“น้องโรส” นักมวยข้ามเพศกับเรื่องราวการต่อสู้บนสังเวียนลูกผู้ชาย

//

lgbt Thai Team

beefhunt

“จะไปชกกับกะเทยทำไม ชนะก็อายหมา แพ้ก็อายหมา” คือหนึ่งในคำพูดที่ สมรส ผลเจริญ นักมวยไทยข้ามเพศ

ยังคงจดจำได้ดีเสมอ เมื่อครั้นที่เจ้าตัวเดินทางเข้ามาชกมวยที่เวทีราชดำเนินเป็นครั้งแรก

คำพูดในวันนั้นช่างแตกต่างกับสิ่งที่เกิดขึ้นในอีก 8 ต่อมาเสียเหลือเกิน..เสียงโห่ร้องไม่ยอมรับผลการตัดสินจากผู้ชมราว 3,000 ชีวิต ในสนามกีฬาในร่ม ปีแอร์ เดอ กูแบร์แต็ง – กรุงปารีส ประเทศฝรั่งเศส ดังขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ภายหลังโฆษกสนามประกาศว่า น้องโรส บ้านเจริญสุข (สีเสื้อในเวลานั้น) นักมวยสาวประเภทสอง ชาวไทย เป็นฝ่ายแพ้คะแนนต่อ อาครัม ฮามิดี นักชกเจ้าถิ่นไปแบบค้านสายตาคนดู…

เสียงโห่ที่เกิดขึ้นรอบๆสนาม จากผู้ชมที่ไม่เห็นด้วยกับผลการแข่งขัน นับเป็นชัยชนะที่ยิ่งใหญ่ของผู้แพ้ชาวไทย หลังจากที่เธอสามารถฝ่ากำแพงความเชื่อ ทัศนคติต่อนักกีฬาข้ามเพศ… จนได้ชื่อว่าเป็น “นักมวยไทยข้ามเพศคนแรกที่ได้ชกที่ประเทศฝรั่งเศส”

ถึงแม้ว่าเธอจะมีชื่อในวงการมวยไทยว่า “น้องโรส” แต่ชีวิตเธอกลับไม่เคยโรยด้วยกลีบกุหลาบเหมือนกับชื่อของตัวเอง

นอกเหนือจาก สิ่งที่เธอต้องต่อสู้บนสังเวียนหมัดมวย เหมือนกับนักมวยไทยอาชีพทุกคน ที่ต้องการประสบความสำเร็จ และสร้างรายได้จากมวยไทย… เธอยังต้องต่อสู้กับ เรื่องราวที่อยู่ภายนอกสนามมากมาย ไม่ว่าจะทัศนคติ คำพูดดูถูกเหยียดหยาม

ตลอดจนการไม่ยอมรับเธอในฐานะ “นักชกข้ามเพศ” หรือมองว่าเธอเป็นเพียงแค่ตัวตลกของวงการเท่านั้น มากกว่าจะมองเธอผ่านความสามารถที่จริงๆ               เกย์ไทย

ไม่อยากให้เป็นกะเทย

“หนูรู้ว่าตัวเองเป็นแบบนี้มาตั้งแต่ก่อนจะมาเริ่มหัดมวยอีกค่ะ น้าของหนูเคยเป็นอดีตนักมวยมาก่อน แกก็พอจะดูออกว่าหนูเป็นแบบยังไง เลยจับหนูถูกมาฝึกมวยไทยตั้งแต่อนุบาล เพราะไม่อยากให้หนูเป็นกระเทย” น้องโรส สท.ชัยวัฒน์ เล่าถึงจุดเริ่มต้นก่อนจะมาเป็นนักมวยข้ามเพศอย่างทุกวันนี้

ในวันที่เธอยังเป็นเพียงแค่ เด็กชายสมรส ผลเจริญ เธอมีวิถีชีวิตที่ไม่ได้แตกต่างกับเด็กผู้ชายในอำเภอพิมาย จังหวัดนครราชสีมา ที่จะเริ่มต้นฝึกหัดชกมวยไทย ตั้งแต่อายุยังน้อย เพื่อขึ้นชกตามเวทีงานวัด งานประจำปี ตลอดจนการหาโอกาสไปชกในรายการใหญ่ๆ

