ในหลายๆ วัฒนธรรมทั่วโลกถือว่าการ ‘เปิดตัว’ ในรสนิยมทางเพศ และเพศสภาพของตัวเองกับครอบครัวหรือคนสนิทเป็นเรื่องสำคัญอย่างหนึ่ง
ซึ่งในประเทศไทยอาจจะยังเป็นสิ่งที่ยาก และหลายๆ คนอาจจะเก็บไว้กับตัวและไม่เคยพูดออกมากับใคร วันนี้ พี่นิทาน นำเรื่องราวมาชวนคิดกันค่ะ ว่าการเปิดตัวเนี่ยมันสำคัญหรือไม่ และอีกนานแค่ไหนทุกคนถึงจะอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขและไม่ก้าวก่ายกันและกัน น่าคิดใช่มั้ยคะ เกย์ไทย
การ ‘Coming out’ คืออะไร?
ก่อนหน้านี้เวลาพี่ดูหนังต่างประเทศหลายๆ เรื่องที่มีตัวละครเป็นเพศทางเลือกหรือชาว LGBT มักจะมีฉากที่ตัวละครนั้นๆ ต้อง ‘เปิดตัวสารภาพ’ กับครอบครัวว่าพวกเขา ‘รักคนเพศเดียวกัน’ ซึ่งตอนนั้นพี่ก็แอบสงสัยว่ามันจำเป็นขนาดนั้นเลยเหรอ?
จริงอยู่ที่ประเทศไทยเรามีชาวเพศทางเลือกกันเยอะ แต่ด้วยการเลี้ยงดู ระบบครอบครัว และวัยที่ต่างกันระหว่างรุ่นเราและรุ่นพ่อแม่ทำให้มันฟังดูยาก และเชื่อว่าหลายๆ คนอาจจะเนียนๆ แบบไม่พูดถึงเรื่องนี้กันกับที่บ้าน แต่บางครั้งเรื่องนี้สำคัญมากที่จะให้พวกเขารู้ ในกรณีที่เรามีความรักและความสัมพันธ์ที่จริงจังกับอีกฝ่าย
การ Coming out ก็คือการบอกให้คนสำคัญในชีวิตเรารับรู้ ว่าเรา ‘ไม่เหมือน’ กับคนอื่นๆ ที่สังคมคุ้นชินหรือกำหนดไว้ (Social norms) ที่คนส่วนมากจะมองว่าความรักคือคนสองคนที่เป็นเพศชายและหญิงรักกัน แต่ความจริงแล้วสมัยนี้มันมีอะไรที่มากกว่านั้นเยอะมากๆ เช่น เราเป็นเพศหญิง และรักผู้หญิงด้วยกัน หรืออาจจะในกรณีเปิดเผยตัวตนของตัวเอง เช่น ชายคนหนึ่งอัดอั้นมานานจากการถูกเลี้ยงดูแบบผู้ชาย ทั้งๆ ที่ใจเขายากเป็นผู้หญิง และรู้สึกเป็นตัวของตัวเองในแบบผู้หญิงมากกว่า การเปิดตัวหรือ Coming out จึงเป็นอีกเรื่องที่ไม่ง่าย แต่อาจจำเป็นจะต้องทำ
และไม่ใช่แค่กับในครอบครัวเท่านั้น บางครั้งการเปิดตัวอาจจำเป็นกับสังคมอื่นๆ เช่น ที่โรงเรียน, ที่ทำงาน ฯลฯ ทั้งนี้ไม่ใช่แค่เป็นความ ‘จำเป็น’ เท่านั้น (จริงๆ ก็ไม่ควรเป็นเรื่องจำเป็นเลยนะคะ) แต่บางครั้งสิ่งสำคัญของการเปิดตัวก็คือการวางแผน การวางตัว และการทำให้ทุกๆ คนเข้าใจเรามากขึ้นโดยไม่ต้องมากังวลใจหรือระแวงอะไรใดๆ
ถึงจะดูสำคัญแต่มันก็ไม่ควรสำคัญ
ถึงการเปิดตัวกับสังคมหรือกลุ่มคนสนิทจะสำคัญในบางอย่าง แต่พอมาคิดดีๆ แล้วก็ไม่เห็นจะต้องมีการเปิดตัวเกิดขึ้นมาในสังคมมนุษย์เลยนะคะ ในเมื่อคนทั่วๆ ไปที่รักเพศตรงข้ามยังไม่เห็นต้องไปสารภาพกับใคร แล้วทำไมชาวสีรุ้ง LGBT ถึงต้องมาเสียเวลาเปิดตัวและอธิบายการเป็นตัวตนและรสนิยมทางเพศกับคนอื่นด้วยล่ะ?
