กลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ LGBT กับสิทธิที่ขาดหายไป

//

lgbt Thai Team

beefhunt

คุณคิดว่า ชีวิตที่มีคุณภาพหมายความว่าอะไร? หมายถึง การเป็นมหาเศรษฐีมีเงินล้นฟ้าใช้ทั้งชาติก็ไม่หมด หรือ การมีสุขภาพร่างกายแข็งแรงไร้โรคภัยมาเยี่ยมเยือน หรือ มีคู่ครองที่สร้างครอบครัวอันอบอุ่น และเป็นเพื่อนคู่คิดยามแก่เฒ่า

ไม่ว่าคำตอบของคำถามนั้นจะคืออะไร ทุกอย่างล้วนส่งผลให้คุณภาพชีวิตดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด หลายคนไม่ต้องการให้ชีวิตครบทุกด้าน ขาดอะไรบางอย่างไปชีวิตก็ไม่ได้พังทลายลง ถ้าเป็นเรื่องของเงิน แม้ไม่มีกองท่วมหัว แต่ถ้าอยู่อย่างพึงพอใจ ใช้ชีวิตอย่างลงตัวก็คงไม่เดือดร้อนอะไร หรือร่างกายที่แข็งแรง ก็สามารถสร้างได้หากกินอาหารที่ให้ประโยชน์ หมั่นออกกำลังกาย แต่บางคนก็แค่อยากมีเพื่อนคู่คิดตอนแก่ก็เท่านั้น    เกย์แต่งงาน

หากมองไปรอบโลกจะเห็นได้ว่ามีคู่รักเกิดขึ้นมาก ไม่ว่าจะเพิ่งเป็นแฟนกัน คบกันมานานถึง 10 ปี หรือตกลงปลงใจจะใช้ชีวิตคู่ร่วมกันเป็นครอบครัว จะคู่รักหญิงชาย คู่รักหญิงหญิง รวมไปถึงคู่รักชายชาย ถ้าความรักคือสิ่งสวยงาม เรื่องเพศก็ไม่ใช่เรื่องใหญ่อะไร

กลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ กับประเทศไทย

แม้ผู้สร้างโลกจะกำหนดให้มนุษย์มีเพศสภาพเพียงแค่ชายกับหญิงเพื่อสืบเผ่าพันธุ์ แต่มิอาจห้ามความเป็นตัวตนของใครได้ เพราะทั้งร่างกายและจิตใจคือของพวกเขา หรือที่รู้จักกันดีในชื่อ​ “กลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ หรือ LGBT”​ และถ้ามองไปทั่วโลกจะเห็นได้ว่าหลายประเทศ หลายทวีปให้การยอมรับกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศแล้ว ไม่ว่าจะเป็นการแต่งงานกัน ให้สิทธิ์เท่าเทียม มีกฎหมายออกมารองรับ

แต่พอมองย้อนดูในประเทศไทย กลุ่ม LGBT ยังมีความซับซ้อนและขัดแย้งกันอยู่มาก ถึงแม้สังคมไทยจะออกปากให้การยอมรับเป็นอย่างดี แต่ความชิงชังและอคติที่ฝังลึกอยู่ในใจยังมีให้พบเห็นอยู่ร่ำไป เลือกปฎิบัติต่อกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศอย่างเห็นได้ชัด

ทัศนติของสังคมและวัฒนธรรมต่อกลุ่ม LGBT

  • สังคมไทยยังมีทัศนคติที่ดีต่อกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศตราบเท่าที่พวกเขาอยู่ภายใต้กรอบบางอย่างที่สังคมสร้างไว้ ถ้าเมื่อไหร่ที่ทำนอกกรอบที่ถูกตั้งไว้ความชิงชังที่ถูกซ่อนไว้ภายในจิตใจจะถูกแสดงออกมาอย่างเปิดเผย
  • การได้รับการยอมรับจากครอบครัวเป็นสิ่งที่ต้องเผชิญ การเคารพผู้อาวุโส เคารพพ่อแม่ รวมไปถึงทำตามความหวังพ่อแม่ การรักษาชื่อเสียงวงศ์ตระกูลเป็นนิสัยพื้นฐานของคนไทย บางครอบครัวมองว่าเรื่องแบบนี้สวนทางกับบรรทัดฐานของสังคม