สิ่งที่แตกต่างกัน อาจเป็นจุดเริ่มต้นของเธอที่เกิดขึ้นเพราะน้าชาย ไม่ต้องการให้เธอ เกิดความรู้สึกเบี่ยงเบนจากความเป็นชายแท้ ไปเป็นสาวประเภทสอง จึงเริ่มฝึกหัดหลานชายของตัวเอง และหาคิวให้ไปขึ้นชกตามเวทีท้องถิ่นต่างๆ… แม้ในใจของเธอจะไม่เคยมีความคิด อยากชกมวยบนเวทีเลยสักนิดเดียว

“ตอนเด็กหนูเป็นคนที่เรียบร้อย เงียบๆ ไม่ค่อยกล้าพูดกับใครเท่าไหร่ อยู่โรงเรียนสมัยประถมฯ ก็จะโดนเพื่อนแกล้ง เพื่อนล้อบ่อย เรียกว่า ไอ้ตุ๊ด บ้างอะไรบ้าง เพราะหนูจะอยู่กลุ่มผู้ชาย ตอนนั้นหนูยังไม่ได้เปิดเผยว่าตัวเองเป็นกะเทยนะ เวลาอยู่ในค่ายมวย ก็ทำตัวปกติเหมือนกับนักมวยผู้ชายทั่วไป”

“ความจริงเขาจะพาหนูไปชกมวยหลายครั้งแล้ว แต่ว่าหนูอายคนดู อายที่จะเดินไปบนเวทีต่อหน้าคนดูเยอะๆ ช่วง 2 ปีแรกได้ซ้อมอย่างเดียว พอถึงวันชกจริงก็ขอถอนตัวตลอด อีกอย่างพ่อกับแม่ก็ไม่ค่อยอยากให้หนูไปชกด้วย เพราะกลัวหนูเจ็บตัว”

ถึงจะไม่เคยได้ชกจริงจังสักไฟต์เดียว แต่การได้มาฝึกซ้อมอยู่กับมวยทุกวัน ก็ทำให้เธอเริ่มรู้สึกสนุกและรักกีฬาชนิดนี้มากขึ้นโดยไม่รู้ตัว และในที่สุดเธอตัดสินใจที่จะขึ้นชกครั้งแรกด้วยค่าตัว 500 บาท

“ครอบครัวหนูไม่ได้ถึงกับยากจนมากนะ หนูมีพี่น้อง 4 คน พี่สาว 1 คน พี่ชายชกมวยเหมือนกัน 1 คน แล้วก็มีน้องอีก 1 คน พ่อจะไปขายของอยู่ทางภาคใต้ ได้กลับบ้านเดือนละครั้ง ส่วนแม่ทำงานรับจ้างตามหมู่บ้าน จุดที่ทำให้หนูอยากไปชกมวยเพื่อหาเงิน เพราะหนูไม่อยากขอเงินที่บ้าน หนูคิดว่าถ้าหนูไปต่อยมวย ก็น่าจะทำให้หนูมีเงินใช้ เพราะมวยต่อยแค่ 20 นาทีเอง ได้เงินมาไม่ยาก”

“ไฟต์แรกที่หนูขึ้นชก เป็นมวยงานวัดนี่แหละ หนูขโมยแม่ไปเปรียบมวย (แอบแม่ไปชก) ตอนอายุ 8 ขวบ จำได้ว่าตอนเดินขึ้นไปเวที รู้สึกตื่นเต้น อายคนดูด้วย ไม่ค่อยกล้าเดินเท่าไหร่ แต่ก็เอาชนะนักมวยคนนั้นมาได้ พอแม่รู้ว่าหนูต่อยไฟต์แรกชนะ แม่ก็สนับสนุน กลายเป็นว่า แม่ตามไปดูทุกไฟต์เลยค่ะ”

