อาการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน รักษาได้?

//

lgbt Thai Team

beefhunt

วงการวิทยาศาสตร์เลิกสนใจแนวคิดการเปลี่ยนแปลงรสนิยมทางเพศของคนมาเป็นเวลานานแล้ว

นักวิทยาศาสตร์ส่วนใหญ่ยอมรับว่า คุณไม่สามารถ “รักษา” สิ่งที่ไม่ใช่โรคได้ การรักเพศเดียวกันถูกนำออกจากบัญชีอาการเจ็บป่วยทางจิตในสหรัฐฯ ในปี 1973 และองค์การอนามัยโลกก็ดำเนินรอยตามในปี 1990            เกย์ไลท์
ขณะที่ นักวิจัยกลับให้ความสนใจมากขึ้นเรื่อย ๆ ในเรื่องการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน พยายามจะหาสาเหตุต่าง ๆที่ทำให้คนมีอาการเช่นนี้
‘ความกลัวที่ปราศจากเหตุผล’
จอร์จ ไวน์เบิร์ก นักจิตวิทยาจากสหรัฐฯ ผู้คิดคำว่า ‘โฮโมโฟเบีย’ (Homophobia) หรือ การเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน ขึ้นมาในช่วงทศวรรษ 1960 นิยามการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันไว้ว่า “ความกลัวการเข้าใกล้คนรักเพศเดียวกัน” คำปัจจัยภาษากรีกคำว่า “โฟเบีย” (phobia) หมายถึง ความกลัวอะไรบางอย่างโดยปราศจากเหตุผล
  • ประเทศไหนบ้างที่การมีเพศสัมพันธ์กับคนเพศเดียวกันผิด กม.?
  • ทำไมฉันถึงไม่อยากมีเซ็กส์กับผู้ชายที่ฉันรัก?
ในหนังสือปี 1972 เรื่อง Society and the Healthy Homosexual ดร. ไวน์เบิร์ก เขียนว่า: “ผมคงไม่มีวันคิดว่าคนไข้สุขภาพดีได้ ถ้าเขาไม่อาจก้าวข้ามอคิติที่มีต่อคนรักเพศเดียวกันได้”
เอ็มมานูเอล เอ. แจนนินิ ศาสตราจารย์ด้านต่อมไร้ท่อและเพศวิทยาการแพทย์ (Endocrinology and Medical Sexology) จากมหาวิทยาลัยตอร์เวร์กาตาแห่งกรุงโรม (University of Rome Tor Vergata) แย้งว่า การเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน เป็นเพียง “ส่วนยอดของภูเขาน้ำแข็ง”
เขากล่าวว่า มันมีส่วนเกี่ยวข้องกับบุคลิกภาพบางอย่าง และหากมีความรุนแรงร่วมด้วย อาจถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคทางจิตได้
ดร. แจนนินิ ได้แย้งผลการศึกษาหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์เกี่ยวกับเพศ (Journal of Sexual Medicine) ในปี 2015 ซึ่งเขาได้เชื่อมโยงการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันกับ ภาวะโรคจิต ที่อาจเกิดจากความโกรธหรือความมุ่งร้าย (psychoticism) กลไกการป้องกันตัวเองที่ไม่สมบูรณ์ (มีแนวโน้มที่จะใช้อารมณ์) และการผูกพันกับพ่อแม่ด้วยความหวาดกลัว (นำไปสู่ความรู้สึกไม่มั่นคงที่อยู่ในจิตใต้สำนึก)
ผู้ที่ต่อต้านแนวคิดอนุรักษ์นิยมจำนวนมาก ถือว่า การวิจัยดังกล่าว “เป็นเศษขยะที่สนับสนุน LGBT” แต่ ดร. แจนนินิ ยืนยันกับบีบีซีถึงความถูกต้องของผลงานวิจัยของเขา ที่อธิบายว่า ลักษณะนิสัยเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันเป็น “ความอ่อนแอ” ชนิดหนึ่ง
“มันไม่ใช่คำในวงการวิทยาศาสตร์ แต่คำที่ผมกำลังใช้ทำให้เข้าใจง่ายขึ้น” เขากล่าว
ระดับความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน
