กล้า ก้าว ไปกับ ‘เวทีมิสเตอร์เกย์ 2019’ ที่มีดีไม่ใช่เพียงรูปลักษณ์

//

lgbt Thai Team

beefhunt

“…พิสูจน์ให้เห็นว่าการตอบคำถามอันชาญฉลาดนั้นสะท้อนตัวตนของผู้ที่จะได้ครอบครองตำแหน่งในการประกวดครั้งนี้ ว่าจะต้องเพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติของเกย์ครบครัน ไม่เฉพาะความสมบูรณ์แบบในรูปร่างหน้าตาเท่านั้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดจะต้องมีมุมมองทัศนคติในแง่บวก พร้อมที่จะกล้า ก้าว เปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีขึ้น…”

(เรียงจากซ้าย เจส-นัท-คิม)

ผ่านพ้นไปแล้ว สำหรับการประกวด Mr.Gay World Thailand 2019 ซึ่งจัดเป็นปีที่ 3 ณ โรงละครแมมโบ คาบาเรท์โชว์ พระราม 3 ภายใต้แนวคิด Dare to Shine ‘เกย์ กล้า ก้าว’ โดยมีองค์กรบางกอกเรนโบว์ และภาคีเครือข่าย เป็นเจ้าภาพหลัก เพื่อคัดเลือกเกย์ที่เพียบพร้อมที่สุดเป็นตัวแทนประเทศไทยเข้าประกวด Mr.Gay World 2019 ณ ประเทศแอฟริกาใต้          เกย์ไทย

การประกวด Mr.Gay World จัดตั้งขึ้นมา 12 ปีแล้ว เพื่อลดการตีตรากลุ่มความหลากหลายทางเพศ ดังนั้นผู้เข้าประกวดทุกคน จึงเปรียบได้กับกระบอกเสียงที่จะช่วยประกาศว่า ”มนุษย์ทุกคนมีคุณค่า และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน” ไม่ว่าจะมีเพศสภาพใดก็ตาม

โดยในปีนี้ ผู้ชนะเลิศ ได้แก่ ‘นัท’ ชโยดม สามิบัติ หนุ่มผู้ขับเคลื่อนภายใต้แคมเปญ #LoveYourGaySon รณรงค์การยอมรับ LGBT ในครอบครัว

รองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ‘เจส’ เจษฎา ปลอดแก้ว แคมเปญ Pride at Work การยอมรับและปฏิบัติเท่าเทียมในที่ทำงาน

และรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ‘คิม’ สมพงษ์ คงรุ่งเรืองสกุล แคมเปญ True colors

ต้องยอมรับว่า การประกวดในปีนี้ได้รับเสียงตอบรับที่ดี ตั้งแต่เปิดรับสมัครวันแรก จนถึงช่วงเก็บตัวทำกิจกรรม ไปกระทั่งรอบตัดสิน แสดงให้เห็นพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง แม้จะเพิ่งจัดมาเป็นปีที่ 3 เท่านั้น

ทั้งนี้ ในวันตัดสิน แบ่งการประกวดเป็น 4 รอบ คือ รอบชุดประจำชาติ รอบชุดว่ายน้ำ และรอบชุดสูท ก่อนจะคัดเหลือเพียง 10 คนสุดท้าย เพื่อเข้าสู่การตอบคำถาม หาผู้เข้าชิง 3 คน

ในรอบคำถาม 3 คนสุดท้าย ไม่ว่าจะเป็น นัท เจส หรือคิม ล้วนแสดงศักยภาพ ทักษะด้านภาษา และมุมมอง ต่อสภาพสังคม การเมือง เศรษฐกิจ ที่เกี่ยวข้องกับกลุ่มความหลากหลายทางเพศได้อย่างชาญฉลาด

โดยเฉพาะผู้ชนะเลิศอย่าง ‘นัท’ ที่ได้ถ่ายทอดคำตอบเป็นภาษาอังกฤษอย่างคล่องแคล่วและเด็ดขาด กับคำถามที่ว่า “คุณคิดว่าการจัดงาน LGBT ในเมืองไทยยังจำเป็นต้องมีอยู่หรือไม่ เพราะอะไร และหากต้องมีการจัดงานจริง ๆ อยากเห็นอะไรในงานนี้” จนได้รับเสียงปรบมือลั่นโรงละคร

อย่างไรก็ดี ที่ผู้เขียนชอบใจเป็นพิเศษ น่าจะเป็นการตอบคำถามของ ‘คิม’ ผู้ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 แม้จะไม่ใช่ผู้ชนะเลิศก็ตาม กับคำถามที่ว่า “คุณมีความคิดเห็นอย่างไร กับการที่มิสสเปนเป็นหญิงข้ามเพศเป็นตัวแทนประเทศเข้าร่วมประกวดมิสยูนิเวิร์ส 2018”

