ทุกวันนี้ เป็นเรื่องไม่ยากที่จะได้พบเจอบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศ หรือเพศที่สาม ไม่ว่าจะเป็นคนที่เรียกกันด้วยภาษาปากว่าเกย์ ทอม เลสเบี้ยน หรือไบฯ
ซึ่งประเทศไทยถือเป็นหนึ่งในประเทศซึ่งได้รับการชื่นชมว่าค่อนข้างเปิดกว้างในเรื่องการแสดงออกทางเพศสภาพ อย่างไรก็ดี มีหลายครอบครัวที่ยังยืนยันว่าคงยอมรับไม่ได้หรือทำตัวไม่ถูกหากลูกของตนเองเป็นเพศที่สาม เกย์หาเพื่อน
วันนี้ My Honey Bun เลยขอชวนคุณพ่อคุณแม่มาทำความเข้าใจเรื่องความหลากหลายทางเพศ พร้อมเสนอวิธีเตรียมใจและรับมือเมื่อลูกของเราเป็นเพศที่สามมาฝากกันค่ะ
Lesbian: เลสเบี้ยน หรือหญิงรักหญิง
Gay: เกย์ หรือชายรักชาย
Bisexual: ไบเซ็กชวล หรือรักร่วมสองเพศ
Transgender: ทรานส์เจนเดอร์ หรือคนข้ามเพศ
Queer หรือ Questioning: เควียร์ หรือเพศไร้กรอบ
โดยเพศที่สามยังสามารถจำแนกได้อีกว่าเป็นอัตลักษณ์ทางเพศ (Gender Identity) ซึ่งคือความรู้สึกที่ว่าตัวเองเป็นเพศไหน อาจเหมือนหรือต่างกับเพศกำเนิดที่ตนเกิดมาก็ได้, และเพศวิถี (Sexual Orientation) ซึ่งเป็นรสนิยมทางเพศทั้งในแง่ของแรงดึงดูดทางร่างกายและทางใจค่ะ1
ทำไมลูกเป็นทอม เกย์ หรือข้ามเพศ?
มีการศึกษาอย่างต่อเนื่องเพื่อหาคำตอบว่าเหตุผลอะไรทำให้คนคนหนึ่งมีความหลากหลายทางเพศ (หรือภาษาปากว่า “เบี่ยงเบนทางเพศ” ที่เป็นคำกล่าวที่ไม่เหมาะสมนัก) ซึ่งปัจจุบันก็ยังไม่พบสาเหตุชี้ชัดว่าเพราะอะไร แต่คาดว่ามีผลมาจากทั้งทางพันธุกรรมกำหนดตั้งแต่ที่เด็กอยู่ในครรภ์ (Nature) หรือการเลี้ยงดู (Nurture) เช่น ระหว่างตั้งครรภ์แม่มีฮอร์โมนเพศไม่สมดุล หรือเด็กโตมาในครอบครัวที่พ่อก้าวร้าวจึงไม่อยากเป็นผู้ชาย เป็นต้น2
ในทางการแพทย์ไม่ได้มองว่าเพศที่สามเป็นโรค เป็นอาการป่วยทางจิต หรือเป็นความผิดปกติที่ต้องได้รับการรักษา แถมยังไม่ใช่ “ทางเลือก” อีกด้วย และถึงแม้ในอดีตจะมีการใช้หลักวิทยาศาสตร์หรือเทคนิคบำบัดเพื่อพยายามแก้ไข แต่ก็ไม่พบว่าสามารถรักษาหรือเปลี่ยนแปลงความหลากหลายทางเพศได้ ทุกวันนี้ จึงไม่มีการใช้วิธีบังคับหรือชักจูงให้คนเปลี่ยนรสนิยมทางเพศหรืออัตลักษณ์ทางเพศอีกแล้ว1
จะรับมืออย่างไรเมื่อลูกมาสารภาพว่าเป็นเพศที่สาม?