หลังสวน พยัคฆ์ชีวาน คือชื่อแรกในวงการมวยของ นักชกเด็กผู้ชายผมเกรียนคนนี้ ที่ไม่มีใครรู้เลยว่าลึกภายในจิตใจของเธอ ไม่ได้ต่างอะไรกับผู้หญิงคนหนึ่งที่รักสวย รักงาม แต่ต้องมาต่อสู้ในกีฬาลูกผู้ชาย ที่มีความอันตราย ในทุกๆจังหวะอย่าง มวยไทย

เธอเก็บงำความลับนี้ไว้กับตัวเองมาตลอด โดยไม่คิดที่จะบอกใครว่า ตัวเองไม่ได้เป็น ชายแท้ ตามรูปลักษณ์ภายนอก แม้แต่คนในครอบครัวที่ยอมรับได้ โดยที่เธอไม่ต้องพูดเรื่องนี้เลยสักครั้งเดียว

หลังเรียนจบชั้นประถมศึกษาฯ เธอได้เปลี่ยนชื่อมวยมาเป็น “รถด่วน ส.สมชัยฟาร์ม” และเดินสายชกตามต่างจังหวัด จนวันหนึ่ง เธอมีโอกาสได้ชกในเวทีมวยมาตรฐานที่นักมวยไทยแทบทุกคนใฝ่ฝันอย่าง สนามมวยราชดำเนิน ในฐานะคู่เปิดรายการ พิกัด 100 ปอนด์

ที่นั่นกลับเป็นประสบการณ์ที่เลวร้ายสำหรับเธอไม่น้อย โดยเฉพาะคำพูดเหยียดหยามที่เธอได้ยินตอนที่นั่งพักอยู่ข้างเวทีว่า..

อายหมา

“ครั้งแรกที่ได้ไปชกที่ราชดำเนิน หนูไม่ชอบบรรยากาศที่นั่นเลยค่ะ หนูไม่เคยต่อยที่มีคนดูเยอะขนาดนี้มาก่อน รู้สึกเหนื่อยที่ต้องมาควบคุมน้ำหนัก แถมไฟต์นั้นหนูแพ้ด้วย เพราะลดน้ำหนักเยอะ” น้องโรส เริ่มย้อนความหลัง

“ไฟต์นั้นช่วงที่หนูกำลังนั่งพักอยู่ มีเซียนมวยฝ่ายตรงข้าม ตะโกนขึ้นมาว่า “จะไปชกกับกะเทยทำไม ชนะก็อายหมา แพ้ก็อายหมา” เหมือนเขาต้องการพูดให้หนูรู้สึกแย่ หลังจากจบไฟต์นั้น ก็กลับไปชกตามต่างจังหวัดอย่างเดียว ไม่ได้กลับไปราชดำเนินอีกเลย”

มวยไทย ถูกวางตำแหน่งไว้เป็น ศิลปะการต่อสู้ประจำชาติของไทย ที่เหมาะสมสำหรับชายชาตรี แม้ว่า เด็กชายสมรส ในวัย 13 จะยังไม่ได้แต่งหน้า ทาปากมากนัก แต่ด้วยท่าทางที่คนภายนอก พอจะมองออก ก็ทำให้เขาต้องเจอกับคำดูถูก เหยียดหยามเรื่องเพศ มาโดยตลอด

สมรส อยู่กับความไม่เป็นตัวของตัวเองมาตลอด 13 ปีเต็ม จนวันหนึ่ง เขาตัดสินใจที่จะกล้าออกมาจากความกลัวที่จะเปิดเผยตัวตน และเริ่มชกมวย ด้วยการแต่งหน้า ตั้งแต่อายุ 14 เป็นต้นมา แม้ในใจลึกๆ เธอไม่มีทางรู้ได้เลยว่า ผู้คนในวงการหมัดมวย จะยอมรับในสิ่งที่เธอเป็นได้มากน้อยแค่ไหน?

