เกย์ก็คือมนุษย์ธรรมดา มุมมองเรื่องเพศจาก What If It’s Us นิยายใหม่จากนักเขียน New York Times Best Seller

//

lgbt Thai Team

beefhunt

เมื่อเมียงมองมาในสังคมไทย เราค้นพบว่าปัจจุบันเราพบเห็นนิยายเกย์ หรืออีกคำที่เรียกว่า ‘นิยายวาย’ อันว่าด้วยเรื่องความสัมพันธ์ของเพศชายกับเพศชาย หรือเกย์กับเกย์

ที่วางขายกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งสังเกตได้จากการจัดวางหนังสือบนเชลฟ์ในร้านหนังสือใหญ่ๆ เรื่องหนึ่งที่เราต้องยอมรับคือ เมื่อก่อนหนังสือหมวดนี้กลายๆ จะเป็นสิ่งที่ ‘ไม่ควรนำเสนอ’ ในยุคหนึ่ง เพราะมันจะถูกหลบซ่อนไว้ในหลืบมุมของเชลฟ์อย่างอาดูร แต่ในปัจจุบันคุณเองอาจจะเห็นว่าหนังสือหมวดดังกล่าวถูกจัดวางอยู่ในหมวดนิยายอย่างเป็นสัดเป็นส่วน มีเชลฟ์ใหญ่ขึ้น และมีความหลากหลายในเนื้อหามากขึ้น นี่จึงเป็นการแสดงความเท่าเทียมกันทางเพศบนแผงหนังสือที่น่าสนใจอย่างมาก   เกย์โสด

เราได้ข่าวคราวของหนังสือเล่มหนึ่งที่ชื่อ What If It’s Us มาพักหนึ่งจากเพื่อนฝูงที่เป็นแฟนนิยาย ซึ่งนิยายเรื่องนี้เป็นการรวมตัวกันครั้งแรกของสองนักเขียนที่เคยมีผลงานขึ้นแท่นเป็นหนังสือขายดีของ New York Times มาแล้วทั้งคู่ เรากำลังพูดถึง เบ็กกี้ อัลเบอร์ทัลลี (Becky Albertalli) และ อดัม ซิลเวอรา (Adam Silvera) ซึ่งรายแรกนั้นเคยเขียนหนังสือเรื่อง Simon Vs. The Homo Sapiens Agenda ใช่ ถ้าคุณนึกออก เธอคือเจ้าของเรื่องราวของตัวละครอย่าง ‘ไซมอน’ จากหนังเรื่อง Love, Simon (2018) นั่นเอง ส่วนรายหลังอย่างอดัมเองก็เคยเขียนหนังสือเรื่อง They Both Die at the End ที่ว่าด้วยโลกอนาคต ที่มีสายโทรศัพท์โทรมาแจ้งว่าคุณจะตายในวันนี้ และเกิดเป็นความสัมพันธ์ของเด็กหนุ่มสองคนในช่วงสุดท้ายของชีวิต

ทั้งคู่ได้รับการยอมรับว่าเป็นนักเขียนที่หยิบยกเอาประเด็นความหลากหลายทางเพศขึ้นมาพูด โดยกำหนดช่วงวัยที่อยู่ในช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของชีวิต เหมือนเป็นการสร้างความเข้าใจให้กับโลกถึงการมีอยู่ของกลุ่มความหลากหลายทางเพศ และทำให้มันเป็นเรื่อง ‘ปกติ’ ที่ไม่ได้พิเศษกว่าใครทั้งนั้น ครั้งนี้จึงนับว่าน่าสนใจอย่างมากที่พวกเขาทั้งสองคนจะมาร่วมมือกันเขียนเรื่องราวใหม่ๆ ในหนังสือเล่มนี้

