คนทุกเพศล้วนเท่าเทียม… ประโยคนี้ค่อยๆ ซึมซับเข้าไปในหัวตั้งแต่นั่งเรียนวิชาสังคมศึกษาที่บอกว่า เพศทุกเพศมีความเท่าเทียมกันทางด้านสังคม
ซึ่งเรายอมรับแนวคิดนั้นกันมานมนานแล้ว ผู้หญิงสามารถทำทุกอย่างที่ผู้ชายทำได้ เป็นผู้นำ เป็นนายกฯ ได้ และผู้ชายเพศที่เป็นผู้นำมาก่อนก็บอกว่า …ผมและคุณมีความเท่าเทียมกัน… ถึงแม้ว่าในทางปฏิบัติจริงจะยังมีความเหลื่อมล้ำอยู่บ้าง
แต่ทุกวันนี้ เอ๊ะ… หรือนานมาแล้วแหละ โลกเราไม่ได้มีเพียงแค่เพศหญิงและเพศชาย ยังมีเพศอื่นๆ อยู่ด้วย และเรากำลังอยู่ในยุคที่โลกเปิดเผยยอมรับใน “สภาพเพศ” ม้ากมาก…
กลุ่มเพศที่สามอาจจะยังถูกสังคมชี้นิ้วใส่อยู่บ้าง ไม่ว่าจะเป็น “เธอแปลกแยก เธอจะไม่ได้รับการยอมรับ” ด้วยกรอบคิดหนึ่งเป็นของเพศหญิง และอีกกรอบคิดเป็นของเพศชาย แต่ที่หลุดกรอบเรื่องสภาพเพศ หรือกลุ่มคนที่เรียกว่า ภาวะทางเพศสภาพไม่ตรงกับเพศกำเนิด หรือบรรดาเพศที่สาม ที่เรียกภาษาบ้านๆ ว่า กะเทย ที่กล้าออกมายอมรับสภาพเพศที่แตกต่าง แถมยังกลายเป็นคนโดดเด่นในสังคมด้วยความสามารถที่ไม่ยอมเก็บซุกไว้กับตัว
“เราโดนแบนเรื่องการเป็นกะเทยมาตั้งแต่เข้าวงการ” กอล์ฟ-ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ รีบออกปากถึงตัวตนที่เธอเป็น พร้อมประกาศกร้าวว่า ใครอยากจะจำแนกเพศเธอว่าอะไรก็ได้ เธอไม่แคร์
ธัญญ์วาริน เล่าว่า เธอโดนแบนห้ามกะเทยออกทีวี เพราะจะทำให้เด็กๆ เลียนแบบ? แต่แทนที่จะท้อใจ กลับยิ่งทำให้เธอตั้งใจทำงานมากขึ้น เพื่อที่จะแสดงให้เห็นว่า การเป็นกะเทยไม่ใช่เรื่องผิด เช่นเดียวกับการสะท้อนภาพสังคมในมุมมองของเธอแบบในภาพยนตร์เรื่อง Insects in the Backyard นั้นก็ไม่ได้ผิด
“จริงๆ แล้วมองว่า เป็นกะเทยได้เปรียบนะ ในการทำหนังได้เปรียบตรงที่มองมนุษย์ได้กลมกว่า เข้าใจความเป็นผู้หญิง และพร้อมกันนั้นเราก็เข้าใจในความเป็นผู้ชายด้วย เข้าใจในความหลากหลายทางเพศที่มันมีอยู่ เราก็จะเข้าใจว่า อ๋อ เขาทำแบบนี้เพราะอะไร เพื่ออะไร
ไม่ได้บอกนะว่ากะเทยทุกคนจะคิดแบบนี้ แต่เราอาจจะผ่านโลกมาประมาณหนึ่ง เราเคยหนีจากกรอบผู้ชาย หนีจากกรอบผู้หญิง แล้วมาลงที่กรอบกะเทย กะเทยบางคนก็จะหนีกรอบกะเทยไม่พ้น จะบอกตัวเองทุกวันว่าเป็นกะเทย แต่สำหรับเราไม่เคยบอกตัวเองแบบนั้น