“ปกติหนูไม่เคยแต่งหน้าออกนอกบ้านเลย เพราะไม่อยากให้คนมองหนูแบบนั้น ถ้าอยู่บ้าน หนูก็จะชอบมาหัดแต่งหน้า ทาปาก เขียนคิ้วอยู่หน้ากระจกคนเดียว ไม่ก็หยิบเอาผ้าขนหนูมาม้วนๆพันหัว สมมุติเอาว่าตัวเองเป็นผู้หญิง แต่เวลาไปโรงเรียน หรือออกไปไหนมาไหนจะพยายามทำตัวเป็นเด็กผู้ชาย”

“จนขึ้น ม.2 ตอนอายุ 14 หนูตัดสินใจแต่งหน้าไปเรียน ไปชกมวย เพราะว่าก่อนหน้านั้น หนูประสบอุบัติเหตุรถล้ม ทำให้ไหล่ แขน ขา หนูหัก รวมถึงใบหน้าที่เละไปเลย หนูก็เริ่มจากหาครีมมาลบริ้วรอยบนหน้า จากนั้นก็เริ่มแต่งหน้ามากขึ้น”

“ครั้งแรกที่หนูแต่งหน้าขึ้นไปชก เป็นรายการมวยที่พิมาย คนดูส่วนใหญ่เขาก็จะคุ้นหน้าหนูอยู่แล้ว เพราะหนูเคยชกที่นี่อยู่หลายหน เขาก็ตกใจเหมือนกัน ไม่คิดว่าเราจะแต่งหน้ามาชกมวย ส่วนหนูเหรอ? จากเดิมที่อายคนดูอยู่แล้ว ยิ่งอายเข้าไปใหญ่”

“แรกๆที่แต่งหน้า ก็กลัวตัวเองจะเสียโฉมเหมือนกันนะคะ แต่ด้วยความที่หนูชกมวยมา ไม่เคยมีแผลแตก ก็เริ่มชิน ไม่ค่อยกลัว เอาจริงๆ เวลาอยู่บนเวที หนูลืมเรื่องห่วงสวยไปเลย เดินหน้าชกอย่างเดียวค่ะ มีแต่ความรู้สึกอยากเอาชนะ”

สมรส ผลเจริญ พัฒนาชั้นเชิงในการชกมาเรื่อยๆ จนได้มาชกมวยออกทีวี ในศึกอัศวินดำ รุ่น 104-105 ปอนด์ ทางช่อง 9 โดยมีค่าตัวเพิ่มขึ้นมาเป็น 10,000 บาทต่อไฟต์ ตอนอายุ 15

จากนั้นเธอย้ายมาอยู่ค่ายบ้านเจริญสุข ตอนอายุ 17 พร้อมกับเปลี่ยนชื่อเป็น “น้องโรส บ้านเจริญสุข” ตามสรีระรูปลักษณ์ภายนอกของเธอที่เปลี่ยนแปลงไป จนต้องมาสวม สปอร์ตบรา แทนที่จะถอดเสื้อชก เหมือนนักมวยชายคนอื่นๆ

หลังเรียนจบชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย ที่โรงเรียนพิมายวิทยา เธอตัดสินใจหันมาเดินหน้าสู่ถนน การเป็น นักมวยไทยอาชีพอย่างเต็มตัว พร้อมกับเป้าหมายใหม่ ในการหวนกลับไปชกที่ เวทีมวยราชดำเนิน อีกครั้ง สถานที่ที่ครั้งหนึ่งเธอเคยมีประสบการณ์ไม่ดีเมื่อหลายปีก่อน

ราชดำเนิน

“พอเริ่มโตขึ้นหนูมีความตั้งใจที่อยากจะกลับไปชกที่ ราชดำเนิน อีกครั้ง เพราะว่านี่เป็นเวทีมาตรฐานของประเทศ ที่นักมวยส่วนใหญ่ไม่มีโอกาสไปได้ชกที่นั่น ถ้านักมวยคนนั้นไม่มีผู้ใหญ่ที่รู้จักกับโปรโมเตอร์ ก็คงยากที่จะได้ไปต่อยที่ราชดำเนิน”

