นเกย์มาออกรายการ ถูกใช้ใน “เซนส์ของความตลก” เสียมากกว่า “เซนส์ของความรู้ความสามารถ” บางทีเลยเถิดตลกหื่นกาม แล้วก็ล้างภาพเดิมๆ ไม่ได้ว่า “เกย์ก็แค่นี้ ไม่พ้นเรื่องเพศ” แต่ตั้งแต่ต้นปีที่ผ่านมา “สัญญาณดี” คือภาพเริ่มถูกใช่ในภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์บ้างแล้ว หรือกระทั่งรางวัลภาพยนตร์ที่ก็มีความอนุรักษ์นิยมสูงระดับหนึ่งอย่างออสการ์ ปีนี้ก็เป็นปีแรกที่หนังเกย์ “moonlight” คว้าภาพยนตร์ยอดเยี่ยม
เรื่องหนึ่งที่น่าจับตาของประเทศไทย คือการเตรียมออก พ.ร.บ.รับรองเพศ ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ซึ่งจะมีผลต่อการรับรองคนข้ามเพศ แต่จะแค่ไหนอย่างไรก็คงต้องติดตามดูกันต่อไป จะถึงขั้นให้เอกสารราชการต้องมีเพศอื่นนอกจากชายหญิงหรือไม่ หรือการใช้รูปตามเอกสารราชการสามารถใช้ตามเพศสภาพไม่ใช่เพศกำเนิด ไปจนถึงเปลี่ยนคำนำหน้านาม อันนี้อีกไม่นานก็คงจะมีข่าวออกมา
แต่ล่าสุดที่มีข่าวในยุโรป คือศาลสิทธิมนุษยชนยุโรป ตัดสินว่าการจะรับรองว่าใครเป็นทรานส์ ไม่จำเป็นต้องให้ “ทำหมัน” ก่อน (เขาใช้คำว่า sterilization ซึ่งโดยนัยคือการแปลงเพศนั่นแหละ) เห็นออกข่าวกันว่า human right win!!! ขณะเดียวกันทางฝั่งอเมริกา กลุ่มหลากหลายทางเพศเขาก็เศร้ากันอยู่ เพราะมีข่าวว่าการสำรวจสำมะโนประชากรที่จะทำอีกครั้งในปี 2020 รัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ มีการตัดส่วน “sexual orientation” และ “sexual identity” (รสนิยมทางเพศและอัตลักษณ์ทางเพศ) ออก (จากที่มันเคยมี)
ทำให้เกิดกระแส “LGBTIQ” ประกาศก้องว่า “we’re erased!!” (เราถูกลบทิ้ง) นัยว่าการตัดตรงนี้ออก แสดงถึงการไม่ยอมรับซึ่งความหลากหลายทางเพศ และนำมาซึ่งการไม่รับรองสิทธิของกลุ่มนี้ทางกฎหมายอย่างอื่น เช่น กฎหมายเพื่อป้องกันการกีดกันทางเพศ กฎหมายคู่ชีวิต
การยอมรับตัวตนอีกอย่างหนึ่ง คือ การยอมรับว่าความเป็นหลากหลายทางเพศนั้น มีศักยภาพในการทำงานที่ดี เท่าเทียมกลุ่ม “straight” ไม่ใช่ว่าพอเห็นเป็นเกย์ ทอม ต้องมีการตีตราไว้ก่อนว่า “ไม่เหมาะกับงานบางประเภท” แล้วก็บอกว่าทำได้แค่งานเสริมสวย ทำเสื้อผ้า งานโชว์ ซึ่งจะว่าไป เรื่องการกีดกันการทำงานในไทย กลุ่มหลากหลายทางเพศก็มีกฎหมายใช้สู้ได้ ถ้าไม่เติบโตเพราะถูกเหยียดเพศ คือ พ.ร.บ.ความเท่าเทียมระหว่างเพศ พ.ศ.2558 แต่ยังไม่เคยเห็นกรณีศึกษาที่ลุกมาฟ้องร้องกัน
นี่ว่ากันแค่เรื่องตัวตน การต่อสู้ของกลุ่มหลากหลายทางเพศยังมีเรื่องอื่นๆ อีก การต่อสู้เพื่อยอมรับเรื่องหลากหลายทางเพศ มันคือแนวทางเสรีนิยม ที่จะต้องปะทะกับกลุ่มอนุรักษ์นิยมอีก ก็มาว่ากันสัปดาห์ต่อไป.
ขอบคุณ ข่าวจาก https://www.dailynews.co.th/article/567818