ประเด็นนี้ยังเป็นเรื่องที่ทุกคนถกเถียงกันอยู่ และหวังว่าในอนาคตอีกไม่นานนี้การเปิดตัวจะไม่ใช่สิ่งสำคัญอีกต่อไป และทุกคนควรจะอยู่กันอย่างมีความสุขและไม่ก้าวก่ายกัน
นอกจากนั้น ที่สหรัฐอเมริกาก็ยังเป็นประเทศต้นกำเนิดวัน ‘National Coming Out Day’ ที่มีในทุกๆ วันที่ 11 ตุลาคม (หรือวันที่ 12 ตุลาคม ในบางประเทศ) จุดประสงค์คือวันเฉลิมฉลองของชาว LGBT ที่เคยทุกข์ทรมาน หรือผ่านช่วงชีวิตยากๆ จากการ ‘เปิดตัว’ หรือ ‘เปิดเผยตัวตน’ มาก่อน ให้ทั้งคนกลุ่มเดียวกันและคนอื่นรับรู้ว่าเราก็มีตัวตน และเราก็เคยผ่านช่วงเวลาแย่ๆ และยากๆ มาก่อนนะ
ถึงวันแห่งการเปิดตัวจะเป็นวันดีๆ และคนส่วนมากจะมาฉลองกันอย่างมีความสุข ที่สุดแล้วก็วกกลับมาที่ความสงสัยอย่างเดิมว่าแล้วการเปิดตัวเนี่ยมันสำคัญจริงๆ เหรอ? ทำไมคนเราจะต้องมาเจอช่วงเวลายากๆ กับการค้นหาตัวตนและหาร้อยเหตุผลในการรักคนๆ หนึ่งมาอธิบายคนรอบข้างด้วยว่าทำไมถึงเป็นแบบนั้น จริงไหมคะ
แม้แต่ในประเทศที่ ‘เปิดกว้าง’ ก็ยังต้องเปิดตัวกันอยู่
การเปิดตัวสำหรับบางคนอาจเป็นเรื่องสำคัญในการใช้ชีวิต และบางคนก็ต้องทำทุกครั้งเวลาไปเข้าสังคมใหม่ๆ เช่น เข้าเรียนที่ใหม่หรือย้ายงาน หรือพบปะเพื่อนๆ กลุ่มใหม่ เป็นต้น วันนี้พี่จะยกตัวอย่างบทสัมภาษณ์จากหลายๆ คนที่เป็นชาว LGBT จากประเทศสวีเดนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นประเทศสุดล้ำทั้งเทคโนโลยีและแนวคิดของคนทั่วๆ ไป
แต่ถึงสวีเดนจะเป็นประเทศเปิดกว้างในหลายๆ เรื่อง ชาว LGBT ส่วนมากก็ยอมรับว่าการเปิดตัวเป็นอีกหนึ่งเรื่องสำคัญที่จะเป็นต้องทำจริงๆ ค่ะ เรามาอ่านความเห็นของพวกเขากัน
-วิลเลียม (อายุ 26)
“เหตุการณ์นั้นเกิดขึ้นแบบไม่ทันตั้งตัว คือตอนที่ผมทานอาหารเย็นกับที่บ้าน อยู่ดีๆ พ่อกับแม่ก็พูดขึ้นมาประมาณว่า ‘ได้ยินมาว่าเธอเป็นเกย์ เป็นเรื่องจริงรึเปล่า?’ ผมเลยตอบพวกเขาไปว่า ‘คิดว่าน่าจะใช่นะฮะ’ ตอนนั้นก็ยังไม่แน่ใจเท่าไหร่ว่าจะพูดอะไรกับพวกเขาดี แต่เรื่องราวก็ผ่านไปได้ด้วยดีเนื่องจากพ่อมีเพื่อนเป็นเกย์เยอะ และพยายามบอกผมว่ามันคือเรื่องธรรมดามาก ส่วนแม่ก็แค่คิดว่าทำไมผมไม่บอกพวกเขาตั้งแต่แรกกันนะ