What If It’s Us ดำเนินเรื่องและเปิดประเด็นมาอย่างง่ายดายว่าเป็นเรื่องของเกย์หนุ่มแปลกหน้าสองคนที่บังเอิญเจอกัน ณ ที่ทำการไปรษณีย์ ที่ฝ่ายหนึ่ง อาเธอร์ (Arthur) มาส่งจดหมายธรรมดา และอีกฝ่ายคือเบน (Ben) ที่แวะมาเพื่อนำข้าวของเครื่องใช้ของแฟนเก่าแพ็กลงกล่องเพื่อส่งคืนเขา ทั้งสองหนุ่มแปลกหน้าพูดคุยกันอย่างถูกคอ และรู้สึกชอบพอกัน แต่ท้ายที่สุดคุณเดาได้ไหม ใช่ พวกเขาไม่ได้แลกช่องทางการติดต่อกันไว้ และสิ่งที่หนังสือปล่อยให้เราได้ติดตามตลอดครึ่งเรื่องแรกคือ การตามหากันและกันของทั้งคู่ ที่ทั้งน่าหงุดหงิดและน่ารักน่าชังในเวลาเดียวกัน

สิ่งที่เราโฟกัสนอกเหนือจากความสัมพันธ์ที่น่าจะเป็นไปด้วยดีของสองตัวละครหลักคือการหยิบยกความป๊อปในสังคมมากล่าวถึงได้อย่างมากมาย ก่อนอื่นต้องสารภาพว่ายังติดตามเรื่องราวไปได้เพียงครึ่งเล่มเท่านั้น เราจึงยังไม่ได้ข้อสรุปของตัวละครทั้งหมด (รอให้คุณไปหาอ่านดูเอาแล้วกัน) ซึ่งไอ้ความป๊อปที่เรากำลังพูดถึงคือบริบทสังคมที่เราผ่านหูผ่านตากันมาทุกวันอยู่แล้ว ทั้งภาพยนตร์ เพลง ซีรีส์ เกม หรือแอปพลิเคชันที่เราคุ้นเคยในยุคนี้ ทั้งยังมีบทสนทนาที่ยอดเยี่ยมในแบบของเกย์ยุคนี้ที่คุยกันจริงๆ อยู่เต็มไปหมด มีทั้งความทะลึ่งตึงตังและน่ารักปนอยู่ในที เฉกเช่นตอนหนึ่งที่ตัวละครกำลังพูดถึงเกม ‘โปเกมอน’ ก่อนจะตบท้ายด้วยมุกไล่ให้อีกฝ่ายไปเล่นจับ ‘ปิกาจู’ ที่ห้องน้ำ ก็ดูเป็นมุกสุดทะลึ่งที่เป็นสากลเหลือเกิน

ในหนังสือนั้นหยิบยกเอาเรื่องป๊อปคัลเจอร์มาสอดแทรกอยู่ตลอด ซึ่งเป็นการนำเสนอในรูปแบบที่นิยายยุคนี้จะเริ่มนำมาใช้กันอย่างแพร่หลาย เช่น เราได้อ่านหนังสือที่ใช้การแชตเป็นบทสนทนา หรือการเลือกใช้วิดีโอคอลเพื่อเล่าเหตุการณ์เหตุการณ์หนึ่ง หรือการไล่หาเบาะแสอินสตาแกรมของตัวละคร โดยเขาไปนั่งไล่หาจากผู้ติดตามกว่า 75,000 คนของเซเลบริตี้วัยเยาว์คนหนึ่ง นับเป็นมุกตลกที่มีพลังอย่างมาก เพราะเราเชื่อว่าคุณเคยทำ! รวมไปถึงหลายๆ ตอนในเรื่องเองก็มีการอ้างอิงวัฒนธรรมความป๊อปอื่นๆ เข้ามาเสริมเรื่องราวให้ดูมีความสนุกสนานมากขึ้น อาทิ การอธิบายถึงตัวละครหลักอย่างเบน โดยกล่าวว่าเขามีริมฝีปากคล้ายเอ็มมา วัตสัน (Emma Watson) แถมตัวละครยังมีความเนิร์ดเหมือนในหนังสือแฮร์รี่ พอตเตอร์ และบทสนทนาอย่าง “ให้ยี่สิบคะแนนแก่บ้านกริฟฟินดอร์!” เพื่อให้คะแนนกับการกระทำของตัวละครก็นับเป็นมุกเฉพาะกลุ่มที่เข้าใจได้ไม่ยาก