ราชดำเนิน กลายเป็นสังเวียนที่นักมวยนะยะอย่างเธอ วาดฝันที่จะได้กลับไปอีกครั้ง เธอฟิตซ้อมอย่างหนัก ตั้งใจทำในทุกๆโปรแกรมที่เทรนเนอร์บอก แม้จะเป็นนักชกที่เสียเปรียบเรื่องช่วงชก เพราะมีส่วนสูงแค่ 160 ซม. แต่เธอก็ชดเชยด้วยสไตล์การชกที่ดุดัน เดินเข้าหานักมวยผู้ชายอย่างไม่หวั่นเกรง

นั่นทำให้เธอเริ่มขยับมาต่อยรายการใหญ่ๆระดับประเทศบ่อยขึ้น เริ่มจากศึก “ยอดมวยไทยรัฐ” และจากนั้นน้องโรส บ้านเจริญสุข ก็ได้กลับมายังเวทีมวยราชดำเนิน อีกครั้ง ในฐานะรองคู่เอก ที่มีคิวพบกับ นักมวยกำปั้นหนัก “เสือใหญ่ ช.ห้าพยัคฆ์” ในศึกวันทรงชัย เมื่อปี 2017 ที่ผ่านมา

“ครั้งที่สองที่หนูกลับไป ต้องรออยู่ประมาณ 5-6 เดือนในการทำเรื่องขอจากนายสนามมวยฯ ระหว่างนั้นหนูตั้งใจฝึกซ้อมมากกว่าเดิม และทำทุกอย่างตามโปรแกรมที่เทรนเนอร์บอก จากที่เคยเตะเป้า 2-3 ยก ช่วงใกล้วันแข่ง หนูก็เพิ่มมาเตะเป้า 5 ยก หนูรู้ตัวเองว่าเป็นมวยตัวเตี้ย ก็ต้องเดินเข้าหาให้ระยะประชิด ไม่งั้นคู่ต่อสู้ เขาจะสามารถเลือกออกอาวุธได้”

“บรรยากาศในสนามวันนั้น เสียงมันก้องไปหมด คนมาดูเยอะมาก ตัวหนูก็ยังรู้สึกตื่นเต้นเหมือนเดิม คนดูเขาไม่โห่ไล่เรา แต่เขากลับชอบใจที่เห็นเราแต่งตัวแบบนี้ (สวมสปอร์ตบราสีชมพู แต่งหน้าทาปาก)”

“วันนั้นหนูเจอ เสือใหญ่ ในพิกัด 113 ปอนด์ หนูก็ตั้งใจอยากเอาชนะให้ได้ เพื่อให้คนข้างล่างที่เชียร์เรา เขาจะได้ไม่ต้องเสียเงิน (ยิ้ม) แล้วหนูก็ชนะเขาได้ เหมือนเป็นไฟต์แจ้งเกิดของหนู”

น้องโรส เดินหน้าสับศอกเป็นชุด สลับการชกกับการเตะ ต่อย ที่ดุดัน ต่อเนื่อง เล่นเอานักมวยชื่อดังอย่าง เสือใหญ่ ช.ห้าพยัคฆ์ ร่วงลงไปกองกับเวทีให้กรรมการนับ ก่อนที่สุดท้าย เธอจะคว้าชัยบนสังเวียนมวยราชดำเนินได้สำเร็จ ในเกมที่มีเงินเดิมพันสูงถึง 950,000 บาท

หลังจากนั้นเธอก็ได้ชกที่ราชดำเนินอยู่ต่อเนื่องในรอบ หนึ่งปีที่ผ่านมา และสามารถเอาชนะนักมวยดังอีกรายอย่าง เปรี้ยวปาก สจ.วิชิตแปดริ้ว ไปได้ ทำให้ชื่อเสียงของเธอ ยิ่งเป็นที่รู้จักสำหรับคอมวยทั่วประเทศไปในระยะอันสั้น ด้วยจุดขายที่ไม่เหมือนใคร รวมถึงเคยก้าวไปถึงตำแหน่งแชมป์มวยรายการ เอส-วัน ไทยแลนด์ รุ่น 115 ปอนด์