แต่กับเพื่อนๆ ผมรู้สึกกลัวเหมือนกัน เพราะอย่างครอบครัวเราเขาก็บอกเราอยู่แล้วว่าไม่ว่าจะเป็นอะไรเขาก็จะรักเราเหมือนเดิม แต่พอบอกเพื่อนๆ ไป ส่วนมากก็ไม่ได้สนใจหรือว่าอะไร แต่ก็มีเพื่อนผู้ชายบางคนที่บอกว่า ‘ไม่เป็นไร แต่อย่ามาชอบเราละกัน’
เพื่อนบางคนที่เป็นเกย์เหมือนกันก็บอกกับผมว่าเขารู้สึกไม่สบายใจ และไม่เป็นตัวของตัวเองที่ไม่ได้บอกกับคนที่ทำงาน ส่วนตัวผมก็เข้าใจเขา แต่กับผมเองไม่มีปัญหาอะไรกับเรื่องนั้น เพราะผมว่ามันไม่สำคัญว่าเราจะต้องเปิดตัวหรือไม่เปิดกับคนอื่นที่นอกจากครอบครัว แต่ด้วยความที่เรายังอยู่ในสังคมที่มีค่านิยมชายรักหญิงเป็นหลักก็อาจจะต้องทำตามๆ กันไปก่อน การเปิดตัวว่าชอบเพศเดียวกันหรือเป็นเกย์นั้นมันไม่ง่าย แต่ผมเชื่อว่าในอนาคตเรื่องเหล่านี้คงจะง่ายขึ้น และคนทุกคน ทุกเพศจะถูกปฏิบัติกันอย่างเท่าเทียม”
-แมเดลีน (อายุ 23)
“กว่าฉันจะเข้าใจเพศสภาพของตัวเองก็ใช้เวลานานพอสมควร และจำได้ว่าสามปีก่อนฉันบอกกับเพื่อนสนิทที่สุดว่าชอบผู้หญิงด้วยกัน แต่ก็ไม่ค่อยแน่ใจเท่าไหร่ว่ามันคือความจริงมั้ย จนกระทั่งลองจีบๆ และคบผู้หญิงดู พอเริ่มคบกันจริงจังมากขึ้นเลยตัดสินใจบอกที่บ้านแบบที่ทุกคนไม่ตั้งตัวเช่นกัน คือมีอยู่คืนหนึ่งก่อนพ่อจะเข้านอน ฉันพูดออกไปว่า ‘หนูสงสัยตัวเองมานานแล้วว่าชอบเพศไหนกันแน่ และตอนนี้หนูก็กำลังมีความรักกับผู้หญิงเหมือนกันค่ะพ่อ’ พอพูดจบ พ่อก็บอกว่าเขาก็จะรักฉันเหมือนเดิมอยู่ดี ไม่ว่าจะยังไงก็ตาม แค่ขอให้เจอใครสักคนที่ทำให้ฉันมีความสุขก็พอแล้ว”
-อากรี (อายุ 22)
“ผมเป็นมุสลิมและเป็นชาวต่างชาติ พอมาอยู่สวีเดนต่างถิ่นหลายๆ คนเลยบอกว่าอาจจะยากถ้าผมจะเปิดตัวให้สังคมรับรู้ แต่เอาเข้าจริงมันก็ไม่แย่ขนาดนั้นครับ ตอนที่ผมบอกแม่ว่าเป็นเกย์คือตอนอายุ 18 หลังจากช้อปปิ้งกับแม่เสร็จผมก็ตัดสินใจบอกแม่ ถึงแม้ผมจะรู้ดีว่าแม่น่าจะแอบสงสัยมานานแล้ว พอบอกไปแม่ก็เหมือนจะยังไม่ยอมรับมากเท่าไหร่ แต่พอผ่านไปสองสามอาทิตย์ แม่ก็มาบอกผมว่า ผมคือลูกชายของแม่ เพราะฉะนั้นไม่ว่าจะยังไงแม่ก็รักผมเหมือนเดิม