ผลการศึกษาของเขาได้ใช้สิ่งที่เรียกว่า ค่าการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน มาวัดระดับของการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันในนักศึกษามหาวิทยาลัยชาวอิตาเลียนจำนวน 551 คน และได้วัดอุปนิสัยด้านอื่น ๆ ด้วย เพื่อนำมาใช้อ้างอิงผล
เขาบอกว่า ผู้ที่มีทัศนคติเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันที่รุนแรงมากก็จะได้คะแนนในลักษณะนิสัยหลายอย่างสูงตามไปด้วย เช่น ภาวะโรคจิต และกลไกการป้องกันตัวเองที่ไม่สมบูรณ์ ขณะที่การผูกพันกับพ่อแม่อย่างมั่นคงเป็นตัวบ่งชี้ถึง การเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันในระดับต่ำ เหล่านี้คือปัญหาทางจิต ซึ่งอาจได้รับการแก้ไขได้ด้วยการบำบัด
ดร. แจนนินิ กล่าวว่า “บางที คุณอาจไม่ชอบพฤติกรรมของคนรักเพศเดียวกัน แต่คุณไม่จำเป็นต้องคอยพูดอยู่เสมอว่า ผมไม่ใช่คนรักเพศเดียวกัน, ผมเกลียดคนรักเพศเดียวกัน, ผมไม่ต้องการให้คนรักเพศเดียวกันเข้ามาในบ้านผม, ผมไม่ต้องการครูที่รักเพศเดียวกันอยู่ในโรงเรียน”
“หลังจากการถกเถียงกันมานานหลายศตวรรษว่าการรักเพศเดียวกันถือว่าเป็นโรคอย่างหนึ่งหรือไม่ เราได้แสดงให้เห็นเป็นครั้งแรกว่า โรคที่จะต้องได้รับการรักษาจริง ๆ ก็คือ การเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน”
พลังแห่งวัฒนธรรม
แต่ปัจเจกบุคคลจำนวนมากถูกหล่อหลอมจากสภาพแวดล้อมที่พวกเขาอยู่ และการศึกษาในเวลาต่อมาของทีมงานดร. แจนนินิ ได้สำรวจว่า วัฒนธรรมที่เต็มไปด้วยทัศนคติทางศีลธรรม, การเกลียดผู้หญิง และการเทิดทูนความเป็นชายอย่างสุดโต่ง มีความเกี่ยวข้องกับการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันมากแค่ไหน
ในปี 2017 พวกเขาได้เปรียบเทียบผลจากการประเมินนักศึกษา 1,048 คนใน 3 ประเทศที่มีความเชื่อทางศาสนาแตกต่างกัน ได้แก่ อิตาลี (ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิก), อัลเบเนีย (ส่วนใหญ่เป็นมุสลิม) และยูเครน (ส่วนใหญ่นับถือศาสนาคริสต์นิกายออร์โธด็อกซ์)
ดร. แจนนินิ กล่าวว่า “สิ่งที่ค่อนข้างน่าสนใจคือ ตัวศาสนาเองไม่ได้มีความสัมพันธ์กับการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน แต่ความเชื่อทางศาสนาที่สุดโต่งในทั้ง 3 ศาสนา นั้น คือสิ่งที่ส่งผลต่อระดับการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน”
พลังแห่งหลักความเชื่อ
ผู้ที่มีความเชื่อทางศาสนาแบบสายกลาง จะบอกคุณว่า ศาสนาไม่ได้รับรองการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน
“เราเกลียดบาป แต่ไม่ใช่คนที่ทำบาป” วาห์ตัง คิปชิดเซ โฆษกทางการของคริสตจักรออร์โธด็อกซ์ของรัสเซีย กล่าวกับบีบีซี เขาบอกว่า ทางคริสตจักรออร์โธด็อกซ์ ไม่สามารถเปลี่ยนทัศนะที่ว่า การรักเพศเดียวกันเป็นบาปได้ เพราะความเชื่อนี้มาจากพระเจ้า ไม่ใช่มาจากคริสตจักร
“เราถือว่า คนที่มีความสัมพันธ์ทางเพศกับคนเพศเดียวกัน เป็นเหยื่อของบาปของพวกเขาเอง และในฐานะเหยื่อ พวกเขาสมควรได้รับการรักษาทางจิตวิญญาณ”