การจ้างงานและสิทธิที่อยู่อาศัยของกลุ่ม LGBT

  • ใครก็รู้ว่ากลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ มักมีความสามารถพิเศษ ชอบสร้างสรรค์ผลงานที่ใครเห็นเป็นต้องชอบใจกันทั้งสิ้น แต่การทำงานบางอาชีพในบางสถานที่ก็มิอาจแสดงตัวตนที่แท้จริงออกมาได้ เพราะถูกคาดหวังกับการแสดงบทบาทในสังคม บางคนจึงไม่แสดงตัวตนที่แท้จริงออกมา ไม่เช่นนั้นอาจถูกไล่ออกจากงาน หรือเลือกปฎิบัติ
  • นอกจากจะไม่ถูกยอมรับในเรื่องของความสัมพันธ์แล้ว (ทั้งเรื่องการแต่งงานหรือมีครอบครัว) การขอสินเชื่อที่อยู่อาศัย ประกันชีวิตคู่ รวมถึงผลประโยชน์ต่างๆ ยังไม่สามารถทำได้เท่าเทียมอีกด้วย (ถ้าไม่มีกฎหมายมารองรับ)

ครอบครัวและสังคมของกลุ่ม LGBT

  • จากที่กล่าวไปข้างต้นว่าการที่ครอบครัวยอมรับในสิ่งที่เลือกเองได้คือสิ่งที่ดี เพราะว่า บางคนแสดงออกถึงความกตัญญู ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน สามารถเลี้ยงดูตัวเองได้ ซ้ำยังทำหน้าที่สอดคล้องกับบทบาทที่ครอบครัวยอมรับ ประพฤติตนเป็นคนดี
  • สื่อมวลชนของไทยบางส่วนยังคงกล่าวถึงกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศในเชิงลบ หรือสร้างตัวละครตลกในรายการโทรทัศน์ หรือละครต่างๆ แถมยังขาดสื่ออย่างเป็นทางการที่จะรายงานการคุกคาม เลือกปฏิบัติ และความรุนแรงที่มีต่อกลุ่ม LGBT อีกด้วย

จะเห็นได้ว่า สิทธิประโยชน์ของกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศยังไม่เท่าเทียม ในขณะที่การพูดคุยหรืออภิปรายเกี่ยวกับวิถีทางเพศในสังคมเป็นเรื่องต้องห้าม รวมไปถึงการศึกษาเรื่องเพศในโรงเรียนยังมีข้อจำกัดต่างๆมากมาย บางทีอาจเกินเลยถึงขั้นที่ว่ากลุ่ม LGBT ต้องทำหน้าที่พลเมืองที่ดีของสังคม ควบกับความกตัญญูกตเวทีที่ห้ามละทิ้ง

ประกอบกับค่านิยมเรื่องเพศในสังคมไทยเป็นที่ยอมรับ แต่ยังมีความเกลียดชัง อคติในใจฝังลึกอยู่ ห้ามสร้างความอับอายให้กับตัวเองและครอบครัว ส่งผลให้บางครั้งก็ต้องใช้ชีวิตอยู่ในสังคมอย่างกดดัน ทั้งที่จริงแล้วภาระหน้าที่เหล่านั้นมนุษย์ทุกคนไม่ว่าจะเป็นเพศอะไรก็ตามแต่ล้วนต้องทำมันไม่ต่างกันเลย

กลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศกับคู่ชีวิต

ถ้าการสร้างครอบครัว หรือมีเพื่อนคู่คิดด้วยกันตอนแก่เฒ่า หมายถึงการแต่งงานอยู่กินกันฉันสามีภรรยา หากเป็นผู้หญิงกับผู้ชายก็คงจะไม่มีปัญหาอะไรมากนัก เพราะเป็นการแต่งงานที่ถูกทำนองคลองธรรม ไม่ขัดกับประเพณี หากเป็นกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศอาจจะพบเจอกับปัญหาเหล่านี้อยู่เหมือนกัน ถ้าเป็นคู่รักชายหญิงยังมีทางเลือกว่าจะใช้ชีวิตแบบ “จดทะเบียนสมรส” หรือ “ไม่จดทะเบียนสมรส” แต่คู่รัก LGBT ไม่มีสิทธิ์แม้แต่จะเลือกอะไรเลย ส่งผลให้กลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศขาดสิทธิหลายอย่างที่พึงมีในฐานะครอบครัวเดียวกัน