ภาพหนึ่งที่ทำให้เห็นความเป็นเกย์ในยุคปัจจุบันชัดอย่างมากคือสิ่งที่พวกเขาเติบโตมา โดยเฉพาะตัวละครในเรื่องที่ยังอยู่ในวัยไฮสคูลไปถึงมหาวิทยาลัยก็สามารถทำให้เราย้อนไปนึกถึงวันเก่าๆ ในชีวิตได้ เราได้เห็นการนั่งเล่นเกมมาริโอของตัวละคร และหยิบยกเอาคาแรกเตอร์ของตัวละครในเกมมาอธิบายชีวิต หรือการพูดถึงเกม The Sims รวมไปถึงศิลปินยอดฮิตที่เมื่อก่อนเราอาจจะพบเห็นรายชื่อของ นีนา ซีโมน (Nina Simone), แฟรงก์ ซินาตรา (Frank Sinatra), หรือสตีวี วันเดอร์ (Stevie Wonder) มาเป็นส่วนหนึ่งของเรื่องราวในนิยาย แต่พวกเขากลับถูกแทนที่ด้วย ลานา เดล เรย์ (Lana Del Rey) หรือลอร์ด (Lorde) ไปแทน

สิ่งที่เรารักที่สุดในหนังสือเล่มนี้คือภาพของความเป็นเกย์ถูกทำให้เป็นเรื่องปกติสามัญ ซึ่งแค่นั้นก็นับว่าเป็นความถูกต้องแล้ว และเรายังได้มุมมองที่ผู้คนในสถานะอื่นๆ มองเกย์จากตัวละครอื่นๆ อาทิ ดีแลน (Dylan) เพื่อนสนิทของเบนที่เป็นผู้ชายโดยในบริบทของความสัมพันธ์นี้เปลี่ยนภาพการเป็นเกย์ที่ต้องมีเพื่อนเป็นผู้หญิงหรืออยู่กับเพื่อนเกย์เป็นแก๊งเช่นที่เราจำได้ และยิ่งพาให้หนังสือน่าสนใจไปอีกกับการบ่งบอกถึงความธรรมดาสามัญของความสัมพันธ์ระหว่างเพื่อนต่างเพศ หรือเพื่อนต่างรสนิยมทางเพศ เพราะตัวละครทั้งดีแลนและเบนต่างไปค้างบ้านกันและกัน หรือเปลี่ยนเสื้อผ้าต่อหน้ากันได้ โดยไม่มีการแสดงทีท่าของความหวาดกลัว (Homophobia)

และแน่นอนว่าวิธีการดูแลและรักษาความสัมพันธ์จากมุมมองของผู้ชายเอง ก็มองว่าเกย์ก็คือมนุษย์คนหนึ่งเพียงเท่านั้น และแสดงภาพอย่างที่มนุษย์ที่เติบโตมายุคปัจจุบันควรจะเป็น ที่ไม่แบ่งเขตแดนทางเพศอีกต่อไปใ

หรืออย่างตัวละครของพ่อแม่ของตัวเอกทั้งสองคนที่เราพบว่านี่เป็นครอบครัวในอุดมคติที่การมีลูกเป็นเกย์และเปิดเผยรสนิยมกับพ่อแม่ไม่ใช่เรื่องผิดบาป และเป็นเรื่องที่ยินยอมได้ ซ้ำพ่อแม่ยังทำหน้าที่เป็นเสมือนที่ปรึกษาในเรื่องความรักของลูกๆ อย่างตรงไปตรงมา ไม่เคอะเขิน ยิ่งทำให้ตัวละครเกย์ในเรื่องกลายเป็นมนุษย์คนหนึ่งมากขึ้นไปอีก ที่เราอยากเอาใจช่วยและเข้าใจความรู้สึกของเขาว่าคิดอย่างไร หรือรับมืออย่างไรในเรื่องของความรู้สึกและความสัมพันธ์

ปัจจุบันเรายังไม่ทราบข่าวคราวว่ามีสำนักพิมพ์ในไทยเจ้าไหนที่ถือลิขสิทธิ์เรื่องนี้ไว้ แต่ถ้าอดใจรอเวอร์ชันแปลไทยไม่ไหวลองหามาอ่านดูก่อนได้ เพราะนอกเหนือจากเรื่องราวที่น่าสนใจ สนุก และอารมณ์ดีแล้ว หนำซ้ำยังมีภาษาอังกฤษที่อ่านง่าย และคำศัพท์ไม่ยาก ฉะนั้นถือว่าเป็นการฝึกปรือตัวเองไปในตัวอีกทางด้วย

ขอบคุณ ข่าวจาก   https://thestandard.co/what-if-its-us/

Leave a Comment