ทำไมเกย์บางคนมีเซ็กส์แบบไม่ป้องกันโดยไม่กลัวติด HIV

//

lgbt Thai Team

“ตอนที่ผมมีเซ็กส์ปาร์ตี้ครั้งแรก ผมใช้ถุงยาง” เซลิม ชายรักชายวัย 30 กว่าในลอนดอนเล่า

เขาย้ายจากตุรกีมาอยู่สหราชอาณาจักรเมื่อ 10 ปีก่อน และยอมคุยกับบีบีซีโดยใช้นามสมมุติ

“ผมเจอผู้ชายจากแอปหาคู่ วันหนึ่ง มีคนหนึ่งที่ผมคุยด้วยพาผมไปปาร์ตี้ ที่มีผู้ชายอีก 10 คนอยู่ด้วย เสพยาและมีเซ็กส์กัน ผมชอบนะ”

  • ชีวิตในหอผู้ป่วยเอดส์แห่งแรกในลอนดอน
  • วาระแก้ปัญหาเอดส์ “ไม่ทิ้งใครไว้เบื้องหลัง”
  • ตะลึงภูมิต้าน HIV ในวัว เพิ่มความหวังพัฒนาวัคซีนในคน

ก่อนหน้านั้น เซลิมป้องกันตัวเองมาโดยตลอด แต่พอครั้งต่อมาที่เขาถูกชวนไปงานปาร์ตี้อีก จากฤทธิ์ยาไอซ์ (สารกระตุ้นที่ทำให้เสพติดได้อย่างรุนแรง) เขาก็นอนกับผู้ชายอีก 3 คนในคืนเดียวโดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย

มาตรการฉุกเฉิน

“ไม่มีใครใช้ถุงยาง ผมก็เลยตามเขา แต่ตอนนั้นผมแอบคิดว่า เดี๋ยวกินยาเป็ปก็ได้”


เป็ป (Pep) หรือยาป้องกันหลังการสัมผัสเชื้อ (Post-exposure prophylaxis) หรือที่รู้จักกันในอีกชื่อหนึ่งว่า ยาต้านฉุกเฉิน เป็นมาตรการฉุกเฉินเพื่อป้องกันการติดเชื้อเอชไอวี ถ้ามีความเสี่ยงสูงว่าไวรัสเอชไอวีได้เข้าสู่ร่างกายแล้ว       เกย์หาคู่

เซลิม ไปที่คลินิกชายรักชายในวันต่อมา และเล่าให้เจ้าหน้าที่ฟังว่า เขามีเพศสัมพันธ์ทางทวารหนักกับผู้ชายที่เขาไม่รู้ว่าติดเชื้อเอชไอวีหรือไม่

คลินิกได้ให้ยาเป็ปแก่เขา ซึ่งเขาต้องกินทุกวัน ๆ ละ 2 เม็ด เป็นเวลา 28 วัน เจ้าหน้าที่การแพทย์เน้นย้ำว่า เป็ป ไม่ได้ผล 100% เสมอไป และควรจะใช้เมื่อจำเป็นจริง ๆ เท่านั้น

ถุงยางแตก

หากเกิดเหตุถุงยางอนามัยแตกขณะมีเพศสัมพันธ์ จะต้องรับยาให้เร็วที่สุด และไม่ควรช้ากว่า 72 ชั่วโมงหลังจากเกิดพฤติกรรมเสี่ยง ในสหราชอาณาจักร ผู้ที่ต้องการรับยาเป็ปสามารถขอรับได้โดยไม่มีค่าใช้จ่ายใด ๆ

เซลิม เล่าว่าตอนกินยาเป็ปในช่วง 2-3 วันแรกเขามีอาการคลื่นไส้เล็กน้อย แต่ไม่มีผลข้างเคียงรุนแรงอื่น ๆ ต่อมาเขาไปตรวจหาเชื้อเอชไอวีและพบว่าไม่ติดเชื้อ

ไม่มีใครยืนยันได้ว่า เป็ปจะช่วยยับยั้งการติดเชื้อในร่างกายมนุษย์ได้อย่างแน่นอน แต่เซลิมบอกว่า เขารู้สึกอุ่นใจที่รู้ว่ามีมาตรการฉุกเฉินนี้

“ผมไม่รู้ว่าจะมีเกย์คนไหนในตุรกี ประเทศบ้านเกิดผม เคยใช้ยาเป็ปบ้าง” เขากล่าว “ลองนึกดู ถ้าถุงยางเกิดแตกขึ้นมา ไม่ว่าจะผู้หญิงหรือผู้ชาย คุณจะทำอย่างไร?”