ส่วนพ่อของผมก็ดูจะสบายๆ กับเรื่องนี้ เพราะพอพ่อรู้ พ่อก็ถามคำถามหลายๆ อย่าง เช่น ผมมีแฟนหรือยัง ถ้ามีแล้วพามาเจอได้มั้ย ก็เป็นเรื่องดีๆ ที่ผมประทับใจเช่นกัน ส่วนตัวผมคิดว่าการบอกกับที่บ้านหรือ Coming out เนี่ยเป็นอะไรที่ไม่ง่ายเลย โดยเฉพาะถ้าเรามีศาสนาหรือมาจากวัฒนธรรมที่แตกต่าง อีกอย่างเราจะคาดเดาไม่ได้ว่าคนจะแสดงออกหรือรับมือกับเรื่องที่เราบอกยังไงบ้าง
และอีกอย่างคือผมคิดว่าคนเราไม่ควรต้องคิดว่าการเปิดเผยเพศสภาพเป็น ‘หน้าที่’ หรือสิ่งที่จำเป็นต้องทำ ผมหวังว่าอนาคตเรื่องนี้จะดูง่ายขึ้น และคนยอมรับมากขึ้นว่าจริงๆ แล้วเรื่องเพศสภาพนั้นมันก็เหมือนของเหลวที่ไม่มีอะไรตายตัวครับ”
-บีเยิร์น (อายุ 26)
“ผมรู้มาตลอดว่าผมเป็นเกย์ จนกระทั่งอายุ 17 เลยตัดสินใจบอกเพื่อนสนิทไปไม่กี่คน รวมถึงแม่ผมด้วย ซึ่งแม่ก็ไม่ได้ว่าอะไรและถามว่ามีแฟนรึยัง แค่นั้น แต่พอโตขึ้นๆ ผมก็รู้สึกว่าผมต้องใช้เวลาเพื่อการบอกใครต่อใครว่าผมเป็นเกย์ในทุกครั้งที่ต้องเข้าสังคมใหม่ๆ หรือมีเพื่อนกลุ่มใหม่ๆ
ผมรู้สึกว่าชาวเพศทางเลือก หรือ LGBT ต้องมีหน้าที่คอยบอกใครต่อใครอยู่เสมอว่าพวกเขาเป็นอะไร ชอบเพศอะไร เพื่อการอยู่ร่วมในสังคม ซึ่งจริงๆ แล้วถ้าเลือกได้ผมก็ไม่อยากให้มันกลายมาเป็นหน้าที่ของพวกเราแบบนี้ แต่เมื่อเรายังอยู่ในสังคม เราก็ต้องยอมรับว่าพวกเรายังคงเป็นกลุ่มน้อย และได้รับการปฏิบัติที่แตกต่างบ้างในบางครั้ง”
การเปิดตัวหรือ Coming out ของหลายๆ คนก็แตกต่างกัน แต่ท้ายที่สุดแล้วก็อยู่ในรูปแบบคล้ายกันนะคะ และทุกๆ คนก็พูดเป็นเสียงเดียวกันและย้ำอยู่เสมอว่าความเป็นจริงแล้วเรื่องการเปิดเผยเพศสภาพหรือบอกใครต่อใครว่าเราเป็นยังไงก็ไม่ควรเป็นเรื่องที่ดูเหมือน ‘สังคมบังคับ’ เพราะท้ายที่สุดแล้วสิ่งที่มนุษย์เราต้องการก็คือความรักและการเข้าใจกัน ไม่ว่าจะแตกต่างกันหรือเพราะเหตุใดก็ตามค่ะ
ขอบคุณ ข่าวจาก https://www.dek-d.com/studyabroad/48564/