พ.ร.บ. คู่ชีวิตของกลุ่ม

ประเทศไทยเองก็พยายามนำเสนอ ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนชีวิตคู่ เพื่อเปิดโอกาสให้กลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศสามารถจดทะเบียนเป็น “คู่ชีวิต” กันได้ ซึ่งนำไปสู่สิทธิและหน้าที่ตามกฎหมายที่ควรจะได้รับ หากมองอีกแง่อาจจะเกิดคำถามขึ้นในใจว่า ถ้าอยู่ด้วยกันแล้วพอใจในชีวิตก็ไม่จำเป็นต้องมีทะเบียนสมรสก็ได้นี่ ทำไมต้องมีกฎหมายเกี่ยวกับการจดทะเบียนด้วย

คำตอบคือ ถ้าสังคมไทยที่ปากบอกว่ายอมรับในความรักของกลุ่ม LGBT แต่ภายในใจลึกๆ แล้วยังมีอคติหรือความเกลียดชังฝังอยู่ อาจส่งผลกับชีวิตคู่ในอนาคตได้ สมมติว่าสามีภรรยาคู่หนึ่งต้องติดต่อหน่วยงานต่างๆ อุปสรรคของสามีภรรยาคู่นั้นอาจจะลดน้อยลงถ้าแจ้งว่ามีสถานะเป็นสามีภรรยากัน แต่สำหรับคู่รัก LGBT อาจเกิดปัญหาต่อการกระทำการใดๆ ผ่านหน่วยงานนั้นๆ ด้วยอคติที่ฝังลึก การจดทะเบียนชีวิตคู่เลยเป็นทางออกที่ดี เหมือนเครื่องยืนยันเป็นหลักฐานที่หนาแน่นว่าเป็นคู่ชีวิตกัน

และในปัจจุบันประเทศไทยก็มีคู่ชีวิตที่เป็นเพศเดียวกันมากมาย เป็นคู่เรียงเคียงหมอนเหมือนชายหญิงทั่วไป แต่กลับไม่มีกฎหมายออกมารองรับ ทำให้กลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศอดที่จะได้รับความคุ้มครองทางกฎหมาย ถ้ามองกันตามความเป็นจริงก็ขัดต่อ หลักการสิทธิมนุษย์ชนขั้นพื้นฐาน (มาตรา 4 มาตรา 5 มาตรา 26 และมาตรา 30 แห่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย)

เมื่อเป็นเรื่องที่กฎหมายกำกับมาเช่นนี้ ทำให้คู่สมรสตามกฎหมายไทยต้องเป็นแค่ผู้ชายกับผู้หญิงเท่านั้น อุปสรรคเลยเกิดกับการสมรสของกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ และปัญหานั้นถูกแก้ไขด้วยพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต แต่พระราชบัญญัตินี้ ไม่ได้ใช้ได้เฉพาะบุคคลเพศเดียวกันเท่านั้น รวมไปถึงบุคคลข้ามเพศ ซึ่งข้อกฎหมายที่เป็นสาระสำคัญของร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิตมีดังนี้

  • การจดทะเบียนคู่ชีวิตทำได้เมื่อบุคคลทั้งสองบรรลุนิติภาวะแล้ว (อายุ 20 ปีบริบูรณ์)
  • บุคคลใดที่จดทะเบียนสมรสอยู่แล้ว และจะมาจดทะเบียนคู่ชีวิต หรือจดทะเบียนสมรส แต่จะมาจดทะเบียนคู่ชีวิต การจดทะเบียนครั้งหลังถือเป็นโมฆะ
  • ทะเบียนคู่ชีวิต เทียบเท่ากับคู่สมรสที่ชอบด้วยกฎหมาย สามารถใช้นามสกุลของอีกฝ่ายได้
  • สิทธิในการจัดการทรัพย์สินเหมือนกับคู่สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกัน
  • สิทธิในมรดกเหมือนกับคู่สามีภรรยาที่จดทะเบียนสมรสกัน
  • ทะเบียนคู่ชีวิตมีสิทธิต่างๆ ในฐานะคนในครอบครัวทุกประการ