ในช่วงหลายปีนี้ มีความก้าวหน้าในการรักษาการติดเชื้อเอชไอวีอย่างมาก แต่การเข้าถึงยาและข้อมูลข่าวสารแตกต่างกันอย่างมากทั่วโลก

อัตราการติดเชื้อลดต่ำลง

ทุกวันนี้ ถ้ามีคนติดเชื้อเอชไอวี การรับยาต้านเชื้อไวรัสตลอดชีวิตภายใต้การดูแลก็ทำให้พวกเขามีสุขภาพดีและมีความสุขในชีวิตได้

แต่องค์การอนามัยโลก (WHO) ระบุว่า ขณะนี้มีผู้ใหญ่เพียง 54% และเด็ก 43% ที่ติดเชื้อเอชไอวีที่ได้รับยาต้านไวรัส

โดยภูมิภาคซับซาฮาราของแอฟริกา ซึ่งเป็นพื้นที่มีปัญหาเอชไอวี/เอดส์รุนแรงในโลก มีสถานการณ์เลวร้ายที่สุด

นอกจากนี้องค์การอนามัยโลกยังระบุว่า ผู้ติดเชื้อรายใหม่ทั่วโลกมาจากแอฟริการาว 2 ใน 3 แต่แนวโน้มโดยรวมทั่วโลกพบการติดเชื้อเอชไอวีลดลง โดยตั้งแต่ปี 2000 ถึง 2016 การติดเชื้อรายใหม่ลดลง 39% และการเสียชีวิตที่เกี่ยวข้องกับเอชไอวีลดลงราว 1 ใน 3

กลุ่มชายรักชายในลอนดอน ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูง ก็พบการติดเชื้อรายใหม่ที่ลดต่ำลงอย่างชัดเจน

จาก “เป็ป” ถึง “เพร็ป”

ที่คลินิกสุขภาพทางเพศที่ใหญ่ที่สุดในลอนดอน 5 แห่ง พบว่า ในช่วงเวลา 1 ปี มีการติดเชื้อเอชไอวีลดต่ำลง 32% ในผู้ชายที่มีเพศสัมพันธ์กับผู้ชาย ข้อมูลนี้เก็บรวบรวมระหว่างปี 2014-2015

เชื่อว่าปัจจัยที่มีส่วนอย่างหนึ่งคือ โครงการยาป้องกันชนิดใหม่ที่ชื่อว่า เพร็ป (Prep) ย่อมาจาก ยาป้องกันก่อนการสัมผัสเชื้อ (Pre-exposure prophylaxis)

อย่าสับสนกับยาเป็ป (Pep) ซึ่งเป็นยาป้องกันหลังการสัมผัสเชื้อ (Post-exposure prophylaxis)

ถ้าเปรียบ เป็ป เป็นยาคุมกำเนิดที่กินหลังจากมีเพศสัมพันธ์ ตามตรรกะนี้ เพร็ป ก็จะเปรียบเหมือนกับยาคุมกำเนิดที่ต้องกินประจำทุกวัน

ตอนนี้เซลิม กินยาตัวนี้อยู่

เขาเล่าว่า เขาได้คุยกับผู้เชี่ยวชาญด้านเอชไอวีที่คลินิกแห่งหนึ่ง หลังจากที่ต้องกินยาเป็ปอีกรอบ เขาบอกว่า มีแนวโน้มที่เห็นได้ชัดเจนว่า เขาไม่สามารถยึดแนวปฏิบัติการมีเพศสัมพันธ์อย่างปลอดภัยได้

“อิสรภาพจากความหวาดกลัว”

เขาจึงหันมากินยาเพร็ป และตรวจหาเชื้อเอชไอวีเป็นประจำ ตอนนี้ผลยังเป็นลบ นอกจากนี้ทางคลินิกยังได้ให้คำปรึกษากับเขาเกี่ยวกับปัญหาการใช้สารเสพติดด้วย