การปิดบังตัวตนและการไม่ได้รับความยอมรับจากคนรอบข้าง จะส่งผลเสียทั้งทางสุขภาพกายและสุขภาพจิตต่อเพศที่สาม โดยเฉพาะในเด็กและวัยรุ่นที่พบว่ามักถูกแกล้ง เสี่ยงต่อโรคซึมเศร้า โรคเครียด การใช้สารเสพติด การทำร้ายตัวเอง และพฤติกรรมเสี่ยงทางเพศ3 ดังนั้น จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่ต้องให้ความยอมรับ ความเข้าใจ และความรักอย่างไร้เงื่อนไขเพื่อช่วยเป็นแรงใจให้ลูกของเรามั่นใจในอัตลักษณ์ของตัวเองและแน่ใจว่าไม่ว่าเค้าจะมีเพศไหน พ่อแม่จะรักและคอยอยู่เคียงข้างเค้าเสมอ
ลองใช้แนวคิดและวิธีปฏิบัติที่เรารวบรวมมาวันนี้ คุณพ่อคุณแม่จะสามารถก้าวข้าวผ่านความผิดหวัง พร้อมยื่นมือไปช่วยลูกรักของเราได้ดียิ่งขึ้นค่ะ
1.ไม่ดุด่าหรือทำโทษลูก
รับฟังคำสารภาพของลูกอย่างใจเย็น ไม่ดุด่า ต่อว่า หรือลงโทษ อย่าลืมว่าลูกต้องเก็บความลับนี้มานานแค่ไหน หากเป็นไปได้ให้เข้าไปกอดลูกแล้วบอกขอบคุณที่ตัดสินใจมาบอกความจริง เพื่อทำให้ลูกมั่นใจว่าคุณรักเค้าอย่างไม่มีเงื่อนไข3 อย่างไรก็ดี เป็นเรื่องปกติที่ผู้ปกครองหลายบ้านอาจต้องใช้เวลาเพื่อทำการยอมรับมากกว่าบ้านอื่น พ่อแม่อย่าลืมให้เวลาตัวเองและทำความเข้าใจ ขอแค่อธิบายให้ลูกฟังว่าเราขอเวลาสักหน่อยและไม่ทอดทิ้งเค้าในระหว่างนั้นก็พอค่ะ4
2.ไม่โทษตัวเอง
ถึงการคิดหาเหตุผลจะเป็นหนึ่งในวิธีรับมือปัญหาของมนุษย์ แต่การคิดวนไปวนมาเพื่อหาว่าทำไมลูกเราถึงเป็นเพศที่สาม การโทษตัวเองว่าเป็นเพราะเราเลี้ยงดูลูกไม่ดี5 มองว่าลูกมีเวรกรรม หรือแม้แต่เอ่ยปากถามลูกว่า “พ่อกับแม่ทำอะไรผิด?” “ทำไมลูกถึงเป็นแบบนี้?” จะไม่เกิดประโยชน์กับใครเลยค่ะ แถมยังทำให้เสียเวลาที่ทั้งฝ่ายคุณและลูกจะได้ก้าวข้ามไปสู่การยอมรับตัวตนอีกต่างหาก
3.ไม่หาทาง “รักษา” ลูก
อย่างที่ My Honey Bun อธิบายไปข้างต้น การเป็นเพศที่สามไม่ใช่สิ่งที่เราเลือกได้ ทั้งยังไม่ใช่ความผิดปกติที่ต้องได้รับการรักษา มีน้อยครั้งมากที่เด็กจะเปลี่ยนตัวเองกลับไปเป็นเพศหญิงหรือชายแท้ได้ (ซึ่งมักเป็นกรณีที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงเพศด้วยสถานการณ์ เช่น เด็กในโรงเรียนหญิงล้วนชอบรุ่นพี่ทอม เป็นต้น)
ปล่อยให้ลูกเติบโตและค้นหาตัวเองอย่างเหมาะสม อย่าพยายามเปลี่ยนลูกด้วยการบังคับให้ใส่กระโปรง บังคับให้เล่นกีฬา หรือส่งไปบวช เพราะนอกจากจะไม่ได้ผลแล้ว ยังสร้างรอยแผลอย่างถาวรแก่เด็กที่จะเชื่อว่าตนมีความผิดหรือต้องปิดบังความเป็นตัวเองไปตลอดชีวิต
4.ไม่ต้องกังวลแทนลูก