ร่างพระราชบัญญัติการจดทะเบียนคู่ชีวิต เป็นข้อกฎหมายที่ถูกร่างขึ้นมาจากกรมคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพ (www.rlpd.go.th) เพื่อคุ้มครองสิทธิเสรีภาพ จากกระทรวงยุติธรรม ยึดแบบฟอร์มจากกฎหมายสมรสดั้งเดิม แต่เมื่อลองอ่านทวนดูดีๆ จะพบได้ว่ายังขาดตกบกพร่องในหลายๆอย่าง เช่น การปิดโอกาสในการรับบุตรธรรมมาเลี้ยงดู

มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ

มูลนิธิเพื่อสิทธิและความเป็นธรรมทางเพศ หรือ Foundation for SOGI Rights and Justice (FOR-SOGI) ก็ไม่ได้นิ่งนอนใจต่อข้อบกพร่องที่เห็นในการจดทะเบียนคู่ชีวิต จึงดำเนินเรื่องกับ สำนักงานคณะกรรมการปฎิรูปกฎหมาย (คปก.) เพื่อดำเนินการยกร่างกฎหมายคู่ชีวิตให้มีสิทธิไม่ด้อยกว่าคู่สมรส และสามารถรับบุตรบุญธรรมได้ โดยกฎหมายฉบับนี้ ถูกเรียกง่ายๆ ให้ชินปากว่า “ร่าง พ.ร.บ. คู่ชีวิต ฉบับประชาชน” ซึ่งหลักการที่สำคัญมีดังนี้

  • ร่างกฎหมายนี้รองรับการสมรสของบุคคลสองคนที่บรรลุนิติภาวะ โดยไม่ระบุเพศ
  • คือหลักฐานในการแสดงความสัมพันธ์ของบุคคลทั้งสอง หากใช้ชีวิตร่วมกันแต่ไม่ได้จดทะเบียนก็จะไม่ได้รับสิทธิตามกฎหมาย
  • ไม่มีบทบัญญติว่าด้วยเรื่องการหมั้น
  • ความสัมพันธ์ระหว่างคนทั้งสองต้องอยู่บนพื้นฐานของหลักศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ (กฎหมายครอบครัวมาตรา 1461)
  • การจัดการทรัพย์สินให้เป็นไปตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายครอบครัว สามารถแยกทรัพย์สินส่วนตัวที่ได้มาก่อนสมรส และสินสมรสที่หามาด้วยกัน
  • สามารถหย่า หรือขอยุติความสัมพันธ์ต้องเป็นความเต็มใจของสองฝ่าย
  • สามารถรับบุตรบุญธรรมมาเลี้ยงได้
  • เป็นหลักฐานการสมรสที่มีผลทางกฎหมาย โดยให้ถือว่ามีสิทธิเท่าเทียมกับคู่รักชายหญิงทั่วไป

สถานการณ์ของสิทธิเพศที่สามรอบโลก

“Human is Right!” มนุษย์ทุกคนมีสิทธิเท่าเทียมกันทุกประการ ไม่ว่าจะเรื่องใดก็ตามรวมไปถึงเรื่องเพศ แต่ก็ใช่ว่าคำนี้จะใช้ได้กับทุกประเทศทั่วโลก หากหันมองไปรอบโลกก็มีความรักของกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศเกิดขึ้นมากมาย บางที่ก็เปิดโอกาสให้แสดงความรัก จดทะเบียนเป็นคู่ครองกัน แต่บางประเทศยังคงมีบทลงโทษที่กระทบต่อบุคคลที่มีความหลากหลายทางเพศราวกับนักโทษ ทั้งลงโทษด้วยการเฆี่ยนตี ทรมาน หรือร้ายที่สุดก็คือทำให้หมดลมหายใจ ซึ่ง 10 ประเทศที่จะได้รับบทลงโทษ มีดังนี้