เพร็ปเป็นยาเม็ดเดียวที่ต้องกินทุกวัน หรือไม่ก็ต้องกินก่อนและหลังการมีเพศสัมพันธ์ตามกำหนดเวลาที่เคร่งครัด ทั้ง 2 วิธีได้รับการพิสูจน์แล้วว่าช่วยป้องกันการติดเชื้อเอชไอวีอย่างได้ผลในผู้ที่มีความเสี่ยงสูงและผู้ที่เพศสัมพันธ์แบบไม่ป้องกัน

โดยผู้ที่จะเริ่มรับยานี้ต้องมีผลตรวจเอชไอวีที่เป็นลบ และต้องตรวจเลือดเป็นประจำเพื่อดูการทำงานของไต

แมตต์ เคน บรรณาธิการใหญ่ของนิตยสารแอตติจูดของอังกฤษ รับยาเพร็ปมาตั้งแต่ฤดูใบไม้ผลิที่ผ่านมา และเขาสนับสนุนให้คนเข้าถึงยานี้ได้กว้างขวางมากขึ้น

“ผมเติบโตมาในยุค 80 และ 90 ซึ่งเป็นช่วงที่เกิดความหวาดกลัวเอชไอวีและเอดส์ในกลุ่มเกย์” เขากล่าวกับบีบีซี “ทำให้การมีเซ็กส์ของเกย์กลายเป็นเรื่องน่ากลัวและน่าอับอายในหมู่พวกเราหลายคน”

ยาออนไลน์

เขาคิดว่ายาเพร็ป อาจจะช่วยกำจัดความกลัวออกไปจากการมีเพศสัมพันธ์ของชายรักชายได้

“ผมเคยผิดพลาดมาแล้วในอดีต จนต้องกินยาเป็ป แต่กิจกรรมทางเพศที่ผมมีอยู่ตอนนี้ ไม่ได้ทำให้ผมกลัวเลย”


แต่ว่า แม้จะกินยาเพร็ป ก็ไม่ได้หมายความว่าความเสี่ยงลดลงจนเป็นศูนย์ ความจริงแล้ว การศึกษาระบุว่า มันใช้ได้ผล 86% ซึ่งยังไม่สูงพอสำหรับคนจำนวนมาก

“แต่อาสาสมัครบางคนในการศึกษานี้ไม่ได้กินยาเคร่งครัดอย่างถูกต้อง และบางคนก็อาจจะติดเชื้อเอชไอวีมาก่อนแล้วก็ได้” แมตต์ เคน กล่าว “ขณะนี้กำลังมีการศึกษาเพิ่มเติมเกิดขึ้น และเราควรจะรอผลการศึกษานั้นก่อน”

เขาได้รับยาทางออนไลน์จากคลินิกถูกกฎหมายในกรุงเทพฯ ซึ่งผลิตยาในรูปแบบยาสามัญที่มีราคาราว 2,275 บาทต่อปริมาณการใช้ 1 เดือน ส่วนยาที่จดสิทธิบัตรมีราคาแพงกว่านี้ราว 10 เท่า

ในสหราชอาณาจักร สกอตแลนด์ให้ยานี้ในบริการสุขภาพแห่งชาติ และมีหลายประเทศรวมถึง ฝรั่งเศส ออสเตรเลีย และแคนาดา ก็จัดให้คนขอรับยาเพร็ปได้เช่นกัน

ใครเป็นคนจ่าย?

ระหว่างการเขียนบทความชิ้นนี้ คาดว่าบราซิลจะประกาศว่าจะเริ่มให้ยาเพร็ปในกลุ่มประชากรที่มีความเสี่ยงสูงในวันเอดส์โลก ซึ่งตรงกับ 1 ธันวาคม

สหรัฐฯ ได้ตีพิมพ์ผลการทดลองทางการแพทย์เป็นเวลา 3 ปี ในวารสารการแพทย์นิวอิงแลนด์ (New England Journal of Medicine) เป็นครั้งแรกเมื่อเดือนพฤศจิกายนปี 2010 โดยได้ประกาศว่าการรักษารูปแบบใหม่ที่ชื่อว่า เพร็ป ได้เกิดขึ้นแล้ว