เมื่อเธอไม่ใช่นักชกภูธรอีกต่อไป และมีคนรู้จักเธอมากขึ้น แน่นอนว่า เธอได้รับข้อความ และกำลังใจผู้คนจากผู้คนมากมากยที่อาจไม่เคยรู้จักและเห็นกันมาก่อน ผ่านโซเชียลมีเดียส่วนตัว แต่ในทางตรงข้าม ข้อความร้ายๆ คำพูดที่เหยียดหยาม ดูถูกเธอ ก็เพิ่มขึ้น ผ่านตามาให้เธอเห็นอยู่บ่อยครั้ง

ในยุคที่ใครๆ ก็สามารถใช้การเคาะนิ้วบนแป้นคีย์บอร์ดทำร้ายความรู้สึกใครก็ได้ ตามใจชอบ…

“ในวงการมวยที่หนูอยู่มา หนูโดนดูถูกต่อหน้าไม่กี่ครั้ง ส่วนใหญ่เซียนมวย คู่ชก เขาจะให้เกียรติเรา เต็มที่ก็แค่พูดจาแซวเหมือนเราเป็นผู้หญิงคนหนึ่งมากกว่า แต่ที่หนูโดนดูถูกมากสุด น่าจะตอนเล่นที่เล่นเฟซบุค ที่จะมีคนชอบคอมเมนต์ว่า เป็นกะเทยทำไมไม่ไปหาทำอาชีพอื่น มาต่อยมวยให้อายคนทำไม”

“บางครั้งหนูเห็น หนูก็อยากจะพิมพ์ไปด่าเหมือนกันนะค่ะ แต่หนูไม่กล้า (ยิ้ม) พยายามจะไม่เข้าไปอ่าน แต่เพื่อนที่รู้จักก็จะชอป แคป หน้าจอส่งมา”

“ส่วนตัวหนูไม่คิดว่าคำพูดพวกนี้มีผลต่อตัวหนูนะ หนูพยายามไม่เก็บมาคิด ไม่ไปใส่ใจกับมัน เลยไม่เครียด มีหลายครั้งที่หนูเจอคนดูถูก ทั้งต่อหน้าและลับหลัง แต่หนูก็ไมเคยร้องไห้ หรือน้อยใจ หนูเป็นแบบนี้มาตั้งแต่เด็กแล้ว คนเราคิดไม่เหมือนกัน หนูไปห้ามคนอื่นไม่ให้พูดแบบนี้ไม่ได้หรอกค่ะ”

“หนูคิดอย่างเดียวแค่ว่า ถ้าได้ขึ้นชกบนเวที ต้องเอาชนะอย่างเดียว จะได้ไม่มีใครมาว่าอะไรเราได้” น้องโรส อธิบายถึงวิธีการรับมือคอมเมนท์ด้านลบที่มีต่อตัวเธอ

ปารีส

“ฝรั่งเศส” ถือเป็นประเทศในฝันของใครๆหลายคน ที่อยากไปสัมผัสความสวยงาม ความศิวิไลซ์ของเมืองน้ำหอม

ท่ามกลางความสวยงามในสายตาชาวโลก กลับเต็มไปด้วยความซับซ้อนของสังคมที่มีผู้คนหลากหลายสัญชาติใช้ชีวิตกันอยู่ที่นี่ โดยเฉพาะการยอมรับ คนข้ามเพศ (Transgender) ที่มีเพศภาวะไม่ตรงกับเพศสภาพนั้น เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ยากมากในฝรั่งเศส เพราะคนส่วนใหญ่ยังมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อ เพศที่สาม

ภาพของผู้ชายคนหนึ่ง ที่จะลุกมาขึ้นแต่งกายเป็นสตรี ที่คนไทยเรียกว่า “กะเทย” นั้น เป็นภาพที่พบเห็นได้ยากมากในสังคมฝรั่งเศส ต่างจากที่เมืองไทย ดังนั้นผู้คนส่วนหนึ่งที่มีเพศภาวะเช่นนี้ จึงเลือกที่จะแต่งกายเป็นชาย เพื่อให้ตัวเองสามารถใช้ชีวิตในสังคมได้ง่ายกว่าการแต่งหญิงเป็น กะเทย