Afghanistan

บทลงโทษของชาวอัฟกานิสถานไม่ได้ระบุเรื่อง LGBT เอาไว้เป็นลายลักษณ์อักษร แต่มาตรา 130 ในรัฐธรรมนูญของกฎ Sharia (กฎหมายขาวมุสลิม) ได้ระบุให้ตัวตนของ LGBT เป็นเรื่องต้องห้าม ชาว LGBT ถูกหมายหัวเป็นอาชญากร และต้องโทษสูงได้ถึงขั้นประหารชีวิต อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการระบุโทษอย่างเป็นทางการหลังสิ้นสุดการปกครองของตาลีบัน

Iran

ตามกฎ Sharia การมีเพศสัมพันธ์ระหว่างชายกับชายจะต้องโทษประหารชีวิต โดยการแสดงความรักเช่นการจูบ จะถูกเฆี่ยนหรือโบยเป็นบทลงโทษ ซึ่งไม่ได้กำหนดไว้เพียงผู้ชาย แต่ผู้หญิงเองก็ด้วยเช่นกัน

Nigeria

กฏหมายบ้านเมืองของไนจีเรียระบุว่าการกระทำที่เกี่ยวข้อง หรือแม้แต่พฤติกรรมที่ส่อถึงการเป็นเพศทางเลือกหรือ LGBT นับเป็นโทษอาญาที่สามารถต้องโทษจำคุกได้ในหลายๆ รัฐ ได้มีการประยุกต์ใช้กฎ Sharia ที่มีโทษประหารชีวิตสำหรับผู้ชาย มีมาตรากฎหมายที่ร่างกายเดือนมกราคม 2016 ว่าการรวมตัวหรือรวมกลุ่มของ LGBT เป็นโทษทางกฎหมาย

Qatar

กฎ Sharia ในกาต้าร์สามารถบังคับได้กับชาวมุสลิมเท่านั้น ซึ่งสามารถต้องโทษประหารได้แม้แต่จากการมีชู้สาว หรือมีชู้ในขณะที่มีสถานะแต่งงาน โดยไม่อิงถึงความแตกต่างทางเพศด้วย

Saudi Arabia

ซาอุดิอาราเบียยังคงใช้กฎ Sharia อยู่ทั่วประเทศ ทำให้การมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้เป็นคู่สมรสกัน หรือ นอกศาสนามุสลิม สามารถต้องโทษประหารชีวิตด้วยการทุ่มด้วยหินจนเสียชีวิต โดยไม่อิงถึงเพศ

Somalia

กฎหมายบ้านเมืองของโซมาเลียระบุเรื่อง LGBT ไว้ว่าเป็นโทษจำคุก แต่ในภาคใต้ของประเทศ ศาลอิสลามได้นำเอากฎ Sharia มาใช้ในการออกโทษประหารชีวิต

Sudan

ผู้ทำผิดกฎเรื่อง LGBT สามารถต้องโทษได้ 3 ครั้งก่อนจะถูกตัดสินประหารชีวิต โดยครั้งแรกจะถูกโบย เฆี่ยนหรือการทารุณกรรมทางร่างกาย ครั้งที่สองจะถูกต้องโทษจำคุก อย่างไรก็ตาม ในภาคใต้ของประเทศมีการใช้กฎหมายที่ปราณีและเบากว่าส่วนอื่นของประเทศ

Yemen

ตามกฎหมายของเยเมนในปี 1994 เพศชายที่สมรสแล้วสามารถต้องโทษประหารชีวิตด้วยการทุ่มหินใส่หากมีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกัน ชายที่ยังไม่ได้สมรส จะถูกโบยและเฆี่ยนด้วยแส้หรือจำคุกหนึ่งปี ในขณะที่เพศหญิงสามารถต้องโทษจำคุกสูงสุดถึง 7 ปี

Mauritania

ชายมุสลิมในมอวริทาเนียร์ที่มีเพศสัมพันธ์กับเพศเดียวกันสามารถถูกประหารชีวิตด้วยการทุ่มหินได้ ตามกฎหมายในปี 1984 อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีหลักฐานที่ยืนยันออกมาว่ามีการประหารชีวิตเกิดขึ้นจนภุงปัจจุบัน แต่มีสตรีที่ถูกต้องโทษจำคุก