“เมื่อผมไปสหรัฐฯ และเปิด Grindr (แอปหาคู่ของเกย์) เกย์ส่วนใหญ่ใส่สถานะว่า ‘ผลตรวจเอชไอวีเป็นลบและกำลังรับยาเพร็ปอยู่’ (HIV negative on Prep) มันกลายเป็นการตั้งค่าเริ่มต้นของคนจำนวนมาก”

นับตั้งแต่การศึกษาในปี 2010 ยาเพร็ปได้มีการยอมรับอย่างกว้างขวางในสหรัฐฯ ซึ่งแผนประกันคุ้มครองของเอกชนครอบคลุมค่าใช้จ่ายนี้ด้วย แต่ในหลายประเทศที่ระบบสาธารณสุขได้รับการสนับสนุนจากรัฐ ผลกระทบทางการเงินของยาเพร็ปได้เป็นประเด็นที่สร้างความแตกแยกขึ้น

ผู้ไม่เห็นด้วย ตั้งคำถามว่า ทำไมประชาชนต้องแบกรับต้นทุนที่เกิดจากการตัดสินใจไม่ยอมใช้ถุงยางอนามัย

ภูมิใจที่ใช้ยาเพร็ป

แมตต์ เคน คิดว่า นี่เป็นวิธีการคิดที่เลือกปฏิบัติ

“เงินภาษีของผมบางส่วนก็ไปจ่ายให้กับคู่แต่งงานต่างเพศที่ทำเด็กหลอดแก้ว หรือการผ่าตัดลดขนาดกระเพาะ การทำแท้ง ยาเม็ดคุมกำเนิด หรือเด็กผู้หญิงที่รับวัคซีนเอชพีวี ความต้องการที่เฉพาะเจาะจงเหล่านี้ของคนรักต่างเพศได้รับการจัดหาให้ แล้วทำไม่ชายรักชายไม่ได้ล่ะ?

เขายังโต้แย้งว่า สุดท้ายแล้ว รัฐบาลทั่วโลกจะประหยัดเงินจากการให้คนใช้ยาเพร็ปอย่างกว้างขวางขึ้น การรักษาที่ต้องกินยาตลอดชีวิตของผู้ที่ติดเชื้อเอชไอวี มีราคาแพงกว่าการให้คนกินยาป้องกัน

อย่างไรก็ตาม เจ้าหน้าที่ด้านการแพทย์หลายคนแสดงความกังวลว่า โรคที่เกิดจากการติดต่อทางเพศสัมพันธ์อีกหลายอย่างอาจจะเพิ่มขึ้นในหมู่ชายรักชาย หากมีการใช้ถุงยางอนามัยลดลง

บรรณาธิการแอตติจูด แย้งว่า นี่เป็นอีกแนวความคิดหนึ่งที่ทำให้การมีเซ็กส์ของเกย์เป็นเรื่องเลวร้าย

“ผมรู้ว่ามีคนรักต่างเพศจำนวนมากที่มีเซ็กส์โดยไม่ใช้ถุงยางอนามัย” เขากล่าว “ไม่มีใครว่าพวกเขาในแบบเดียวกัน”

“พอเกย์ไม่ใช้ถุงยางอนามัย กลับตกเป็นเป้าของการถูกตัดสินทางศีลธรรม มันตลก ที่พูดว่า คุณไม่ควรรักษาหรือป้องกันเอชไอวี เพราะมันไม่ได้ช่วยป้องกันคุณจากการติดเชื้ออย่างอื่นที่รุนแรงน้อยกว่า”

สำหรับแมตต์ เคน ยาเพร็ป อาจจะเป็นปัจจัยสำคัญในการปลดปล่อยชายรักชาย และทำให้พวกเขาก้าวขึ้นไปทัดเทียมกับคนรักต่างเพศ

“นี่เป็นเรื่องดี ไม่ใช่เหรอ” เขากล่าว “ใครบ้างที่อยากจะใช้ชีวิตอยู่ในความหวาดกลัว?”

ขอบคุณ ข่าวจาก https://www.bbc.com/thai/international-42193201

Leave a Comment

Contact

Connect

Subscribe

Join our email list to receive the latest updates.

Add your form here