อีกหนึ่งประเด็นที่ทำให้พ่อแม่ยอมรับไม่ได้เมื่อลูกมาสารภาพว่าเป็นเพศที่สาม ก็คือความกลัวหรือกังวลใจถึงอนาคตของลูก เช่น กลัวว่าลูกจะไม่ได้แต่งงานมีครอบครัว กลัวว่าลูกจะถูกล้อเลียนหรือกีดกัน หรือกระทั่งกลัวว่าลูกจะเป็นเอดส์
ไม่ว่าลูกจะเป็นเพศชาย หญิง หรือเพศที่สาม ย่อมต้องเผชิญปัญหาหรืออุปสรรคในชีวิตเป็นธรรมดา พ่อแม่จึงควรโยนความกังวลล่วงหน้าเหล่านั้นทิ้งไปเสีย และโฟกัสที่การเป็นโค้ชเพื่อช่วยลูกรับมือกับปัญหาที่เกิดเป็นเรื่องๆ ไปดีกว่า อย่ามัวแต่มองถึงผลเสียของการมีลูกเป็นเพศที่สาม ทุกวันนี้คุณพ่อคุณแม่ก็สามารถมองเห็นว่ามีคนที่ไม่ใช่หญิงแท้หรือชายแท้ที่ประสบความสำเร็จทางการเรียน หน้าที่การงาน และหลายคู่ก็สร้างครอบครัวที่สมบูรณ์และน่ารักได้เช่นกัน
5.ไม่กลัวที่จะเติบโตไปพร้อมกัน
หาข้อมูลเพิ่มเติมเพื่อทำความเข้าใจกับลูกของเรามากขึ้น และอย่าลืมว่าเพศสภาพมีความยืดหยุ่นมาก จึงควรหาโอกาสคุยอย่างเปิดอกกับลูกเพื่อทำความเข้าใจให้ตรงกัน เช่น เด็กบางบ้านอาจอยากแต่งตัวข้ามเพศ ในขณะที่เด็กบางคนอาจแค่ชอบเพศเดียวกันเฉยๆ
อีกหนึ่งภาพจำที่พ่อแม่ควรลบทิ้งไปก็คือเรื่องเพศสัมพันธ์ เพราะการเป็นเพศที่สามไม่ได้หมายความถึงรสนิยมทางการมีเพศสัมพันธ์เพียงอย่างเดียว6 เมื่อมองข้ามเรื่องนี้ได้ พ่อแม่อาจจะทิ้งความรู้สึกแปลกแยกจากลูกของตัวเองไปได้ อย่างไรก็ดี ก็ยังถือเป็นหน้าที่ของผู้ปกครองที่ควรสอนเรื่องเพศศึกษาอย่างถูกต้องกับลูก โดยเฉพาะในเรื่องการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยค่ะ
6.ไม่ปฏิเสธตัวช่วย
ปัจจุบัน มีหน่วยงานหลากหลายที่พร้อมให้คำปรึกษาและแนะนำทั้งในด้านจิตวิทยาและในทางการแพทย์กับผู้มีความหลากหลายทางเพศและครอบครัว ซึ่งพ่อแม่สามารถเข้าไปหาข้อมูลเพิ่มเติมได้ที่เพจดังนี้ค่ะ1
แพทย์หญิงจิราภรณ์ อรุณากูร กุมารแพทย์ด้านเวชศาสตร์วัยรุ่น โรงพยาบาลรามาธิบดีได้กล่าวไว้ว่า “พ่อแม่ก็เหมือนคนปลูกต้นไม้” คือเรามีหน้าที่เพียงรดน้ำพรวนดิน แต่หน้าที่การเจริญเติบโตนั้นเป็นของเมล็ดพันธุ์4 ซึ่งเป็นแนวคิดที่ใช้ได้ทั้งกับการรับมือเมื่อลูกเป็นเพศที่สาม และการเลี้ยงเด็กในทุกๆ วัน เพราะเมื่อคิดได้แบบนี้เมื่อไหร่ พ่อแม่ก็จะรู้สึกโล่งจากภาระที่แบกรับเอาไว้ในทันที ขอแค่เราดูแลลูกด้วยความรัก ความเข้าใจ และยอมรับในตัวตนของเค้า ไม่ว่าลูกเป็นเพศไหนก็จะเติบโตมาด้วยความมั่นใจ มีภูมิต้านทานต่อโลกภายนอก และมีความสุขเนื่องจากได้เป็นตัวเองอย่างแน่นอนค่ะ
ขอบคุณ ข่าวจาก https://www.myhoneybun.com/what-to-do-when-your-child-comes-out-as-lgbtq/