เขาตอบว่า กรณีของมิสสเปนเป็นตัวแทนประกวดมิสยูนิเวิร์ส เป็นอีกหนึ่งตัวอย่างที่โลกนี้ต้องจดจำ เพราะนั่นคือตัวอย่างของการสร้างความเท่าเทียม การให้สิทธิเสรีภาพต่าง ๆ รวมถึงการให้ความสำคัญในการเป็นมนุษย์ ความเท่าเทียม ดังนั้น คำว่าเพศ อาจไม่มีความหมายเลยก็ได้ในอนาคต ทุกคนมีความเท่าเทียม ดังนั้นทุกประเทศอาจต้องมีการปรับตัวในอนาคตยอมรับเหมือนสเปน และเชื่อว่าประเทศไทยอาจมีมิติใหม่ในอนาคต อย่างเช่นในเวทีนี้ อาจมีหญิงข้ามเพศมาสมัครก็ได้ เพราะฉะนั้นโลกอาจไม่มีคำว่าเพศ เพราะเพศเป็นสิ่งสมมติ

ที่ชื่นชอบเพราะโดนใจกับวลีที่ว่า “เพศเป็นสิ่งสมมติ” ซึ่งเป็นสิ่งถูกต้องที่สุด เพราะปัจจุบันนี้ต้องยอมรับว่า เพศชายและเพศหญิง ถือเป็นเพศกำเนิด แต่สุดท้ายแล้ว เมื่อเติบโตขึ้นมา ทุกคนล้วนมีรสนิยมทางเพศเป็นของตนเอง ไม่มีผิด ไม่มีถูก ดังนั้น การยอมรับในตัวตนจึงเป็นสิ่งสำคัญ

จึงพิสูจน์ให้เห็นว่าการตอบคำถามอันชาญฉลาดนั้นสะท้อนตัวตนของผู้ที่จะได้ครอบครองตำแหน่งในการประกวดครั้งนี้ ว่าจะต้องเพียบพร้อมไปด้วยคุณสมบัติของเกย์ครบครัน ไม่เฉพาะความสมบูรณ์แบบในรูปร่างหน้าตาเท่านั้น แต่เหนือสิ่งอื่นใดจะต้องมีมุมมองทัศนคติในแง่บวก พร้อมที่จะกล้า ก้าว เปลี่ยนแปลงสังคมในทางที่ดีขึ้น

สอดรับกับความเห็นของ รศ.ดร.เสรี วงษ์มณฑา นักวิชาการอิสระ ระบุยืนยันว่า การประกวด Mr.Gay World 2019 เป็นเวทีค้นหาผู้ชนะที่มิใช่จะมานำเสนอเรือนร่างของตนเองเท่านั้น

“สิ่งหนึ่งที่เป็นมายาวนานในประเทศไทย คือ เมื่อไหร่ที่มีเวทีประกวดผู้ชาย จะมีเรื่องนัยยะทางเพศมากจนกระทั่งบางครั้งคนเข้ามารับชม ต้องเดินออกไปจากเวทีประกวด เพราะมีความรู้สึกว่า การประกวดให้น้ำหนักทางด้านดังกล่าวรุนแรงเกินไป แต่เวทีนี้ไม่มีภาพเหล่านั้นเลย”

รศ.ดร.เสรี ยกตัวอย่างในรอบชุดว่ายน้ำ จะเห็นว่าผู้เข้าประกวดไม่ได้พยายามจะนำเสนอภาพในลักษณะเชิญชวนทางเพศ แต่เลือกที่จะนำเสนอในลักษณะความภาคภูมิใจในเรือนร่างของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นอ้วน ผอม มีพุง ไม่มีพุง มีกล้าม ไม่มีกล้าม ฉะนั้น ฉะนั้นเวทีนี้จึงไม่ใช่การมาโชว์ความหล่อแล้วจะชนะ

ด้าน ดร.นฤพนธ์ ด้วงวิเศษ ที่ปรึกษาองค์กรบางกอกเรนโบว์ กล่าวเพิ่มเติมว่า สังคมไทยยังรู้สึกไม่ค่อยมั่นใจว่าจะยอมรับหรือให้สิทธิมนุษยชนกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศหรือไม่ ซึ่งใน 1 ทศวรรษ ที่ผ่านมา เราเห็นการรับรู้คนหลากหลายทางเพศในพื้นที่สื่อมากขึ้น แต่เป็นการรับรู้ผ่านความบันเทิง ความสนุกสนาน ขณะที่ในแง่ของคนที่ทำงานด้านสิทธิมนุษยชน มองเวทีนี้อาจเป็นสัญลักษณ์ในการทำให้สังคมไทยเข้าใจว่า คนหลากหลายทางเพศไม่ใช่ชี้ถึงเรื่องความสนุกสนานเท่านั้น แต่ยังเป็นความคิดดี ๆ ที่จะช่วยสังคมได้ด้วย

…การจัดประกอบรอบนี้จึงแก้คำครหาของปีที่ผ่านมาได้ว่า เวทีนี้ไม่ใช่กะโหลกกะลาที่จะจัดกันเล่น ๆ อย่างที่หลายคนเคยคิดอีกต่อไป เพราะผู้เข้าประกวดทุกคน ไม่ว่าจะได้รับตำแหน่งหรือไม่ ล้วนแล้วแต่เป็นกระบอกเสียงที่สำคัญของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นเพศสภาพใด ให้ได้รับสิทธิเท่าเทียมกัน

ที่กล่าวมาทั้งหมดนี้ ไม่ได้อวย แต่ทุกอย่างเป็นไปตามเนื้อผ้า ขอชมเชย .

ขอบคุณ  ข่าวจาก  https://www.isranews.org/isranews-article/71476-gay-71476.html

Leave a Comment

Contact

Connect

Subscribe

Join our email list to receive the latest updates.

Add your form here