United Arab Emirates

ปัจจุบันนักกฎหมายและผู้เชี่ยวชาญในประเทศยังคงถกเถียงกันว่ากฎหมายบ้านเมืองระบุโทษประหารสำหรับชาว LGBT เพื่อกรณีไหน อาชญากรรมข่มขืนเท่านั้น หรือการมีเพศสัมพันธ์โดยสมยอมด้วย องค์การนิรโทษกรรมสากลให้รายงานล่าสุดว่ายังไม่มีหลักฐานเรื่องโทษประหารชีวิตสำหรับกิจกรรม LGBT แต่อย่างใด อย่างไรก็ตามการมีเพศสัมพันธ์นอกเหนือจากการสมรสเป็นความผิดบ้านเมือง

ถ้าความเป็นมนุษย์คือความเท่าเทียม เหตุใดจึงต้องลงไม้ลงมือกับความรักอันบริสุทธิ์ด้วย แต่ยังมีอีก 22ประเทศ ที่เปิดเสรีในเรื่องความรักของกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศ สามารถแต่งงาน จดทะเบียนเป็นคู่สมรสได้เหมือนคู่รักอื่นๆ

https://youtu.be/VuPuh6tP8eo

LGBT กับทวีปเอเชีย

ในขณะฝั่งยุโรปค่อยๆ ได้รับการยอมรับมากขึ้น แต่ทวีปเอเชียยังคงออกปากยอมรับแต่ไม่มีกฎหมายอะไรออกมาสักที เมื่อปี 2559 ไต้หวันได้คร่ำเคร่งร่างกฎหมาย 3 ฉบับว่าด้วยการสมรสที่เท่าเทียมกัน หลังจากได้รับการสนับสนุนจากไช่อิงเหวิน และเมื่อวันที่ 24 พฤษภาคม 2560 ศาลรัฐธรรมนูญไต้หวันตัดสินให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถแต่งงงานกันได้ เพราะมองว่าการจดทะเบียนสมรสระหว่างชายและหญิงขัดต่อการรองรับเสรีภาพในการแต่งงานและความเท่าเทียมกันของประชาชนในรัฐธรรมนูญ เท่ากับว่าไต้หวันเป็นประเทศแรกในเอเชียที่รองรับการแต่งงานของเพศเดียวกัน

กลุ่ม LGBT กับกฎหมายที่เข้าไม่ถึง

หากการจดทะเบียนคู่ชีวิต หรือร่าง พ.ร.บ คู่ชีวิตฉบับประชาชน ในประเทศไทยผ่านการอนุมัติอย่างเป็นทางการ จะทำให้คู่รักกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศมีสิทธิเท่าเทียม มีสิทธิในฐานะคนรักที่ตัดสินใจคู่ชีวิตที่ใช้ชีวิตร่วมกันได้ โดยสิทธิต่างๆ ที่ว่ามีดังนี้
สิทธิการจัดการทรัพย์สินร่วมกัน