แต่หลายคนมีความเห็นที่แข็งกร้าวกว่านี้
“พระคัมภีร์สอนเราให้ปาหินใส่คนที่ไม่ยึดถือความเชื่อในแบบเดิม” เซอร์ไก ริบโก นักบวชชาวรัสเซียกล่าวในการให้สัมภาษณ์เมื่อปี 2012 หลังจากที่กลุ่มชายติดอาวุธได้บุกโจมตีคลับเกย์ในกรุงมอสโก
“ผมเห็นด้วยอย่างเต็มที่กับคนที่พยายามกำจัดคนเหล่านั้นให้หมดไปจากประเทศเรา”
แต่นายคิปชิดเซ กล่าวว่า: “ไม่มีหลักฐานในพระคัมภีร์ใหม่ที่สนับสนุนการปาหินใส่ผู้กระทำบาปใด ๆ”
เขากล่าวว่า การทำบาปจากการมีชู้ไม่ถือว่าผิดกฎหมาย เช่นเดียวกัน “ทางคริสตจักรก็ไม่สนับสนุนให้เอาผิดความสัมพันธ์ทางเพศของคนเพศเดียวกัน”
แต่กระนั้น เขาก็ยอมรับว่า มีคนบางส่วนเข้าใจผิดในพระคัมภีร์ และใช้มันเป็นข้ออ้างก่อความรุนแรง
พลังแห่งภาษา
เทียร์แนน บราดี ผู้สนับสนุนกลุ่มคนหลากหลายทางเพศในศาสนาคริสต์นิกายคาทอลิกชาวไอร์แลนด์ กล่าวว่า “ไม่ต้องสงสัยว่า คำพูดที่ผู้นำศาสนาคริสต์หลายคนใช้สอนผู้คน ทำให้เกิดความกลัวและความไม่พอใจต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศขึ้น”
เขาคือ ผู้อำนวยการของ กลุ่มอนาคตที่เท่าเทียม (Equal Future) กลุ่มรณรงค์ที่สนับสนุนกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ ที่จัดตั้งขึ้นในช่วงที่สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสเสด็จเยือนกรุงดับลินเมื่อเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา
บราดี บอกว่า “คนที่เกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันทุกคนเกิดจากการเรียนรู้ ไม่มีใครเกิดมาแล้วรู้สึกเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันเลย เราซึมซับความเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันจากที่ใดที่หนึ่ง”
เขากล่าวว่า ทัศนคติที่มีต่อกลุ่มคนหลากหลายทางเพศกำลังเปลี่ยนแปลงไปทั่วโลกทั้งในทวีปอเมริกาใต้และอเมริกากลาง, เอเชียใต้, ยุโรปตะวันออก, อินเดีย และจีน แต่ภาษาที่เป็นปฏิปักษ์มานานหลายร้อยปีจะไม่เปลี่ยนแปลงไปในชั่วข้ามคืน
“ศาสนาคริสต์เป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตผู้คน ยังมีอีกหลายที่ที่ทำให้เรากลายเป็นคนเกลียดกลัวคนรักเพศเดียกวัน ทั้งจากวงการกีฬา, การเมือง และสังคม”
เขาแย้งว่า วัฒนธรรมในประเทศอนุรักษ์นิยมจึงอาจช่วยทำให้ศาสนามีความเข้มงวดมากขึ้นในด้านต่าง ๆ
“ประเทศที่เราเห็นว่า มีการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันอยู่มาก เป็นประเทศที่กลุ่มคนหลากหลายทางเพศไม่มีตัวตน เพราะจะยิ่งทำให้สร้างความหวาดกลัวและความไม่ไว้วางใจกันได้ง่ายขึ้น”
พลังแห่งการเหมารวม
งานวิจัยของ แพทริก อาร์ กราซันกา เป็นผู้ช่วยศาสราจารย์ด้านจิตวิทยาที่มหาวิทยาลัยเทนเนสซี และผู้ช่วยบรรณาธิการวารสารการให้คำปรึกษาทางจิตวิทยา (Journal of Counseling Psychology) ระบุว่า การเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน มีความสัมพันธ์กับอีกปัจจัยหนึ่งคือ การเหมารวม