เราไม่ได้อยู่กรอบผู้ชาย กรอบผู้หญิง กรอบกะเทยก็ไม่อยู่ เราจะไม่ตีกรอบว่าตัวเองเป็นอะไร เพราะเราก็เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่งเท่านั้นเอง ถ้าทุกคนบอกว่า เราต่างก็เป็นแค่มนุษย์คนหนึ่งแล้วเลิกสนใจเรื่องกรอบ เรื่องเพศขึ้นมาเมื่อไหร่ ปัญหาก็จะน้อยลงเยอะ เราทำสิ่งที่เราอยากจะทำให้ดีที่สุด แล้วก็จะเกิดการยอมรับกันมากขึ้น” กอล์ฟ กล่าว
เร็วๆ นี้ ธัญญ์วาริน ยังจะมีภาพยนตร์รักคอมมิดีของสาวประเภทสองเรื่อง “It Gets Better ไม่ได้ขอให้มารัก” ซึ่งได้นักร้องสุดฮอตที่หลอกคนทั้งโลกมาแล้วด้วยน้ำเสียงของเธอ ดาวรุ่งจากเวที ไทยแลนด์ ก็อต ทาเลนต์ 1 อย่าง เบลล์-นันทิตา ฆัมภิรานนท์ มาชิมลางเล่นภาพยนตร์เรื่องแรก
เบลล์ เป็นสาวประเภทสองอีกรายที่ได้รับการยอมรับจากสังคมค่อนข้างมาก หลังโชว์ความสามารถในการร้องเพลง 2 เสียง จนมีคนคลิกเข้าไปชมวิดีโอของเธอเป็นล้านๆ ครั้ง ไม่เพียงดังเฉพาะในประเทศไทยเท่านั้น แต่ดังข้ามน้ำข้ามทะเลไปไกลถึงต่างประเทศอีกด้วย
ที่ประเทศเนเธอร์แลนด์ มีรายการวาไรตีรายการหนึ่ง นำคลิปเสียงร้องของเธอไปเปิดให้วงดนตรีบอยแบนด์รุ่นบุกเบิกอย่าง Take That ฟัง สมาชิกหนึ่งในวงคือ ร็อบบี วิลเลียมส์ ที่ไปร่วมรายการอยู่ด้วยถึงกับอึ้ง แล้วถามย้ำหลายครั้งว่า “Is that a guy!?” (เสียงของผู้ชายเหรอ?) นอกจากนี้ เรื่องราวของเธอยังได้รับการตีพิมพ์ลงในหนังสือพิมพ์ต่างประเทศอีกนับไม่ถ้วน เรียกว่ากอบโกยชื่อเสียงระดับอินเตอร์ไปได้อย่างงดงามทีเดียว
เบลล์ เล่าว่า ก่อนที่จะมาอยู่ตรงนี้ไม่ใช่เรื่องง่าย อันดับแรกก็ไม่ได้รับการยอมรับจากคนในครอบครัวมากนัก เนื่องจากเป็นลูกชายคนเดียว เวลาอยู่บ้านก็จะต้องเก็บอาการเอาไว้ ค่อนข้างกดดันมาก ถึงขั้นที่ว่าคุณพ่อลงมือตี แถมขู่ด้วยว่า จะให้ไปสมัครเป็นทหารถ้ายังไม่เลิกเป็นกะเทย
แต่เธอก็ชนะใจคุณพ่อด้วยการประกาศให้เห็นว่า การเป็น “กะเทย” ไม่ใช่เรื่องเสียหายอะไร และทำให้ทุกคนเชื่อว่า เธอยังเป็นเสาหลักให้แก่ครอบครัวได้
สาวประเภทสองอีกมากมายหลายคนที่สร้างสรรค์ผลงานออกมาให้เป็นที่ยอมรับ และผู้คนก็มองข้ามการเป็นเพศสภาพที่แตกต่าง สามารถทลายกำแพงระหว่างเพศให้พังทลายลง ไม่ว่าจะเป็น ม้า-อรนภา กฤษฎี ช่างแต่งหน้า นางแบบ และพิธีกรชื่อดัง มัม-ลาโคนิค นักร้องสองเสียงมีพลัง ครูลิลลี่ ครูสอนภาษาไทยที่สนุกที่สุดในประเทศไทย หรือแม้แต่สาวประเภทสองที่สวยที่สุดในโลกอย่าง ปอย-ตรีชฎา
คุณค่าของคนไม่ได้อยู่ที่เพศอ่ะนะ หากอยู่ที่ผลของงานที่ต่างก็ยอมรับกันถ้วนหน้าแล้วละสิ…
ขอบคุณ ข่าวจาก https://www.posttoday.com/life/healthy/117265