  • การลดหย่อนภาษี    สำหรับผู้ที่มีรายได้และต้องเสียภาษีประจำปี หากมีคู่สมรสแล้ว กฎหมายถือเป็นเหตุให้ลดหย่อนภาษีได้ เพราะมีค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น แต่คู่ชีวิตที่ไม่ได้จดทะเบียนก็เสียสิทธิ์ไป
  • สินสมรส    สินสมรส หมายถึง การทำมาหากินของคู่สมรส โดยทรัพย์สินทุกอย่างแบ่งเป็นอย่างละครึ่ง แต่ถ้าหย่าขาดกัน แล้วมีคนใดคนหนึ่งแอบไว้คนเดียว สามารถฟ้องร้องให้แบ่งทรัพย์สินกันได้
  • สัญญาก่อนสมรส  หากอยากให้ทรัพย์สินที่ช่วยกันทำมาหากินเป็นของใครของมัน ควรทำสัญญาก่อนสมรสแล้วนำไปจดทะเบียนสมรสด้วย หากคู่ชีวิตไม่ได้จดทะเบียนก็ไม่อาจใช้สัญญานี้ได้
  • การจัดการทรัพย์สิน เรื่องการจัดการทรัพย์สินก็สำคัญ อย่างการขายที่ดิน ซึ่งกฎหมายกำหนดว่าต้องได้รับการยินยอมจากทั้งสองฝ่ายก่อน ถ้าคู่รัก LGBT ไม่มีการจดทะเบียนกัน ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งอาจเรียกผลประโยชน์เข้าหาตัวเองก็ได้
  • ค่าอุปการะเลี้ยงดู   หน้าที่หลักของการเป็นคู่ชีวิตคือการเลี้ยงดูซึ่งกันและกัน หากฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งขาดตกบกพร่องในหน้าที่ ก็สามารถฟ้องหย่าได้ แต่ไม่อาจเรียกร้องค่าอุปการะได้ เพราะไม่มีทะเบียนสมรส
  • การรับมรดก   คู่สมรสถือเป็นผู้รับผลประโยชน์ลำดับแรก หากฝ่ายหนึ่งเสียชีวิตคู่สมรสมีสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้น แต่คู่รัก LGBT ที่ไม่ได้จดทะเบียนก็หมดใช้สิทธิ์ทันที ฝ่ายทรัพย์สินอาจจะเป็นของญาติผู้ตายทั้งหมด
  • การทำสัญญาประกันชีวิต  กฎหมายไม่ได้เขียนไว้โดยตรงว่าสัญญาเหล่านี้ต้องเป็นสามีหรือภรรยาตามกฎหมาย แต่ในทางปฏิบัติ เงื่อนไขของบริษัทประกันชีวิตจะระบุว่าผู้รับประโยชน์ต้องเป็นญาติเท่านั้น แต่คู่ชีวิตกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศสามารถแก้ไขผู้รับผลประโยน์เป็นคำว่า “กองมรดก” หรือจะไม่ใส่ก็ได้ เพราะกฎหมายประกันชีวิตออกแบบไว้ว่า ถ้าไม่มีผู้รับผลประโชยน์ให้จ่ายผลประโยชน์นั้นแก่กองมรดกของผู้ตาย แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น เราแนะนำให้คุณลองสอบถามกับบริษัทประกันชีวิตอีกครั้งหนึ่งว่า สามารถทำวิธีอื่นได้ไหม ซึ่งถ้าคู่รัก LGBT มีการจดทะเบียนเหมือนคู่รักอื่นๆ ปัญหานี้ก็จะกลายเป็นแค่เรื่องเล็กๆ

ถ้าการจดทะเบียนคู่ชีวิตสัมฤทธิ์ผลในประเทศไทย เรียกได้ว่าส่งผลดีให้กับคู่รักของกลุ่มบุคคลหลากหลายทางเพศเป็นอย่างมาก อย่างการได้สิทธิที่เท่าเทียมคู่รักอื่นๆ อีกทั้งคนส่วนใหญ่มักมองว่า คู่รัก LGBT มักคบกันไม่ยั่งยืน เดี๋ยวก็หย่าขาดความสัมพันธ์กัน ไม่มีอะไรการันตีว่าความรักจะมั่นคงตลอดไป

ไม่เหมือนคู่รักชายหญิงที่มีทะเบียนสมรส ได้แต่งงานถูกต้องตามกฎหมาย ทำให้มีแรงจูงใจในการใช้ชีวิต แต่ถ้ามองกลับกันอีกมุมหนึ่งไม่ว่าจะคู่รักคู่ใด ถ้าไม่มีการหันหน้าคุยกันอย่างเข้าใจ ใช้ความรักลบรอยแผลที่บาดหมางซึ่งกันละกัน ต่อให้มีทะเบียนสมรส หรือสิทธิรองรับทางกฎหมาย ก็ไม่อาจครองคู่ให้ยาวนานได้ เมื่อทุกเพศคือมนุษย์ สิทธิ์ทุกอย่างควรเท่าเทียมตั้งแต่แรกเริ่มแล้วไม่ใช่เหรอ?​

ขอบคุณ ข่าวจาก https://rabbitfinance.com/blog/lgbt-is-right