ในปี 2016 พวกเขาเก็บตัวอย่างนักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ 645 คน และให้คะแนนพวกเขาตามระดับการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน แบ่งให้คะแนนตาม 4 กลุ่มความเชื่อ ได้แก่
1) คนที่มาจากชนกลุ่มน้อยทางเพศ เกิดมาเป็นเช่นนั้นเอง
2) คนในกลุ่มทางเพศแบบใดแบบหนึ่งเป็นเหมือนกันหมด
3) บุคคลสามารถจัดอยู่ในกลุ่มทางเพศได้กลุ่มเดียวเท่านั้น
4) เมื่อคุณรู้จักคนที่มาจากกลุ่มหนึ่ง คุณจะเข้าใจคนทั้งกลุ่มนั้น
ไม่น่าแปลกใจ นักวิจัยพบว่า ข้อที่กลุ่มนักศึกษามหาวิทยาลัยในสหรัฐฯ เลือกมากคือความเชื่อข้อ 1) ชนกลุ่มน้อยทางเพศเกิดมาเป็นเช่นนั้นเอง โดยผู้ตอบแบบสอบถามทั้งที่เป็นชนกลุ่มน้อยทางเพศ และกลุ่มคนรักต่างเพศ ต่างเลือกข้อนี้
สิ่งที่บอกถึงการมีทัศนคติทางลบต่อชนกลุ่มน้อยทางเพศมากที่สุด ก็คือคนที่ให้คะแนนกับอีก 3 ความเชื่อที่เหลือสูงกว่า
พลังแห่งประจักษ์
สำหรับ ดร. กราซันกา “อคติที่เห็นชัด” ในจิตใจของผู้คน ชักนำให้พวกเขายอมรับอคติบางอย่าง
“เราควรรณรงค์ด้านการให้ความรู้และการให้ข้อมูลแก่ประชาชน และจัดระเบียบนโยบายต่อต้านการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันที่มาจากความเชื่อที่ว่า คนรักเพศเดียวกันก็เหมือนกันหมด และรสนิยมทางเพศก็ไม่ได้ลื่นไหลได้” เขากล่าว
เขาแย้งว่า “ไม่มีสิ่งไหนที่ทำให้เกิดความหวาดกลัวต่อชนกลุ่มน้อยทางเพศโดยปราศจากเหตุผลมาตั้งแต่กำเนิด มีหลายช่วงเวลาในประวัติศาสตร์ของมนุษย์ที่พฤติกรรมรักเพศเดียวกันได้รับการยอมรับ ถูกกฎหมาย และแม้แต่สวนกระแส”
มีหลักฐานว่า การสร้างความประจักษ์แห่งการมีอยู่ให้มากขึ้นในสังคม ช่วยเปลี่ยนแปลงความเข้าใจของคนได้ และนำไปสู่การยอมรับสิทธิ์ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศ
แกลลัพ (Gallup) ระบุว่า ในปี 1999 ชาวอเมริกันราว 2 ใน 3 ต่อต้านการแต่งงานของคนเพศเดียวกัน และมีเพียง 1 ใน 3 ที่บอกว่า เรื่องนี้ควรจะเป็นเรื่องถูกกฎหมาย
ไม่ถึง 20 ปีต่อมา ผลที่ได้กลับกัน โดยมีผู้สนับสนุนการแต่งงานของคนเพศเดียวกันมากกว่า 2 ใน 3 และมีคนที่ต่อต้านน้อยกว่า 1 ใน 3
ผมเป็น LGBT ที่ไปเชียร์ฟุตบอลโลกในประเทศที่มี กม.ต่อต้านเกย์
นักวิจัย ระบุว่า มีผู้ใหญ่ที่เป็นกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมากกว่า 10% ที่แต่งงานกับคนเพศเดียวกัน และการมีตัวตนของพวกเขาก็ช่วยเปลี่ยนแปลงความคิดของคนที่ต่อต้านสถานะทางกฎหมาย และยังมีส่วนทำให้ทัศนคติเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันหลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปด้วย
เราไม่รู้ว่า เป็นไปได้หรือไม่ที่จะ “รักษา” การเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกัน แต่นักวิจัยเชื่อว่า พวกเขากำลังเข้าใจการเกลียดกลัวคนรักเพศเดียวกันมากขึ้นเรื่อย ๆ

 

ขอบคุณ ข่าวจาก https://www.bbc.com/thai/international-45601603