“ฉันมีความสุขที่ได้เห็นน้องโรสได้มาแข่งขันที่ฝรั่งเศส น้องโรสมีความกล้าทำในสิ่งที่แม้แต่คนฝรั่งเศสเองยังไม่กล้าพอ การที่สื่อให้ความสนใจและให้การตอบรับน้องโรสเป็นอย่างดี ยิ่งทำให้ฉันรู้สึกดีใจว่าเรื่องราวของน้องโรสจะไปปรากฏต่อสายตาคนจำนวนมาก ดังนั้นคงปฏิเสธไม่ได้ว่ากลุ่มคนข้ามเพศก็มีที่ยืนในสังคม” คริสตีน รูจมงต์ นักข่าว และนักกิจกรรมเพื่อสิทธิคนข้ามเพศ ให้สัมภาษณ์กับ BBC ถึงการปรากฏตัวของนักมวยไทยข้ามเพศบนแผ่นดินฝรั่งเศส

ในอดีต รูจมงต์ เคยฝึกหัดชกมวยไทยอย่างจริงจัง แต่ถูกตัดโอกาสไม่ให้ลงแข่งขันอย่างเป็นทางการ เนื่องจากเธอเป็นหญิงข้ามเพศ ที่ไม่สามารถชกกับนักมวยชายและหญิงได้ ดังนั้นแทบไม่ต้องอธิบายเลยว่า เมื่อเธอทราบข่าวว่า “น้องโรส” สมรส ผลเจริญ จะเดินทางชกมวยที่นี่ เธอจะมีความรู้สึกตื่นเต้นมากแค่ไหน

“หนูฝันมาตั้งแต่เด็กแล้วว่า อยากไปชกมวยที่ต่างประเทศสักครั้งในชีวิต หนูไปทำพาสปอร์ตมานานมาก แต่ยังไม่เคยมีโอกาสไปต่างประเทศสักที จนวันหนึ่ง คุณโอ๋ (ปริยากร รัตนสุบรรณ) ติดต่อให้หนูเป็นตัวแทนนักมวยไทย ให้ไปชกที่ประเทศฝรั่งเศส” น้องโรส กล่าวเริ่ม

“หนูเดินทางไปที่นั่นในช่วงฤดูหนาวพอดี พอไปถึงหนูตื่นเต้นขาสั่นไปหมด บรรยากาศทุกอย่างไม่เหมือนบ้านเรา หนูไปอยู่ประมาณ 5 วัน วันแรกที่ไประหว่างนั่งรถ ก็เจอโจรมาเคาะกระจกจะชิงทรัพย์ด้วย แต่ว่าคนขับเขาเหมือนรู้จะโดนปล้นเลยไม่เปิดกระจก คันอื่นเขาเปิดกระจกก็โดนโจรปล้นต่อหน้าหนูเลยค่ะ ตกใจมาก ต้องระวังตัวตลอดทริปเลย กลัวโดนปล้น”

“น้องโรส” ได้รับความสนใจอย่างมากจาก สื่อมวลชนระดับโลก หลากหลายเจ้า ไม่ว่าจะเป็น BBC, Reuters, ABC News, Xinhua, AFP รวมถึงสื่อท้องถิ่น เดินทางมาทำข่าว และต่อคิวสัมภาษณ์เธอ ทั้งก่อนการขึ้นชก และหลังการชก ในฐานะนักมวยไทยข้ามเพศคนแรกที่ได้ชกในประเทศฝรั่งเศส

ขณะเดียวที่ ไฟต์การชกระหว่าง กำปั้นสตรีข้ามเพศชาวไทย กับ อาครัม ฮามิดี แชมป์มวยไทยชาวฝรั่งเศส วัย 19 ปี สามารถจุดติดกระแสให้แฟนหมัดมวยเจ้าถิ่น หลั่งไหลมาชมไฟต์ประวัติศาสตร์นี้ โดยเฉพาะกับกลุ่มคนข้ามเพศ ที่พยายามเรียกร้องสิทธิและความเท่าเทียมกันในฝรั่งเศส

“ไฟต์นั้นคนเข้ามาดูเยอะกว่าต่อยที่ ราชดำเนิน อีก แถมหนูยังได้เป็นมวยคู่เอกด้วย ไฟต์นั้นหนูแพ้เขาเพราะกติกาบ้านเรากับเขาไม่เหมือนกัน ที่ฝรั่งเศสการเตะไม่ถูกนับเป็นคะแนน ต้องต่อยอย่างเดียว แต่หนูไม่รู้กติกา กรรมการก็เลยชูสวนให้เขาเป็นคนชนะ คนดูในสนามเขาเลยพากันโห่ ไม่ยอมรับผลการตัดสินของกรรมการ”

“เสียงโห่พวกนั้นมีความหมายต่อตัวหนู เพราะมันหมายถึงการที่หนูสามารถทำให้คนต่างชาติ ยอมรับในคนไทย และยอมรับในสิ่งที่หนูเป็นได้ ตลอดทริปนี้หนูได้รับการต้อนรับที่อบอุ่น จากผู้คนรอบๆสนามมวย ไปไหนมาไหน ฝรั่งก็จะยกมือไหว้สวัสดีหนู บางคนก็จอดรถบีบแตรตะโกนเรียกชื่อ “Nong Rose, Nong Rose” บางคนก็มาขอถ่ายรูปกับหนู เหมือนหนูเป็นดาราที่บ้านเขาเลย”

“สื่อต่างประเทศ เขาก็ให้ความสนใจในตัวหนูมากพอสมควร มีหลายๆสำนักมาขอสัมภาษณ์ ซึ่งก็มีล่ามคอยแปลให้หนูอีกที ส่วนใหญ่เขาจะถามเรื่องเกี่ยวกับชีวิตของหนู ว่ามาชกมวยได้อย่างไร เหมือนเขาพยายามจะเชิดชูว่า หนูเป็นตัวแทนของผู้หญิงข้ามเพศ ที่กล้ามาออกทำอะไรแบบนี้”

กลีบกุหลาบ อาจไม่เคยปูทางให้ ผู้กล้าเช่นเธอ เดินข้ามผ่านไปได้…แต่จิตใจที่เข้มแข็งไม่แพ้ชายใดต่างหากที่ทำให้ “น้องโรส” สมรส ผลเจริญ ยังคงมุ่งมั่นจะเดินต่อไปในฐานะ นักสู้ข้ามเพศ ที่พร้อมประจันหน้ากับทุกๆอุปสรรคที่ผ่านมา ในกีฬาต่อสู้แบบลูกผู้ชาย ที่ชื่อว่า “มวยไทย”

“หนูไม่ได้สนใจว่าคนเขาจะยอมรับไหมว่าที่เราเป็น กะเทย หนูคิดแค่ว่าก่อนที่ตัวเองจะออกไปแสดงความสามารถ หนูต้องเริ่มจากการเตรียมตัวเองให้พร้อมเสียก่อน ถ้าเราไม่พร้อมแล้วไปชกแพ้ขึ้นมา เราก็อายเขาเปล่าๆ”

“คำดูถูกไม่มีผลกับหนู เพราะคนเรามีความสามารถแตกต่างกันออกไป ไม่ว่าผู้ชาย ผู้หญิง หรือสาวประเภทสอง หนูมีความสามารถด้านกีฬามวยไทย หนูแค่อยากทำมันออกมาให้ดีที่สุด ให้มันสามารถเลี้ยงดูตัวเองและครอบครัวหนูได้”

“ก็คงเหมือนกับทุกๆอาชีพแหละ ที่ไม่วัดคุณค่ากันที่เพศ แต่วัดว่าใครทำงานได้ดีกว่ากัน หนูเป็นนักมวยไทย หนูก็แค่อยากทำงานตรงนี้ให้ดีที่สุด แค่นั้นเอง” นายสมรส ผลเจริญ วัย 22 ปี กล่าวทิ้งท้าย

ขอบคุณ ข่าวจาก https://www.mainstand.co.th/catalog/2-Converse/264-“น้องโรส”+นักมวยข้ามเพศกับเรื่องราวการต่อสู้บนสังเวียนลูกผู้ชาย

Leave a Comment

Contact

Connect

Subscribe

Join our email list to receive the latest updates.

Add your form here